"...ล่าสุด มีการตรวจสอบพบข้อมูลในสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับกรณีของ นายอเล็กซานเดร คาเซส (Mr.Alexandre CAZES) ชายสัญชาติแคนาดาวัย 25 ปี และยังเป็นอดีตประธานบริษัท EBX Technologies ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอการให้บริการทางธุรกิจ และการใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระทำความผิด ถือครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวในไทย และผูกคอตัวเองเสียชีวิตในห้องควบคุมผู้ต้องขัง บช.ปส. เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ในฐานข้อมูล “แพนโดรา เปเปอร์ส” ของเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ที่เปิดความลับทางการเงินของผู้นำระดับโลกทั้งอดีตและปัจจุบันกว่า 35 ราย นักการเมืองมากกว่า 330 ราย เจ้าหน้าที่ของรัฐใน 91 ประเทศ มหาเศรษฐีกว่า 130 ราย รวมไปถึงนักต้มตุ๋นและอาชญากรหลายราย อันมีที่มาจากฐานข้อมูลบริษัทเอเย่นต์รับจดทะเบียนและดูแลบริษัทนอกอาณาเขต 14 แห่งทั่วโลก ซึ่งรับจดทะเบียนตั้งบริษัทให้กับลูกค้าที่ต้องการเก็บข้อมูลทางการเงินของตนไว้ให้อยู่ในที่ลับ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีส่วนร่วมตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในส่วนของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้
ล่าสุด มีการตรวจสอบพบข้อมูลในสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับกรณีของ นายอเล็กซานเดร คาเซส (Mr.Alexandre CAZES) ชายสัญชาติแคนาดาวัย 25 ปี และยังเป็นอดีตประธานบริษัท EBX Technologies ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอการให้บริการทางธุรกิจ และการใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระทำความผิด ถือครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวในไทย และผูกคอตัวเองเสียชีวิตในห้องควบคุมผู้ต้องขังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ( บช.ปส.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำนักข่าวซีบีซีนิวส์ของประเทศแคนาดา ได้มีการรายงานข่าวร่วมกับเครือข่าย ICIJ ณ กรุงวอชิงตันดีซี ของสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจสอบเอกสารแพนโดรา ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลเอกสารจำนวน 12 ล้านชุด ที่รั่วไหลออกมาจาก 14 บริษัท พบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของ นายอเล็กซานเดร คาเซส (Mr.Alexandre CAZES) ชายสัญชาติแคนาดาวัย 25 ปี และยังเป็นอดีตประธานบริษัท EBX Technologies ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอการให้บริการทางธุรกิจ
โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย หรือ DEA และสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ ได้มีการประสานงานร่วมกับตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือ ปส. ประเทศไทย ติดตามจับกุม นายคาเซส ผู้บริหารจัดการเว็บไซด์ อัลฟ่า เบย์ ( Alpha Bay) ในฐานะผู้ที่ดูแลเว็บไซต์ดังกล่าว ใช้ชื่อว่า Alpha02 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกใช้บริการเพื่อสั่งซื้อยาเสพติด,ข้อมูลบัตรเครดิต, อาวุธสงคราม และสิ่งผิดกฎหมาย ใช้เงินดิจิทัล หรือ“บิทคอย” ในการจัดซื้อ มีการเชื่อมโยงกับหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สเปน, เนเธอร์แลนด์, ฮ่องกง, ไซปรัส, ลิทัวเนีย ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระทำความผิด ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ BAYONET (เบโอเน็ต) ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 6 ประเทศ ทั่วโลก ประกอบด้วยสหรัฐฯ,แคนาดา, สเปน ,เนเธอร์แลนด์,ลิทัวเนีย และไทย จนจับกุมนายคาเซสพร้อมอายัดทรัพย์จำนวนหลายรายการ อาทิ ซุปเปอร์คาร์ ลัมบอร์กินี รุ่นอเวนทาดอร์ ทะเบียน 4 กพ 2319 กทม. จักรยานยนต์ยี่ห้อ BMW บ้านพักทั้งใน กทม. และภูเก็ต รวมทรัพย์สินกว่า 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน นายคาเซส ได้ผูกคอตัวเองเสียชีวิตในห้องควบคุมผู้ต้องขังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงการจับกุม มีการตรวจสอบทรัพย์สินของนายคาเซส พบว่า ตัวเขามีทรัพย์สินอยู่หลายรายการทั้งในประเทศไทยและที่ประเทศไซปรัส มีรถซุปเปอร์คาร์จำนวนมากและมีเงินนับล้านดอลลาร์ในรูปแบบของคริปโตเคอร์เรนซี่
ขณะที่ นายเจฟ เซสชั่นส์ อดีตอัยการของสหรัฐฯ ได้มีการแถลงข่าวระบุตอนหนึ่งว่า การจับกุมนายคาเซสถือว่าเป็นการสอบสวนครั้งสำคัญที่สุดในปี โดยมีการประมาณการณ์กันว่าเว็บไซต์อัลฟ่า เบย์ นั้นมีมูลค่าขายต่อวันอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์แคนาดา (26,946,843.57 บาท) และตัวนายคาเซสเองก็เก็บรายได้จากเงินจำนวนนี้คิดเป็น 2-4 เปอร์เซ็นต์ในทุก ๆ การโอนเงินผ่านเว็บไซต์ จนทำให้นายคาเซส ซึ่งมีพื้นเพดั้งเดิมจากเมืองทรอยส์ริเวียร์ รัฐควิเบก ประเทศแคนาดานั้นมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 29 ล้านดอลลาร์แคนาดา (782,123,310 บาท)
แต่สิ่งที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กัน ก็คือ นายคาเซสนั้นใช้บริษัทนอกอาณาเขต เพื่อเปลี่ยนแปลงรายรับอันผิดกฎหมายของเขาให้กลายเป็นความมั่งคั่งทางวัตถุเพื่อที่จะใช้ซื้อสัญชาติของตนเองทั้งที่ประเทศไทยและที่ประเทศไซปรัส
ข่าวการจับกุมนายอเล็กซานเดร คาเซส (อ้างอิงวิดีโอจากผู้จัดการออนไลน์)
@การใช้บริษัทนอกอาณาเขตเพื่อเข้าถึงสัญชาติ
ข้อมูลตามเอกสารแพนโดรา หรือแพนโดราเปเปอร์สนั้นแสดงให้เห็นว่านายคาเซสสามารถเข้าถึงระบบการเงินคู่ขนานซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ร่ำรวยและมีอำนาจดำเนินการซ่อนสินทรัพย์ในพื้นที่ที่มีขอบเขตการใช้กฎหมายต่ำ และไม่มีข้อบังคับด้านภาษีมากนั้น และยังมีรายงานด้วยว่าอาจจะมีบริษัทนอกอาณาเขต ที่ถูกก่อตั้งโดยนายคาเซสจำนวน 2 แห่งที่ทางการยังตรวจสอบไม่พบ
โดยในช่วงระหว่างปี 2557-2559 นายคาเซสได้จดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตขึ้นมาอีกอย่างน้อย 6 แห่ง ซึ่งทั้ง 6 แห่งนี้นั้นมีที่ตั้งอยู่ในประเทศเบลีซและในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และบริษัทเหล่านี้ยังมีบัญชีธนาคารทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์,ประเทศเซเชลส์,ประเทศนิวซีแลนด์,มีออฟฟิศเสมือนจริงที่กรุงเจนีวา และที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริการะบุว่า นายคาเซสได้ถือสัญชาติอื่น ๆ ทั้งในประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจำนวน 6 ประเทศ และยังมีการใช้บริษัทนอกอาณาเขต ที่ว่านี้ดำเนินการซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศแอนติกาและบาร์บูดา และในประเทศไซปรัสเช่นเดียวกัน ซึ่งการซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทำให้นายคาเซสสามารถถือสัญชาติในประเทศเหล่านี้ได้
และยังมีอีกกรณีที่นายคาเซสได้ใช้บริษัทอาณาเขตที่ว่านี้ดำเนินการจัดซื้อวิลล่าขนาด 5 ห้องนอนคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.6 ล้านดอลลาร์แคนาดา (205,147,479 บาท) ใน จ.ภูเก็ต ประเทศไทย โดยผิดกฎหมาย
ซึ่งจากเอกสารสำนวนคดีของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พบว่านายคาเซสได้อธิบายว่าเขาได้ใช้บริษัทชื่อว่า Ace Guide Holdings ที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ดำเนินการปกปิดความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของเขา
วิลล่าที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งนายอเล็กซานเดร คาเซสได้ซื้อมาผ่านบริษัทนอกอาณาเขต
“ผมไม่ได้ใช้บริษัท KGYJ Management (บริษัทนอกอาณาเขตอีกแห่งของนายคาเซส) เพราะผมรับรู้มาว่าชื่อของผมนั้นอาจจะอยู่บันทึกสาธารณะในฐานะว่าเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทได้ และนับตั้งแต่ที่กฎหมายของประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทย ผมจึงต้องหาทางเลี่ยงในการปกปิดชื่อของผม” นายคาเซสกล่าวในจดหมายลงวันที่ 25 เม.ย. 2560
@อสังหาริมทรัพย์กับกุญแจสำคัญสู่การฟอกเงิน
มีรายงานด้วยว่ามีบริษัทของนายคาเซสอีกจำนวน 2 แห่งชื่อว่า Infinite Estate Limited และบริษัท Cosmos Devices Holding มีผู้บริหาร ผู้ดำเนินการและผู้อำนวยการไม่ปรากฏนามของบุคคลอันแท้จริงในบันทึกของบริษัท
ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของนายคาเซส กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯได้พยายามหาทางที่จะยึดทรัพย์สินของนายคาเซสทั้งหมด รวมไปถึงที่ถูกเก็บไว้ตามบริษัทนอกอาณาเขต และในบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามข้อมูลของบริษัท Infinite Estate Limited และบริษัท Cosmos Devices Holding นั้นไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารการยึดทรัพย์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าทางการสหรัฐฯ ได้รับรู้เกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้หรือไม่
ซึ่งนายเจมส์ โคเอน ผู้บริหารองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติของแคนาดา ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าบริษัทนอกอาณาเขตนั้นมักจะถูกใช้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อจะดำเนินกิจกรรมการฟอกเงิน ผ่านการซื้อคอนโดมูลค่าหลายล้านดอลลาร์
ในกรณีของนายคาเซสก็เช่นกัน เมื่อมีข้อมูลบัญทึกการดำเนินคดีต่อนายคาเซส ระบุว่าตัวเขานั้นได้มีการโอนเงินบางส่วนไปให้ภรรยาเพื่อซื้อบ้านในนามของเธอ ซึ่งการซื้อบ้านดังกล่าวนั้นก็เป็นความพยายามที่จะหลบเลี่ยงต่อกฎหมายเรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทย และในเวลาต่อมาก็มีการซื้อคอนโดในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 370,000 ดอลลาร์แคนาดา (9,976,258 บาท)
ในบันทึกยังได้แสดงอีกว่าก่อนหน้าที่นายคาเซสจะถูกจับกุมไม่นาน เขาได้มีการโอนเงินกว่า 3.1 ล้านดอลลาร์แคนาดา (83,578,861 บาท) เข้าไปยังบัญชีธนาคารในนครดูไบ ซึ่งมีเจ้าของบัญชีก็คือบริษัทนอกอาณาเขตที่นายคาเซสได้ก่อตั้งขึ้นมานั่นเอง
เรียบเรียงจาก:https://www.cbc.ca/news/pandora-papers-alexandre-cazes-1.6204989
ทั้งหมดคือรายงานข่าวเกี่ยวกับ นายอเล็กซานเดร คาเซส อดีตอาชญากรข้ามชาติที่ใช้บริษัทนอกอาณาเขตเพื่อสร้างช่องทางเข้ามาหลบหนีความผิดในประเทศไทย ก่อนที่จะจบชีวิตตัวเองลง ในระหว่างดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน นายคาเซส จากการผูกคอตายในห้องควบคุมผู้ต้องขัง บช.ปส. เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา
อ่านข่าวประกอบ ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’ ในส่วนของประเทศไทย
-
ส่องท่าทีโลก หลังเปิดโปง 'แพนโดราเปเปอร์ส' ปลุกกระแสสกัดกลธุรกิจมหาเศรษฐี-ไทยยังเงียบ?
-
แพนโดราเปเปอร์ส: เปิด Google Maps ลัดฟ้ากรุงลอนดอน ตามหา อพาร์ตเม้นท์ 'จิตภัสร์'
-
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล
-
พบ 6 ตระกูลร่ำรวยสูงสุดไทย ถือครอง บ.นอกอาณาเขต ใน ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’
-
แพนโดราเปเปอร์ส : ‘เฉลิม อยู่วิทยา’ มี บ.นอกอาณาเขตไม่ต่ำกว่า 4 แห่ง ทรัพย์สินมหาศาล
-
แพนโดราเปเปอร์ส : แกะรอย บ.สยาม แอร์เน็ท - เครื่องบินเจ็ทหรู ครอบครัว 'เฉลิม อยู่วิทยา'
-
แพนโดราเปเปอร์ส : 'จิตภัสร์' รับโอนหุ้น บ.เจ้าของอพาร์ตเม้นท์ลอนดอน ไม่มีในบัญชี ป.ป.ช.
-
แพนโดราเปเปอร์ส : บ.นอกอาณาเขต 100 แห่ง 7หมื่นล. 'เจ้าสัวเจริญ' ก่อนซื้อที่ดินพ่อบิ๊กตู่
-
แพนโดราเปเปอร์ส : ส่องข้ามโลก ตามหา 4 บ.นอกอาณาเขต -โครงข่ายธุรกิจ 'เฉลิม อยู่วิทยา'
-
แพนโดราเปเปอร์ส : บัญชีทรัพย์สิน 664 ล. 'จิตภัสร์' ไม่มีหุ้น บ.อพาร์ตเม้นท์ในลอนดอน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage