"..รัฐจะต้องรีบมามองว่า จะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย ATK ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนอย่างไรโดยด่วน เช่น อาจจะนำเงินพัฒนาผู้เรียนในภาคเรียนที่ 2 เฉลี่ยคนละ 200-400 บาทต่อคน มาช่วย สำหรับซื้อแนวทางนี้ รัฐก็จะไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม.."
หลังจากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มที่ลดลง ภาครัฐได้มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการกิจการและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการกำหนดให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเปิดการเรียนการสอนปกติ (On site) แบบไป-กลับ หลังจากได้นำร่องการเปิดโรงเรียนประจำในโครงการ Sandbox Safety Zone in School (SSS)
อีกทั้ง ได้มีการเร่งจัดสรรการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2564 เพื่อให้ทันกับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย. 2564
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียน สถานศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ เปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดการเรียนการสอนตามปกติ หรือ ออนไซต์ (On site) จะต้องทำตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 32)
โดยจัดทำแผนเตรียมความพร้อมนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) อนุมัติต่อไป รวมกับมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS)
สำหรับในพื้นที่ กทม. หลายโรงเรียนก็ได้เตรียมที่จะดำเนินการยื่นขออนุญาตเปิดเรียนกันอยู่ แต่ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากมีมาตรการที่เยอะมาก เช่น การจัดพื้นที่ควบคุม, ห้อง School Isolation, จุดตรวจ ATK รวมถึงการแบ่งห้องเรียนเป็น Small Bubble เพราะไม่สามารถเปิดได้ทุกห้อง
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า โรงเรียนทุกแห่งอยากเปิดเรียนตามปกติ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน เนื่องจากถ้าไม่เปิด ก็ไม่มีรายได้ แต่ปัญหาคือ มาตรการสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) มีมาตรการที่เข้มข้นมาก
เริ่มจากมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) คือ 1) Distancing เว้นระยะห่าง 2) Mask wearing สวมหน้ากากอนามัย 3) Hand washing ล้างมือบ่อยๆ 4) Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย 5) Reducing ลดการแออัด และ 6) Cleaning ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม
และอีก 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) คือ 1) Self-care ดูแลใส่ใจปฏิบัติตนตามมาตรการ 2) Spoon ใช้ช้อนส่วนตัว 3) Eating กินอาหารปรุงสุก ใหม่ ร้อน 4) Thai chana ลงทะเบียนไทยชนะ 5) Check สำรวจตรวจสอบบุคคลจากพื้นที่เสี่ยง และ 6) Quarantine กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อมีความเสี่ยง
ซึ่งทั้ง 6 มาตรการหลัก และ 6 มาตรการเสริม เป็นมาตรการที่ทุกสถานที่ต้องปฏิบัติและดำเนินการอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว รวมถึงโรงเรียน สถานศึกษาด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับมาตรการเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียน คือ การตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งในพื้นที่สีแดงและสีแดงเข้มจะต้องตรวจ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายตรวจหาโควิด-19 เนื่องจากเงื่อนไขโรงเรียนต้องมีการคัดกรองนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และในภาพรวมถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เช่น ใน 1 เทอม มีการเรียนการสอน 20 สัปดาห์ นักเรียน 1 คน ก็จะต้องตรวจ 40 ครั้งต่อเทอม
แม้ว่าขณะนี้ชุดตรวจ ATK จะมีราคาที่ถูกลงเหลือประมาณ 60-70 บาทต่อชุด และถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ราคาเหลือ 40 บาทต่อชุด ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 1,600 บาทต่อคน แต่ก็ถือว่ายังสูงอยู่
ฉะนั้น โรงเรียนเอกชนอาจจะต้องขอความอนุเคราะห์จากผู้ปกครองแบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง หรืออีกแนวทาง คือ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายแจกชุดตรวจ ATK ให้นักเรียนคนละ 20 ชุด ส่วนอีก 20 ชุด โรงเรียนจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ ผู้ปกครองก็ไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีประกาศหรือการออกนโยบายว่า ภาครัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จึงยังเป็นข้อกังวลให้กับโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
"รัฐจะต้องรีบมาบอกว่า จะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย ATK ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนอย่างไรโดยด่วน เช่น อาจจะนำเงินพัฒนาผู้เรียนในภาคเรียนที่ 2 เฉลี่ยคนละ 200-400 บาทต่อคนมาช่วย ซึ่งแนวทางนี้ก็จะทำให้รัฐไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม"
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากจะเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยจัดสรรค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับนักเรียน เพื่อที่จะสามารถมาเรียนตามปกติได้ เพราะในขณะนี้ปัญหาใหญ่ คือ กลุ่มเด็กที่จะจบการศึกษาในแต่ละระดับชั้น เช่น ป.6, ม.3, ม.6, ปวช.3 ซึ่งยังไม่มีโอกาสพบเพื่อนหรือครูเลย อีกทั้งบางเรื่อง ก็ไม่สามารถเรียนรู้ผ่านรูปแบบออนไลน์ได้
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการฉีดวัคซีนสำหรับการเปิดเรียน โดยมีเงื่อนไขกำหนดว่า โรงเรียนที่จะเปิดเรียนนั้น ครูและบุคคลากรทางการศึกษา จะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 85% ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า แม้ว่าครูและบุคลากรในโรงเรียนจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 85% หรือบางแห่งอาจจะ 100% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะไม่มีโอกาสติดเชื้อ
ฉะนั้น แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังคงจำเป็นจะต้องตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น โรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จะต้องจัดตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ส่วนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ต้องตรวจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาจจะเฉพาะทุกวันจันทร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 นอกจากค่าชุดตรวจ ATK แล้ว ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่โรงเรียนจะต้องรับผิดชอบอีก เช่น การจัดจ้างทีมตรวจ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ชุด PPE หน้ากาก N95 หน้ากากใส Face Shield เป็นต้น ที่จะเป็นค่าใช่จ่ายเพิ่มเติมในการตรวจแต่ละครั้ง และยิ่งนักเรียนเยอะ ก็จะต้องใช้คนตรวจหลายคน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มตามไปด้วย
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเปิดเรียนตามปกติได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเปิดได้ทุกระดับชั้นพร้อมกันทั้งหมด แต่ควรจะเป็นการเปิดเรียนตามระดับชั้น เรียงลำดับตามความสำคัญ ไล่ลงไปตามลำดับ เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดเรียนพร้อมกันได้ทั้งหมด เพราะยังอันตราย และยังไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายและการติดเชื้อได้ทั้งหมด
"ต้องเปิดไล่แบบขั้นบันได เอาความสำคัญของแต่ละชั้นเรียนก่อน ถามว่าเด็กสำคัญไหม สำคัญทุกคน แต่ ม.3 หรือ ม.6 ใกล้จะจบแล้ว ก็ควรต้องมาก่อน แล้วก็ไล่ไป เช่น เปิดเรียนระดับชั้นละ 2 อาทิตย์"
ขณะนี้ มีโรงเรียนประจำที่นำร่องเข้าร่วมโครงการ Sandbox Safety Zone in School เปิดแล้วกว่า 60 แห่ง ทั้งสังกัดของรัฐและเอกชน
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปิดโรงเรียน ถ้าสามารถทำตามมาตรการที่มีการประกาศไว้ ก็สามารถเปิดได้ แต่ก็ต้องภาวนาขอให้ไม่มีการติดเชื้อในโรงเรียน เพราะโรงเรียนหลายแห่งกังวลในส่วนนี้ ไม่อยากให้เป็นกลายเป็นคลัสเตอร์ในโรงเรียน ถ้าไม่มีการติดเชื้อ ก็จะทำให้โรงเรียนหลายแห่งกล้าเปิด
"แต่ทุกโรงเรียนอยากเปิดอยู่แล้ว เอกชนยิ่งแล้วใหญ่เลย ไม่มีรายได้ ไม่มีผู้ปกครองจ่ายเงินค่าเทอมแน่นอน ถ้าไม่เปิดโรงเรียน"
แต่สำหรับนักเรียนที่จะมาเรียนที่โรงเรียน ต้องยึดหลักความปลอดภัยและตามความสมัครใจ ถ้านักเรียนคนไหนไม่สมัครใจ หรือผู้ปกครองไม่อนุญาต ก็สามารถเรียนระบบออนไลน์ควบคู่ไปกับคนที่สมัครใจมาเรียนที่โรงเรียน แต่ในส่วนนี้โรงเรียนก็จะมีค่าใช้เพิ่มมากอีก
"ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เป็นการเปิดเรียนแบบ 2 ระบบแน่นอน ใครไม่สบายใจ ใครที่ผู้ปกครองไม่อนุญาต ก็ไม่ต้องมา ให้เรียนออนไลน์ไปพร้อมกับเพื่อนๆ ที่มาโรงเรียนเลย"
ทั้งหมดนี้ คือ เสียงสะท้อนของโรงเรียนเอกชน หลังจากที่ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการให้กลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติ ที่สถานศึกษาหลายแห่งยังมีความกังวล ไม่ตัดสินใจเปิด และเปิดการเรียนแบบออนไลน์ต่อ เนื่องจากไม่มั่นใจสถานการณ์โควิด และเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามมาจากมาตรการรัฐกำหนด อีกทั้งผู้ปกครองที่มีความกังวลด้านความปลอดภัยของนักเรียน
อ่านประกอบ:
- แนวปฏิบัติ 'Sandbox in School' เปิดโรงเรียนให้นักเรียน-ครูปลอดภัยในยุคโควิด
- สธ.เผยมาตรการเข้มเปิดสถานศึกษา ต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% ตรวจ ATK 2 ครั้ง/สัปดาห์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage