"..มาตรการการปิดเรียน ไม่มีผลในการควบคุมการแพร่ระบาด ยกเว้นอัตราการแพร่เชื้อในเด็กเท่ากับผู้ใหญ่ และการเข้าถึงการฉีดวัคซีนสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เพียงพอจะทำให้การเปิดเรียนมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลความจำเป็นต้องเปิดเรียน โดยให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนได้ โรงเรียนเป็นสถานที่สามารถปฏิบัติและกำกับให้เป็นไปตามมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด.."
------------------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า แม้มีจำนวนผู้ป่วยหายป่วยเพิ่มมากขึ้น และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่ประเทศไทยก็ยังพบผู้ติดป่วยโควิดรายใหม่ใน จำนวนหลักหมื่นคนต่อวัน โดยมีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม 29 จังหวัด
หากแยกเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเด็กนั้น ข้อมูลวันที่ 1 ม.ค.- 25 ส.ค.2564 พบมีเด็กติดเชื้อสะสม 119,814 ราย โดยเป็นเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก สัดส่วนประมาณ 15% ของการติดเชื้อในผู้ใหญ่ และอัตราการเสียชีวิต 0.02% โดยส่วนใหญ่มากกว่า 70% ไม่มีอาการ และกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมักมีโรคประจำตัวร้ายแรงมากกว่าเด็กในกลุ่มเดียวกัน แม้ว่าความรุนแรงของโรคในเด็กนั้นไม่มาก แต่การรับมือกับปัญหาและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการศึกษาของเด็กในระยะยาว
'โรงเรียน' เป็นสถานที่แรกๆ ที่มีคำสั่งปิดตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเป็น 29 จังหวัด โดยโรงเรียนได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากเดิมเป็นการสอนในห้องเรียน (On site) เป็นรูปแบบออนไลน์ (Online) หรือรูปแบบอื่นๆ ตามความเหมาะสม
แต่ขณะเดียวกัน การปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน มีผลกระทบต่อทักษะการเรียนรู้และพัฒนาการทางสังคม ครูขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็ก อีกทั้งยังพบว่าสำหรับบางกลุ่มมีความเครียดและยากต่อการปรับตัว เนื่องจากอาจขาดความพร้อมในการสอนทางไกล
นอกจากนี้ ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครองบางราย ก็ไม่มีความพร้อมและเวลาในการดูแล สอนบทเรียนให้กับบุตรหลาน เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา การหยุดเรียนถาวรของเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบาง และอาจะมีผลกระทบถึงด้านพัฒนาการของเด็ก
อีกทั้ง มาตรการการปิดเรียน ไม่มีผลในการควบคุมการแพร่ระบาด ยกเว้นอัตราการแพร่เชื้อในเด็กเท่ากับผู้ใหญ่ และการเข้าถึงการฉีดวัคซีนสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เพียงพอจะทำให้การเปิดเรียนมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลความจำเป็นต้องเปิดเรียน โดยให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนได้ โรงเรียนเป็นสถานที่สามารถปฏิบัติและกำกับให้เป็นไปตามมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
@ เปิดโรงเรียนปลอดภัย ด้วยหลักการตัดความเสี่ยง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัดทำโครงการ 'Sandbox Safety Zone in School' เปิดเรียนมั่นใจ ปลอดภัยไร้โควิด-19 ในโรงเรียนประจำ ด้วยหลักการ ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน (3T1V) โดยมีโรงเรียนประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ 68 แห่ง ในพื้นที่ 33 จังหวัด ตั้งแต่เดือน ส.ค.2564 เป็นต้นไป
โดยหลักการ ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน (3T1V) มีดังนี้
1. Thai Stop Covid Plus (TSC+) โรงเรียนต้องประเมินตนเอง เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน
2. Thai Save Thai (TST) นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ต้องประเมินความเสี่ยงของตนเอง
3. Antigen Test Kit (ATK) นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทุกคนต้องตรวจคัดกรอง ATK ก่อนเข้าโรงเรียน และมีการสุ่มตรวจเฝ้าระวัง
4. Vaccine ครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าถึงการฉีดวัคซีน ครอบคลุมมากกว่า 85%
@ โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบผสม
สำหรับโรงเรียนประจำที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับผู้ปกครอง ภาคสมัครใจ รวมถึงผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยจัดการเรียนการสอนแบบผสม (Hybrid) ระหว่างรูปแบบการสอนในห้อง (On site) และออนไลน์ (Online) โดยโรงเรียนต้องประเมินเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน ผ่าน Thai Stop Covid Plus (44 ข้อ) และถือปฏิบัติอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีการกำกับติดตามประเมินผลโดยคณะกรรมการตรวจราชการบูรณาการ
ส่วนการจัดระบบการจัดซื้อจัดหาอาหาร ให้โทรสั่งตามระบบนำส่ง (Delivery) จากร้านอาหารหรือแหล่งปรุง ประกอบอาหาร ให้มาส่งในจุดที่ที่จัดเตรียมรับอาหาร และในกรณีโรงเรียน มีการเปิดเรียนแล้ว แต่ต้องปิดเรียน เนื่องจากมีการติดเชื้อภายในโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
@ ตรวจหาเชื้อก่อนเข้า-ใช้มาตรการซีลพื้นที่
สำหรับบุคคลากรในโรงเรียน รวมถึงครู และนักเรียนต้องตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าสถานศึกษา ถ้าหากผลเป็นบวก ต้องรับการตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผล
โดยเน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบ Bubble and Seal ห้ามออกนอกสถานศึกษา 14 วัน หรือ 1 ภาคเรียน ตามเงื่อนไข หากกรณีมีความจำเป็นต้องออกนอกสถานศึกษา ต้องได้รับการขออนุญาตจากผู้บริหารสถานศึกษาและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai save Thai อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น
ขณะที่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องเข้าถึงการฉีดวัคซีน ครอบคลุมมากกว่า 85% และจัดให้มีระบบการติดตามอย่างเข้มงวด โดยเฝ้าระวังสุ่มตรวจ ATK ทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคเรียน
@ มาตรการส่วนบุคคล ลดการติดเชื้อ
สำหรับมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น มุ่งลดการติดเชื้อ ลดการแพร่กระจายเชื้อที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 6 มาตรการ (DMHT-RC) ดังนี้
1. Distancing เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร
2. Mask wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% ตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน
3. Hand washing ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำ นาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอออล์
4. Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
5. Reducing ลดการแออัด ลดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง
6. Cleaning ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม
นอกจากนี้ ยังมีอีก 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ดังนี้
1. Self-care ดูแลใส่ใจปฏิบัติตน มีวินัย รับผิดชอบตนเองปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
2. Spoon ใช้ช้อนส่วนตัว เมื่อกินอาหาร ลดสัมผัสร่วมกับผู้อื่น
3. Eating กินอาหารปรุงสุก ใหม่ ร้อน
4. Thai chana ลงทะเบียนไทยชนะหรือตามที่รัฐกำหนด
5. Check สำรวจตรวจสอบบุคคล นักเรียน และกลุ่มเสี่ยงมาจากพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง
6. Quarantine กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรค
@ เตรียมฉีควัคซีนให้นักเรียนกว่า 4 ล้านคน
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2564 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวชี้แจงถึงแผนการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนและเยาวชน ว่า จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษามีเกือบ 9 แสนคน ยอดการรับวัคซีนเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 6 แสนคน เหลืออยู่ประมาณ 3.2 แสนคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ส่วนจำนวนนักเรียนอายุ 12-18 ปี มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน แม้กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตั้งงบประมาณซื้อวัคซีนฉีดให้เด็กนักเรียนไว้ แต่ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่าทันทีที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สามารถฉีดให้เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี เข้ามาปลายเดือน ก.ย. จำนวน 2-3 ล้านโดส และจะส่งให้ได้ครบ 30 ล้านโดสตามแผนที่วางไว้ภายในเดือน ธ.ค. เมื่อเข้ามาถึงแล้วจะวางแผนยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายวัคซีนไปฉีดให้นักเรียน 4 ล้านกว่าคนโดยเร็วที่สุด
“คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนกว่า จะฉีดวัคซีนได้ตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อเปิดโรงเรียนให้เด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยช่วงนั้นๆ ว่าจะเปิดเรียนได้หรือไม่” นางกนกวรรณกล่าว
นางกนกวรรณ กล่าวด้วยว่า เพราะในการจะเปิดเรียนสิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องเน้นความปลอดภัยของชีวิตเป็นหลัก รวมถึงต้องดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงนั้นเป็นหลักด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการบูรณาการ การทำงานร่วมกัน และยึดตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัด ร่วมกับการประเมินสถานการณ์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และขอย้ำว่าเมื่อวัคซีนมาถึง ก็จะดำเนินการฉีดให้เร็วที่สุด ส่วนการพิจารณาพื้นที่ฉีดวัคซีน ต้องให้เป็นไปตามแผนการฉีดและแผนการกระจายของกรมควบคุมโรคจึงจะเหมาะสมที่สุด
@ ชงเปิดเรียนเทอม 2 ในเดือน พ.ย.นี้ หลังนักเรียนฉีดวัคซีน
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอ 2 ประเด็นให้ ศบค.พิจารณา คือ การเปิดภาคเรียนที่ 2 ของนักเรียนระดับอาชีวศึกษา เนื่องจากครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคนแล้ว อีกทั้งนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนประมาณ 1 ล้านคนได้รับวัคซีนแล้วส่วนหนึ่งตามสูตรการฉีดวัคซีนสลับระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่กลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ปลายเดือน ก.ย.นี้
“เราคาดหวังว่าหากแผนการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาลที่ได้มีการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 30 ล้านโดสในไตรมาส 4 ปลายเดือน ก.ย.นี้ ไม่มีอุปสรรค ก็จะทำให้เด็กอายุที่มีอายุ 12 ปีขึ้นได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งหมด ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาคนใดที่ตกหล่น ศธ.ก็เร่งให้เข้ารับการวัคซีนให้ครบทุกคน ซึ่งหากเป็นไปตามไทม์ไลน์ดังกล่าว เราก็น่าจะมีลุ้นที่จะเปิดภาคเรียนที่ 2 ในเดือน พ.ย.นี้ได้ แต่สำหรับเด็กเล็กปฐมวัยถึงประถมศึกษายังไม่สามารถให้มาเรียนได้ ยังต้องใช้มาตรการการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ออนแฮนด์ หรือ ออนแอร์ไปก่อน” นายสุภัทรกล่าว
นายสุภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนประเด็นที่ 2 คือ มาตรการโครงการตรียมความพร้อมสถานศึกษานำร่องจัดการเรียนในรูปแบบโรงเรียนประจำ Sandbox Safety Zone in School ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมาตรการดังกล่าวจะดำเนินการในพื้นที่กลุ่มสีแดงเข้ม โดยมีในโรงเรียนประจำ หรือโรงเรียนกินนอนนำร่องจัดการเรียนไปแล้ว 34 แห่ง และจากการรายงานข้อมูลยังไม่พบการติดเชื้อเกิดขึ้น
ทั้งนี้ มีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งแจ้งความประสงค์จะใช้มาตรการดังกล่าว โดยหากจะดำเนินการมาตรการนี้ โรงเรียนจะต้องมีหอพักภายในโรงเรียน และต้องเป็นการเปิดเรียนในรูปแบบระบบปิดเท่านั้น ไม่มีการปล่อยให้เดินทางกลับบ้าน และจะต้องขออนุญาตการจัดตั้งการเป็นโรงเรียนประจำ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) อย่างถูกต้อง
ทั้งหมดนี้ คือแนวปฏิบัติสำหรับการเปิดโรงเรียนในโครงการ Sandbox Safety Zone in School จะต้องติดตามต่อไปว่าโครงการดังกล่าว จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด และโรงเรียนอื่นๆ จะสามารถกลับมาเปิดเรียนแบบ On site ได้เมื่อใด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage