สธ.เผยมาตรการเปิดสถานศึกษา ครูต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85%-ตรวจ ATK เป็นประจำ 2 ครั้ง/สัปดาห์ เร่งฉีดไฟเซอร์กลุ่มนักเรียน แจงผลข้างเคียงพบได้น้อย ยันรักษาหายได้ ห่วงยอดติดเชื้อพุ่งในเดือน ต.ค. ย้ำการ์ดอย่าตก-ป้องกันตัวเองครอบจักรวาล
-----------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการ Sand Box ในโรงเรียน ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มเด็กวัยเรียน ในช่วงอายุ 6-18 ปี ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.-11 ก.ย.2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย แบ่งเป็น เดือน เม.ย. พบ 2,426 ราย เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 6,432 ราย เดือน มิ.ย. 6,023 ราย เดือน ก.ค. 31,377 ราย และเดือน ส.ค. สูงถึง 69,628 ราย เป็นคนไทย 90% และชาวต่างชาติ 10% และมีผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โดยจังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุด คือ กทม. รองมาเป็นปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้
"แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น แม้ว่าไม่เปิดเรียน แต่ยังพบการติดเชื้อ นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อในครอบครัว และการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน รวมถึงการค้นหาเชิงรุกด้วย"
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงการรับวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรการศึกษา เช่น ครูและบุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า จากข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2564 พบว่า มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 รวมกันทั้งสิ้น 897,423 รายคิดเป็น 88.3% และยังมีผู้ที่ไม่รับวัคซีนอีก 118,889 รายคิดเป็น 11.7% ขณะที่เด็กอายุ 12-18 ปี ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.64 ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 จำนวน 74,932 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ ศธ. ดำเนินมาตรการ Sand Box Safety zone in School ที่นำร่องในโรงเรียนประจำ สามารถจัดเรียนแบบผสมผสาน ด้วยการเรียนออนไซต์ร่วมกับออนไลน์ คัดเลือกโรงเรียนโดยคำนึงถึงการบริหารจัดการ ที่มีความพร้อมจากโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ รวมถึงได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดว่าต้องเตรียมสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดแบ่งโซนในโรงเรียนเป็น โซนคัดกรอง โซนกักกันผู้ที่มีความเสี่ยง และโซนปลอดภัยเพื่อทำกิจกรรม ทั้งนี้ ทีมตรวจราชการบูรณาการร่วมกัน 2 กระทรวง ต้องติดตามผลการดำเนินการผ่านระบบของกระทรวงศึกษาฯ หรือ MOE COVID และ Thai Stop COVID Plus
ด้านบุคลากรและนักเรียน หากจะเรียนออนไซด์ นักเรียนต้องมีผลการตรวจหาเชื้อ (ATK) เป็นลบ ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละกลุ่มต้องไม่สัมผัสกัน การควบคุมกำกับเรื่องการเดินทาง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทั้งประวัติ พฤติกรรมและอาการเสี่ยง เป็นระยะผ่านแอปพลิเคชั่น ไทยเซฟไทยและอื่นๆ ส่วนสำคัญ คือ ทุกคนต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 85% สุ่มตรวจด้วย ATK เป็นระยะ หากพบผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องปิดเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญอย่างเคร่งครัด โดยต้องเน้นย้ำเรื่องการบริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหาร
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานมาตรการ Sand Box Safety zone in School ที่ผ่านมาเป็นได้อย่างดี แม้ว่าจะพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกโรงเรียน จึงเป็นที่มีของการหารือร่วมกันระหว่าง สธ.และ ศธ. เพื่อกำหนดแนวทางจัดให้มีมาตรการ Sand Box Safety zone in School ในโรงเรียนไป-กลับ โดยคำนึงเรื่องการระบาดในพื่นที่ตามจังหวัดกลุ่มสี ต้องสอดรับกับมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนด ได้แก่ 1) พื้นที่จังหวัดเฝ้าระวัง สีเขียว เน้นให้เข้ม 6 มาตรการหลักและเสริม โดยมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% มีการประเมินความเสี่ยงนักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 2) พื้นที่จังหวัดเฝ้าระวังสูง สีเหลือง ให้เพิ่มการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3) พื้นที่จังหวัดควบคุม สีส้ม ให้เพิ่มการตรวจ ATK และประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
4) พื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด สีแดง จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือ ให้สถานประกอบการรอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop COVID Plus ตามแนวทาง COVID Free Setting มีการทำ School Pass ของบุคคลในโรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลผ่านแอปฯ ไทยเซฟไทย สัปดาห์ละ 3 วัน ผลตรวจ ATK ประวัติรับวัคซีนหรือประวัติการติดเชื้อโควิดใน 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สุ่มตรวจ ATK ใน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 5) พื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม ให้ทำเหมือนจังหวัดสีแดงโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลผ่านแอปฯ ไทยเซฟไทย ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกวัน ด้วยสุ่มตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโรงเรียนไป-กลับ ได้แก่ 1) สถานศึกษาประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus และรายงานผลผ่าน MOE COVID 2) ให้ทำกิจกรรมในโรงเรียนเป็นกลุ่มย่อย ลดการสัมผัสข้ามกลุ่ม 3) เน้นสุขาภิบาลอาหาร 4) จัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามมาตรฐาน เนื่องจากพบการติดเชื้อของรักะเรียนเพราะไปอยู่แออัดในห้องเรียน โดยเฉพาะห้องปรับอากาศ และต้องมีการจัดให้มีห้องแยกกักในโรงเรียน 5) มีแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และมีการซักซ้อมกรณีพบการติดเชื้อในโรงเรียน 6) โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต้องควบคุมการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน ให้มีความปลอดภัย และ 7) จัดให้มี School Pass
“โดยรวมของมาตรการเป็นไปตามที่ ศธ.และสธ. กำหนดร่วมกันโดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เน้นย้ำว่าหากจำเป็นต้องเปิดเรียนอีกครั้ง การจำกัดคนเข้าออก การคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK การจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อย การประเมินความพร้อม การสุ่มตรวจหาเชื้อบุคลากรเป็นระยะ จะเป็นการหารือกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและโรงเรียน”
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ติดเชื้อในโรงเรียนประจำ และสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการรายงานกรณีดังกล่าวเกิดจากบุคคลส่วนหนึ่งที่ไปกลับ แล้วมีการติดเชื้อจากภายนอก ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับมาตรการและเข้มข้นว่าต้องคัดกรองความเสี่ยง ได้รับวัคซีน สุ่มตรวจด้วย ATK และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความเสี่ยงน้อยลง รวมถึงการเดินทางแบบ Seal Route
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงการสนับสนุนการตรวจ ATK ว่า การให้ตรวจ ATK จะมีความถี่ห่างตามสถานการณ์การระบาด พื้นที่ไม่มีการระบาดหรือระบาดน้อยให้เว้นห่างตรวจตามเหมาะสม พื้นที่ระบาดมากอยู่ก็ตรวจถี่มากขึ้น การสนับสนุนมี 2 ส่วน คือ 1) สปสช.มีการจัดชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด กระจายลงไปยังจังหวัดผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งจะเป้นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขร่วมกับโรงเรียนในการวางแผนเตรียมความพร้อมหากมีการเปิดเรียน ครู บุคลากร นักเรียน ถือเป้นประชาชน ถ้าประเมินมีความเสี่ยงก็รับชุดตรวจตามระบบของ สปสช.ได้ และ 2) เมื่อดำเนินการระยะหนึ่ง ตัวชุดทดสอบจะมีจำนวนมากขึ้น ราคาลดลง การจัดหาขึ้นกับพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น คณะกรรมการโรงเรียน หรือกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่สามารถนำเงินมาสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน ขึ้นกับกระบวนการหารือร่วมกันของโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและจังหวัด
"แม้ผู้ติดเชื้อต่อวันจะมีสัญญาณแนวโน้มเชิงที่ลดลง แต่ลดลงอย่างช้าๆ เรายังพบการระบาดเป็นจุดๆ ในที่มีการรวมกลุ่มคน สถาการณ์จากนี้เริ่มมีการผ่อนคลายหลายมาตรการ เชื่อว่าจะมีผู้ติดเชื้อเนื่องมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกันเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐบาลกำหนดแนวทางอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด หากจำเป้นต้องกลับไปสู่การมีกิจกรรมที่ป้นปกติ เปิดสถานประกอบการ ขอให้ระลึกว่าเราต้องปฏิบัติแบบ New Normal โดยเฉพาะการป้องกันตัวเองสูงสุดตลอดเวลา แม้จะมีการระบาดเราจะอยู่ร่วมกับโควิดโดยสมดุล ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ"
ห่วงยอดติดเชื้อพุ่งใน ต.ค. ย้ำการ์ดอย่าตก-ป้องกันครอบจักรวาล
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ในเดือน ต.ค. และการฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียน ว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ดำเนินการแล้วกว่า 40 ล้านโดส ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมกัน ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มนักเรียน อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักเรียน ม.1-6 นักศึกษา หรือ ปวช. ปวส. หรือเทียบเท่า ขณะนี้แม้ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 แม้ลดลง แต่ก็ยังต้องระวังอยู่ ยิ่งเมื่อรัฐบาลมีการปรับมาตรการ ผ่อนคลายเปิดกิจการกิจกรรมได้ ก็ต้องยิ่งไม่ประมาท
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า แม้มีการประเมินกันว่า ในเดือน ต.ค. ตัวเลขติดเชื้ออาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่จะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติตัวของประชาชนทุกคนเป็นสำคัญ ขณะที่ตัวเลขแนวโน้ม ผู้ป่วยหนักกับผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลง ถือเป็นแนวโน้มที่ดี โดยรวมสัญญาณดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ให้ระมัดระวัง หลังมีการปรับมาตรการ เปิดกิจการ ดังนั้นขอพี่น้องประชาชนอย่าเพิ่งไว้วางใจ และขอให้ต้องเข้มงวดทำตามมาตรการป้องกันอย่างสูงสุดกับตัวเอง ทำอย่างเต็มที่ จะเป็นการดีที่สุด
ส่วนคำถามปัจจัยอะไรตัวเลขขึ้นมาอีกในเดือน ต.ค.นั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ในแง่ปัจจัย จะต้องดูจากที่ประชาชนที่รู้สึกคลายกังวลช่วงนี้ ยังต้องเน้นย้ำให้ประชาชน ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันครอบจักวาล ถ้าทำได้ก็ดี แต่หากทำไม่ได้ ตัวเลขเดือน ต.ค. ก็มีโอกาสกลับขึ้นมาอีก ขอประชาชน เมื่อรู้สึกผ่อนคลายแล้ว การอยากออกไปพบเพื่อน หรือไปเจอกัน ยังต้องระวังอยู่
ผลข้างเคียงเด็กฉีดไฟเซอร์เป็นส่วนน้อย ยันรักษาหายได้
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 12 ปี ว่า เรื่องการฉีดวัคซีนให้นักเรียน จะเป็นการฉีดไฟเซอร์ แนวทาง คือโรงเรียนสถานศึกษาจะรวบรวมรายชื่อนักเรียน แจ้งไปยังสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจัดสรรวัคซีนให้ สัปดาห์แรก ส่งไป 1 ล้าน โดส และจะเพิ่มจำนวนวัคซีนให้มากขึ้นตามแผนในสัปดาห์ต่อๆ ไป
ส่วนเรื่องกังวลฉีดไฟเซอร์แล้ว มีอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากข้อมูลจากการฉีดทั่วโลกพบว่า อาการดังกล่าวพบในระดับต่ำ หรือน้อยมาก ในทางกลับกันหากติดเชื้อโควิด-19 แล้วส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีโอกาสเกิดมากกว่ามากกว่า 6 เท่า ที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดภาวะดังกล่าว ดังนั้น ยืนยันว่า ไม่น่ากังวล เมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงถือแล้ว ถือว่าคุ้มมาก ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง และหากเกิดอาการแล้ว ยืนยันว่า สามารถรักษาหายได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage