"...กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีจำนวนหนี้เงินสมทบค้างชำระเป็นจำนวนมาก พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 จำนวนหนี้เงินสมทบค้างชำระของทั้ง 2 กองทุนสะสมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 300.00 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มจากปี พ.ศ. 2561 เป็นจำนวนเงิน 540.16 ล้านบาท โดยหนี้เงินสมทบค้างชำระของกองทุนประกันสังคม รวมจำนวนเงิน 5,142.40 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน รวมจำนวนเงิน 743.11 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,885.51 ล้านบาท..."
.....................................
การดูแลผู้ประกันตนและลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคง และเป็นการสร้างหลักประกันทางสุขภาพและรายได้ให้แก่แรงงาน ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สังกัดกระทรวงแรงงาน
กำลังเกิดปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงานภาพรวมอย่างมาก
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน พบปัญหาสำคัญหลายประการ ทั้งในเรื่องการแจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้าง การแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และการชำระเงินสมทบกองทุน รวมไปถึงกรณีสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมมีแนวโน้มลดลงทุกปี ส่งผลต่อการเข้าถึงหรือความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน
สตง. ระบุในรายงานผลการตรวจสอบว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สังกัดกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่หลักในการคุ้มครอง ดูแลผู้ประกันตนและลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคง และเป็นการสร้างหลักประกันทางสุขภาพและรายได้ให้แก่แรงงาน ซึ่งเป็นไปตามหลักการอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งในรูปตัวเงิน (in cash) และบริการทางการแพทย์ (in kind) สำหรับกองทุนประกันสังคมจะมีนายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่เกิดขึ้นไม่เนื่องจากการทำงาน และกองทุนเงินทดแทนมีนายจ้างออกเงินสมทบ เข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ซึ่ง สปส. มีหน่วยงานในสังกัดหรือหน่วยปฏิบัติให้บริการทั่วประเทศ ได้แก่ สปส. กทม. เขตพื้นที่ 1 – 12 สปส. จังหวัด 76 แห่งและ สปส. จังหวัดสาขา 49 แห่ง รวมหน่วยปฏิบัติ จำนวนทั้งสิ้น 137 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการรับขึ้นทะเบียน รับชำระเงินสมทบและวินิจฉัยสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนและเงินทดแทนแก่ลูกจ้างและผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคมมีเงินกองทุน จำนวนทั้งสิ้น 2,095,393.00 ล้านบาท สถานประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 483,924 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวนทั้งสิ้น 16.58 ล้านราย สำหรับกองทุนเงินทดแทนมีเงินกองทุน จำนวนทั้งสิ้น 64,549.00 ล้านบาท มีสถานประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 428,821 แห่งและผู้ประกันตนจำนวนทั้งสิ้น 11.71 ล้านราย (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562)
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมหลัก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 –2562 ของ สปส.ส่วนกลางสุ่มตรวจสอบ สปส.กทม. เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา (หน่วยปฏิบัติ) จำนวน 12แห่งและสถานพยาบาลคู่สัญญา จำนวน 24 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด พบปัญหาดังต่อไปนี้
@ การแจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้าง การแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และการชำระเงินสมทบกองทุน ของสถานประกอบการ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
กล่าวคือ การแจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างของสถานประกอบการ เป็นไปอย่างไม่ครบถ้วน และสำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 แต่ละปีมีสถานประกอบการที่ไม่แจ้งการขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างเพื่อเป็นผู้ประกันตน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 88.70 ของจำนวนสถานประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว และการติดตามตรวจสอบการขึ้นทะเบียนของ สปส. หรือหน่วยปฏิบัติยังไม่ครบถ้วนตามเป้าหมายที่กำหนด โดย สปส.ยังไม่ได้ติดตามสถานประกอบการที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน จำนวน 97,054 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 31.94 ของจำนวนเป้าหมายที่กำหนด ในขณะที่มีการติดตามตรวจสอบได้จำนวน 206,847 แห่ง แต่ปรากฏว่ามีสถานประกอบการมาแจ้งขึ้นทะเบียนจำนวน 81,033 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 39.18 ของจำนวนที่มีการติดตาม และสถานประกอบการจำนวน 125,814 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 60.82 ของจำนวนที่มีการติดตาม รายงานข้อมูลว่าไม่มีลูกจ้าง ยังไม่ดำเนินกิจการหรือเลิกกิจการ
ทั้งนี้ จากจำนวนสถานประกอบการที่มีการจดทะเบียนปรากฏว่ามีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งสิ้นจำนวน119,731 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 34.95 ของจำนวนสถานประกอบการใหม่ที่จดทะเบียนนิติบุคคลสำหรับสถานประกอบการ อีกร้อยละ 65.05 ของจำนวนสถานประกอบการใหม่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้
นอกจากนี้ การแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนของสถานประกอบการมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 มีสถานประกอบการที่แจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนล่าช้า 3 เดือนติดต่อกันขึ้นไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 50.00 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด และ สปส. ยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับนายจ้างที่แจ้งขึ้นทะเบียนหรือแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนล่าช้าได้อย่างครบถ้วนการที่สถานประกอบการไม่ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด ส่งผลให้ฐานข้อมูลผู้ประกันตนของ สปส. ไม่ถูกต้อง และทำให้ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนหรือได้รับประโยชน์ทดแทนล่าช้า และมีผลให้การจ่ายประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ โดยเฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตร กรณีว่างงาน และการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลเกินจริงเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2563 สปส. มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,129.27 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเกิดจากกรณีการแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนล่าช้า
@ กองทุนประกันสังคม-เงินทดแทนมีหนี้เงินสมทบค้างชำระหลายพันล้าน
กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีจำนวนหนี้เงินสมทบค้างชำระเป็นจำนวนมาก พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 จำนวนหนี้เงินสมทบค้างชำระของทั้ง 2 กองทุนสะสมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 300.00 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มจากปี พ.ศ. 2561 เป็นจำนวนเงิน 540.16 ล้านบาท โดยหนี้เงินสมทบค้างชำระของกองทุนประกันสังคม รวมจำนวนเงิน 5,142.40 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน รวมจำนวนเงิน 743.11 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,885.51 ล้านบาท
ขณะที่ กองทุนประกันสังคมมียอดค้างชำระเป็นจำนวนเงิน 4,192.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.53 ของยอดค้างชำระทั้งหมดของทั้ง 2 กองทุน และกองทุนเงินทดแทนมียอดค้างชำระเป็นจำนวนเงิน500.81 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 67.39 ของยอดค้างชำระทั้งหมดของทั้ง 2 กองทุน
ยอดหนี้เงินสมทบส่วนใหญ่ค้างชำระตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในเกณฑ์กลุ่มหนี้สูญ จะต้องทำการตรวจสอบสถานะนายจ้างจากกรมบังคับคดี ศาลล้มละลายกลาง และยังพบว่ายอดหนี้เงินสมทบค้างชำระของหน่วยปฏิบัติบางแห่งเกินกว่าร้อยละของเงินสมทบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
อนึ่ง จากการตรวจสอบการส่งเงินสมทบของสถานประกอบการของทั้ง 2 กองทุนในหน่วยปฏิบัติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – 2562 ซึ่งใช้บัญชีค่าจ้างเป็นฐานการคำนวณ พบว่า สถานประกอบการบางแห่งไม่มีการรายงานค่าจ้าง โดย สปส. ไม่มีการจัดเก็บข้อมูล หรือไม่สามารถระบุจำนวนสถานประกอบการที่ไม่มีการรายงานค่าจ้าง ทำให้ไม่สามารถประเมินผลการตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้อง ในการส่งเงินสมทบของสถานประกอบการเข้าทั้ง 2 กองทุนได้
สตง. ระบุด้วยว่า สาเหตุที่สำคัญของประเด็นปัญหาข้างต้น เนื่องจาก สปส. ขาดฐานข้อมูลและระบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยมีการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (Sapiens System) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้งานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึงปัจจุบันไม่สามารถรองรับนวัตกรรมการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ ไม่สามารถประมวลผลข้อมูลจากระบบงานได้อย่างอัตโนมัติและไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการสอบทานข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้บุคลากรของหน่วยปฏิบัติมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบ่อยครั้ง ทำให้ขาดทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญและการพัฒนาที่ต่อเนื่อง และหน่วยปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในตำแหน่งนิติกรหรือมีไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ด้านกฎหมาย รวมไปถึงการกำหนดแนวทางปฏิบัติและตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานตามภารกิจ และสำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเคร่งครัดและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
@ สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมมีแนวโน้มลดลงทุกปี
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ยังได้ระบุข้อสังเกต สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมมีแนวโน้มลดลงทุกปี ส่งผลต่อการเข้าถึงหรือความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน ว่า จากการตรวจสอบสถิติสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 –2562 สถานพยาบาลคู่สัญญาและสถานพยาบาลเครือข่ายในระบบประกันสังคม มีแนวโน้มลดลงทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2551 สถานพยาบาลหลักของภาคเอกชน มีจำนวน 104 แห่ง จนถึงปีพ.ศ. 2563 มีจำนวน 79 แห่ง ในช่วง 10 ปี ลดลงจำนวน 25 แห่ง หรือกรณีในปี พ.ศ. 2561 พ.ศ. 2562และปี พ.ศ. 2563 มีสถานพยาบาลเครือข่ายในระบบประกันสังคม จำนวน 3,785 แห่ง 3,639 แห่งและ 2,210 แห่ง ซึ่งลดลงจากปีก่อน จำนวน 89 แห่ง และ 1,486 แห่ง ตามลำดับ ขณะที่ผู้ประกันตนมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลคู่สัญญาที่สุ่มตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลหลักของภาคเอกชนส่วนใหญ่มีการปรับลดจำนวนสถานพยาบาลเครือข่ายลงเนื่องจากประสบปัญหาการควบคุมคุณภาพการให้บริการและการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขาดทรัพยากรในการควบคุม กำกับ และติดตามการดำเนินการของสถานพยาบาลเครือข่ายซึ่งมีจำนวนมากทั้งนี้ สถานพยาบาลหลักและสถานพยาบาลเครือข่ายในระบบประกันสังคมที่มีจำนวนลดลงทำให้ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้ประกันตนจำนวนมากจะส่งผลให้ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวกและรวดเร็ว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมมีแนวโน้มลดลงทุกปีเนื่องจากสถานพยาบาลคู่สัญญาส่วนใหญ่ยังขาดการสนับสนุน ส่งเสริมให้สามารถควบคุมและกำกับสถานพยาบาลเครือข่ายให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ หรือมาตรฐานงานบริการทางการแพทย์ที่กำหนดได้รวมถึงอาจประสบปัญหาการขาดทุน สำนักงานประกันสังคมขาดการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของสถานพยาบาลคู่สัญญา เพื่อให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคและนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนางานบริการทางการแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
@ ข้อเสนอแนะ
เบื้องต้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิ นมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมพิจารณาดำเนินการ สำรวจสภาพปัญหาการดำเนินงานและการบริหารจัดการของสถานพยาบาลคู่สัญญารวมทั้งสถานพยาบาลที่เคยเข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคม และให้มีการจัดทำรายงานสรุปปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด ในการดำเนินงานของสถานพยาบาลคู่สัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริการทางการแพทย์ภายใต้สิทธิประกันสังคม ในมิติอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกลไกการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ โดยอาจจัดให้มีการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการของสถานพยาบาล เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับต่อไป
อีกทั้งให้สถานพยาบาลเกิดแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนและขยายสถานพยาบาลเครือข่ายให้มีความครอบคลุมและเพียงพอ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
- หน่วยบริการ สปสช. 5 ปี ออกเวชระเบียนไม่ถูกต้อง 4.8 แสนฉบับ-เจอเรียกเงินคืน 1.9 พันล.
- เปิดรายงาน สตง. สอบระบบเงินเวชระเบียน-มาตรฐานหน่วยบริการ สปสช. 5 ปี ปัญหาเพียบ
- สปสช.แจงปัญหาเวชระเบียนเรียกเงินคืน1.9 พันล.ทำระบบใหม่แล้ว ประเดิมงานจ่าย ATK 16 ก.ย.นี้
- ขุดต่อ! สตง.สอบระบบหลักประกันสุขภาพ ขรก. สถานพยาบาลเบิกเงินไม่ถูกต้อง เรียกคืน 414.32 ล.
- ถึงคิว! สตง.สอบระบบหลักประกันสุขภาพ สปส. พบปัญหาเวชระเบียนมีเรียกเงินคืน 2.4 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/