"...การตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหลังการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล(Post Audit) ของสถานพยาบาลที่เข้าระบบเบิกจ่ายตรงโดย สำนักวิจัยเพื่อพัฒนาตรวจสอบการบริการสาธารณสุข (สพตส.) พบการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด และกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการเรียกเงินคืนจากสถานพยาบาลจำนวน 414.32 ล้านบาท..."
..........................................
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลของหน่วยงานภาครัฐ ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาข้อมูลไม่ถูกต้องและมีการเรียกเงินคืนจำนวนหลักร้อยหลักพันล้านบาท ตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอไปแล้ว
มิได้เกิดขึ้นเฉพาะการบันทึกเวชระเบียนซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการหลังการเบิกจ่าย (Post-audit) ของ ระบบหลักประกันสุขภาพ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จากการสุ่มตรวจเวชระเบียนตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558–2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,036,659 ฉบับ หรือโดยเฉลี่ย 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 3.20 ของจำนวนเวชระเบียนทั้งหมดที่หน่วยบริการขอเบิกจ่ายค่าบริการ พบว่ามีหน่วยบริการบันทึกเวชระเบียนไม่ถูกต้อง จำนวน 489,635 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.23 ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง และ สปสช. ต้องเรียกเงินคืนจากหน่วยบริการจำนวน 1,960.89 ล้านบาท และจ่ายชดเชยเงินเพิ่มจำนวน 419.62 ล้านบาท
- หน่วยบริการ สปสช. 5 ปี ออกเวชระเบียนไม่ถูกต้อง 4.8 แสนฉบับ-เจอเรียกเงินคืน 1.9 พันล.
- เปิดรายงาน สตง. สอบระบบเงินเวชระเบียน-มาตรฐานหน่วยบริการ สปสช. 5 ปี ปัญหาเพียบ
- สปสช.แจงปัญหาเวชระเบียนเรียกเงินคืน1.9 พันล.ทำระบบใหม่แล้ว ประเดิมงานจ่าย ATK 16 ก.ย.นี้
หากแต่ปัญหาลักษณะนี้ ยังเกิดขึ้นกับการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพ สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลางด้วย
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลว่า สตง.ได้เข้าทำการตรวจสอบระบบหลักประกันสุขภาพ สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ พบปัญหาสำคัญว่า สถานพยาบาลจัดทําหลักฐานเพื่อส่งเบิกในระบบเบิกจ่ายตรงไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของหน่วยตรวจสอบ ที่กรมบัญชีกลางว่าจ้างดําเนินการ พบปัญหาโดยสรุปดังนี้
1. ผลการตรวจสอบธุรกรรมก่อนการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (Pre Audit) ของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงโดย สำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) และ สำนักงาน สปสช. พบรายละเอียดข้อมูลการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง
ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการของสถานพยาบาล เช่น สถานพยาบาลไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการเบิกจ่ายก่อนส่งเบิก บุคลากรของสถานพยาบาลขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบ หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินที่กระทรวงการคลังกำหนด ทำให้เกิดการบันทึกข้อมูลและการจัดส่งข้อมูลการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน
นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงจำนวน 40 แห่ง ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลและอัตราค่าบริการสาธารณสุขของกรมบัญชีกลาง ทำให้สถานพยาบาลต้องปรับปรุงระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ในการบันทึกและการจัดส่งข้อมูลการเบิกจ่ายเงิน อีกทั้งบุคลากรผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของสถานพยาบาลยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนในหลักเกณฑ์ใหม่ ส่งผลให้การจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของสถานพยาบาลเกิดความล่าช้า และอาจไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนได้
2. การตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหลังการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล(Post Audit) ของสถานพยาบาลที่เข้าระบบเบิกจ่ายตรงโดย สำนักวิจัยเพื่อพัฒนาตรวจสอบการบริการสาธารณสุข (สพตส.) พบการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด และกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการเรียกเงินคืนจากสถานพยาบาลจำนวน 414.32 ล้านบาท
ซึ่งปัญหาของการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องเกิดจากหลายกรณี เช่น การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน เบิกเกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด การเบิกค่ายาโดยไม่มีบันทึกการตรวจรักษา การส่งข้อมูลโรคร่วมจำนวนมากโดยไม่พบการวินิจฉัยโดยแพทย์เจ้าของไข้หรือไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการวินิจฉัย ซึ่งทำให้เบิกค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นต้น
ทั้งนี้ การตรวจสอบ Post Audit ของ สพตส. ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและจำนวนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้านการแพทย์ จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงได้ แม้ว่าจะมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงเพียงจำนวน 1,403 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 5.13 ของสถานพยาบาลทั้งหมด จึงทำให้เกิดจุดอ่อนหรือความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกต้องสำหรับสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับการสุ่มตรวจสอบ
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การตรวจสอบก่อนการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (Pre Audit) และหลังการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (Post Audit) ทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ครอบคลุมสถานพยาบาล ทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง (เบิกจ่าย ณ ส่วนราชการเจ้าสังกัด) โดยเฉพาะที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือสถานพยาบาลของรัฐที่ไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ซึ่งจะไม่ถูกตรวจสอบ Pre Audit และPost Audit จากหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางว่าจ้าง มีเพียงการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายจากกองคลังของส่วนราชการเจ้าสังกัด ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง ทั้งนี้สถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ต้องจัดทำข้อมูลที่ใช้ประกอบการเบิกจ่ายเงินและต้องถูกตรวจสอบก่อนการเบิกจ่าย ซึ่งมีรายการข้อมูลรวมถึงรายละเอียดของข้อมูลแต่ละรายการจำนวนมากโดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงมีโอกาสได้รับการตรวจสอบทั้ง Pre Audit และ Post Audit
แต่ผลการตรวจสอบข้อมูล พบว่ายังมีการเบิกจ่ายและการจัดทำหลักฐานรวมถึงข้อมูลรายละเอียดประกอบการเบิกจ่ายโดยไม่ถูกต้อง
จากประเด็นข้างต้นส่งผลกระทบสำคัญต่องบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งอาจเกิดการผิดพลาดของการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เกิดจุดอ่อนหรือความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การรั่วไหล โดยเฉพาะกรณีสถานพยาบาลของรัฐที่ไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ซึ่งใบเสร็จรับเงินมีรายละเอียดไม่ครอบคลุมข้อมูลการรักษาพยาบาล และส่วนราชการเจ้าสังกัดนอกจากอาจไม่มีความรู้ทางการแพทย์แล้วอาจยังไม่มีระบบการตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
นอกจากนี้การตรวจสอบ Post Audit ของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ได้ตรวจพบการจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้องและต้องเรียกเงินคืน ซึ่งสามารถสุ่มตรวจสอบได้เพียงบางแห่ง อาจส่งผลกระทบทำให้สถานพยาบาลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ซึ่งมีจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงของการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้องได้
สาเหตุสำคัญของประเด็นข้อตรวจพบดังกล่าวข้างต้นเกิดจากการไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมายให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องเข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง รวมถึงสถานพยาบาลของรัฐที่ไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงไม่ต้องจัดทำและไม่ถูกตรวจสอบเอกสารประกอบการเบิกจ่ายจากหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางว่าจ้าง ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการรั่วไหลของงบประมาณ
ส่วนสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงซึ่งมีข้อจำกัดและมีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้อง และทันต่อการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินของกรมบัญชีกลาง จะมีความเสี่ยงของการจัดทำข้อมูลประกอบการเบิกจ่ายและการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังไม่มีการดำเนินการจัดส่งหรือแจ้งผลการตรวจสอบ Pre Audit และ Post Audit ที่พบจากการตรวจสอบสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ให้หน่วยงานเจ้าสังกัดของสถานพยาบาลได้รับทราบข้อผิดพลาดและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้อง
ประกอบกับบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการเบิกจ่ายเงินของสถานพยาบาลอาจขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในการจัดทำข้อมูลรายละเอียดประกอบการเบิกจ่ายตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เกิดปัญหาการเบิกจ่ายโดยไม่ถูกต้อง
ขณะที่ในการตรวจสอบของสตง. ยังพับปัญหาระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ยังไม่ครอบคลุมสถานพยาบาล ของรฐัทั้งประเทศ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562 พบว่ามีสถานพยาบาลทั้งหมดจํานวน 27,354 แห่ง แบ่งออกเป็นสถานพยาบาลของ รัฐจํานวน 13,446 แห่ง และสถานพยาบาลของเอกชนจํานวน 13,908 แห่ง โดยมีสถานพยาบาลที่ เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงรวมทั้งสิ้นจํานวน 1,403 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.13 ของสถานพยาบาล
ทั้งหมด ในจํานวนนี้เป็นสถานพยาบาลของรัฐจํานวน 1,147 แห่ง และสถานพยาบาลของเอกชน จํานวน 256 แห่ง (สถานพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงได้จะต้องได้รับอนุมัติจาก กรมบัญชีกลาง) ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐจะเห็นได้ว่าสถานพยาบาลของรัฐที่ เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง คิดเป็นร้อยละ 8.53 ของสถานพยาบาลของรัฐทั้งหมด
เบื้องต้น เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ มีระบบการควบคุมตรวจสอบอย่างครอบคลุมทั่วถึง สตง. มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมบัญชีกลางพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. จัดให้มีการสำรวจข้อมูล หรือประเมินผลสถานพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงและที่ไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง เพื่อทราบปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด หรือข้อคิดเห็นต่อการพัฒนา ปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อนำมาวางแผนปรับปรุงระบบหรือการดำเนินการที่จะสามารถอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจหรือวางกลยุทธ์ให้สถานพยาบาลเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายตรงให้ได้เพิ่มขึ้นหรือมากที่สุด เพื่อประโยชน์กับผู้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และเพื่อประโยชน์ในการควบคุม ตรวจสอบ ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ
2. จัดให้มีการส่งผลการตรวจสอบ Pre Audit และ Post Audt ให้หน่วยงานเจ้าสังกัดของสถานพยาบาลเพื่อทราบและควบคุม กำกับ ดูแลให้สถานพยาบาลในสังกัดเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบตลอดจนแจ้งประชาสัมพันธ์ประเด็นปัญหาหรือข้อตรวจพบ กรณีการตรวจสอบก่อนการเบิกจ่ายและหลังการเบิกจ่ายไปยังสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งที่ได้รับการสุ่มตรวจสอบหรือยังไม่ได้รับการสุ่มตรวจสอบกรณีพบการจัดทำเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้อง หรือข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินของสถานพยาบาล และอาจเกิดความเสียหายกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อให้เกิดการตระหนัก รับรู้ และพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
3. จัดให้มีกระบวนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน การจัดทำเอกสารหลักฐาน การบันทึกเวชระเบียน ให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องของสถานพยาบาล รวมถึงเพิ่มกระบวนการสอบทานเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงิน หรือธุรกรรมการเบิกจ่าย เพื่อลดความเสี่ยงของการปฏิบัติงานที่อาจผิดพลาด รวมถึงการสร้างความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องให้แก่บุคลากร เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลเป็นไปด้วยความถูกต้อง สามารถเบิกจ่ายเงินได้อย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงที่อาจทำให้ถูกเรียกคืนเงินหรือทำให้เกิดความเสียหายกับเงินงบประมาณได้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage