สตง.สุ่มตรวจการดำเนินงานบันทึกเวชระเบียนเรียกเก็บเงิน หน่วยบริการ สปสช. ช่วงปี 58-62 พบปัญหาไม่ถูกต้องกว่า 4.8 แสน จากยอดรวม 1,036,659 ฉบับ ต้องเรียกคืนเงินจาก 1,960.89 ล้าน จ่ายชดเชยเงินเพิ่มอีกกว่า 419.62 ล้าน แถมมีธุรกรรมการเบิกจ่ายที่ไม่ผ่านเงื่อนไขการตรวจสอบอีกเพียบ หวั่นกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่ถูกต้องทำให้หน่วยบริการเสียประโยชน์ได้รับค่าบริการ มีผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน จี้หาทางปรับปรุงแก้ไขปัญหานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า จากข้อมูลผลการสุ่มตรวจสอบเวชระเบียนซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการหลังการเบิกจ่าย (Post-audit)
พบว่า สปสช. ดำเนินการตรวจสอบเวชระเบียนตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558–2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,036,659 ฉบับ หรือโดยเฉลี่ย 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 3.20 ของจำนวนเวชระเบียนทั้งหมดที่หน่วยบริการขอเบิกจ่ายค่าบริการ พบหน่วยบริการบันทึกเวชระเบียนไม่ถูกต้อง จำนวน 489,635 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.23 ของจำนวนเวชระเบียนที่ตรวจสอบทั้งหมด
เมื่อพิจารณาผลการตรวจสอบเวชระเบียนรายปี พบความไม่ถูกต้องของการบันทึกเวชระเบียนของหน่วยบริการทุกปีและหน่วยบริการแห่งเดิมมีความถี่ในการบันทึกเวชระเบียนไม่ถูกต้องทั้ง 5 ปีงบประมาณ การบันทึกเวชระเบียนไม่ถูกต้องส่งผลให้มีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง และ สปสช. ต้องเรียกเงินคืนจากหน่วยบริการจำนวน 1,960.89 ล้านบาท และจ่ายชดเชยเงินเพิ่มจำนวน 419.62 ล้านบาท
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาข้อมูลผลการตรวจสอบการขอเบิกค่าบริการก่อนการเบิกจ่ายเงินให้หน่วยบริการ (Pre-audit) พบว่า มีธุรกรรมการเบิกจ่ายที่ไม่ผ่านเงื่อนไขการตรวจสอบ จำนวน 406,303 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.04 ของจำนวนธุรกรรมที่ขอเบิกจ่ายทั้งหมดและจำนวนเงิน 2,128.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.34 ของจำนวนเงินที่ขอเบิกจ่ายทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นไปอย่างไม่ถูกต้องและทำให้หน่วยบริการเสียประโยชน์การได้รับค่าบริการ ซึ่งอาจส่งผล กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของหน่วยบริการ
ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเวชระเบียน และการกำหนดเงื่อนไขตรวจสอบการเบิกจ่ายผ่านระบบ e-Claim (Pre-audit) ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
เบื้องต้น ผู้ว่าฯ สตง. มีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการ สปสช. พิจารณาดำเนินการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเวชระเบียนซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข รวมทั้งหามาตรการร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยบริการ เพื่อให้หน่วยบริการขอเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้ถูกต้องตามเงื่อนไขการจ่ายชดเชยหรือหลักเกณฑ์ประกาศของสปสช. เช่น กำหนดให้มีการสอบทานข้อมูลก่อนการบันทึกขอเบิกจ่ายในระบบ e-Claim เพื่อให้การเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของการตรวจสอบก่อนการเบิกจ่าย (Pre-audit) ให้ ครอบคลุมเพียงพอที่จะตรวจพบข้อผิดพลาดที่มีสาระสำคัญหรือมีความถี่สูง โดยควรนำข้อผิดพลาด บกพร่องที่พบจากการตรวจสอบเวชระเบียนซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานการขอเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อบริการ สาธารณสุขหลังการเบิกจ่าย (Post-audit) มากำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมในการตรวจสอบก่อนการ เบิกจ่าย รวมทั้งพิจารณานำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบก่อนการเบิกจ่าย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบก่อนการเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage