"..ถ้าเอาขยะทั้งหมดรวมกัน ก็จะกลายเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ยิ่งรวมกัน ก็จะยิ่งปนเปื้อน ความเสี่ยงกระจายของเชื้อก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ปริมาณขยะติดเชื้อ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งระบบการรองรับของ กทม. ก็มีไม่เพียงพอในการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีปริมาณมากๆ ได้ขนาดนั้น.."
--------------------------------------------------
'มูลฝอยติดเชื้อ' นิยามตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 หมายความว่า มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความเข้มข้นซึ่งถ้ามีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดโรคได้
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดได้กระจายในทุกจังหวัด ส่งผลให้เกิดขยะติดเชื้อเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทั้งจากการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม 1,115 แห่ง ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) 4,700 แห่ง การแยกกักที่บ้าน (HI) 57,325 ราย (ข้อมูลวันที่ 28 ส.ค.2564) และสถานที่อื่นๆ
จากแหล่งกำเนิดที่มีมากขึ้นทำให้ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ในปีที่ผ่านมามีมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้นประมาณปีละ 50,000 ตัน แต่ในปี 2564 ตั้งแต่เดือน ม.ค.- ก.ค. 2564 มีมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้นแล้ว 40,228.65 ตัน จากระบบรายงานข้อมูลของสถานที่รับกำจัดขยะติดเชื้อหลักของประเทศ 14 แห่ง พบว่า เดือน ก.ค. 2564 มีขยะติดเชื้อเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 336 ตัน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 94% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และในปี 2564 ช่วงเดือน ก.ค.มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้น 294 ตัน/วัน เดือน ส.ค. ประมาณ 370.87 ตัน/วัน และเดือน ก.ย. 2564 443.60 ตัน/วัน แนวโน้มขยะติดเชื้อจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่เพียงพอที่จะกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้น
ทำให้เกิดปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อ ตั้งแต่ปัญหาการสะสมตกค้าง ณ แหล่งกำเนิด กระบวนการเก็บขน โดยเฉพาะสถานที่รับกำจัดขยะติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันของประเทศ ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้ ทำให้มีปริมาณขยะติดเชื้อสะสมรอการกำจัด ณ สถานที่รับกำจัดเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสำรวจวันที่ 20 ส.ค.2564 มีตกค้าง 5 แห่ง รวมขยะติดเชื้อที่ตกค้าง ณ แหล่งกำจัด ประมาณ 1,500 ตัน ซึ่งสถานที่รับกำจัดขยะติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันของประเทศ ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้ ทำให้มีปริมาณขยะติดเชื้อตกค้างรอการกำจัด ณ สถานที่รับกำจัดเป็นจำนวนมาก
ศักยภาพรวม 14 แห่ง กำจัดได้ 278 ตัน/วัน
ปัจจุบัน รูปแบบการกำจัดขยะของประเทศไทย มี 2 รูปแบบ คือ 1) การกำจัดขยะติดเชื้อเป็นศูนย์รวม และ 2) การกำจัดขยะติดเชื้อด้วยตนเอง ณ แหล่งกำเนิด (Onsite treatment) โดยวิธีการหรือเทคโนโลยีการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยมีหลายเทคโนโลยี
สำหรับการกำจัดขยะติดเชื้อ เป็นศูนย์รวม มีองค์กรหรือหน่วยงานที่รับทำการกำจัดขยะติดเชื้อในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 14 แห่ง มีศักยภาพในการกำจัดขยะติดเชื้อในภาพรวม 278 ตัน/วัน (ข้อมูลปี 2563) ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการกำจัดโดยการเผาในเตาเผา สำหรับวิธีการกำจัดโดยใช้วิธีทำลายเชื้อด้วยไอน้ำมีใช้ในบางแห่ง สำหรับรูปแบบการกำจัดขยะติดเชื้อด้วยตนเอง ณ แหล่งกำเนิด (Onsite treatment) มีจำนวน 27 แห่ง เป็นเทคโนโลยีการเผาในเตาเผา จำนวน 15 แห่ง และเทคโนโลยีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ (Autoclave) จำนวน 12 แห่ง
เปลี่ยนขยะ เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาโรงงานชั่วคราว
กรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือยกระดับในการควบคุม กำกับ ดูแลราชการส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขรวมทั้ง ได้จัดทำมาตรการ และแนวทางบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม กรมอนามัย ได้มีการหารือและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และเพื่อขอยกเว้นเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ในกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถรับขยะติดเชื้อมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานได้เป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน รวมถึงประสานสถานประกอบกิจการโรงงานเป้าหมายเพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินการในระยะเร่งด่วน
ส่วนกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ได้กำหนดมาตรการจัดการขยะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการขยะติดเชื้อตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
กทม.ขยะติดเชื้อมากถึง 62 ตัน/วัน ในเดือน ส.ค.
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขยะติดเชื้อมีมานานแล้ว แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไป จากโรงพยาบาล สถานสาธารณสุขต่างๆ และขยะติดเชื้อเฉพาะโควิด-19
สถิติเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีขยะติดเชื้อประมาณ 61 ตัน/วัน แบ่ง เป็นขยะติดเชื้อทั่วไป 45 ตัน และขยะติดเชื้อเฉพาะโควิด-19 ประมาณ 15 ตัน ต่อมาหลังจากการระบาดในระลอกเดือน เม.ย. ขยะติดเชื้อเฉพาะโควิด-19 ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น ในเดือน พ.ค. มีจำนวน 23 ตัน/วัน เดือน มิ.ย. 30 ตัน/วัน เดือน ก.ค. 39 ตัน/วัน และในเดือน ส.ค. ประมาณ 62 ตัน/วัน
อย่าทิ้งขยะไว้นอกบ้าน ป้องกันแพร่กระจายเชื้อ
นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการแยกกักตัวที่บ้าน (HI) สำนักอนามัย กทม. จะรับผิดชอบหน้าที่เข้าไปดูแลเกี่ยวกับเรื่องการรักษาตัว โดยมอบชุดอุปกรณ์การรักษาตัวที่บ้าน เช่น ที่วัดอุณหภูมิ ยา รวมถึงถุงขยะสีแดงเพื่อแยกทิ้งขยะติดเชื้อ โดยฝ่ายรักษาความสะอาดของสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่จะรับผิดชอบในการจัดเก็บขยะในพื้นที่ ตามรอบการจัดเก็บเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน (HI) จะมีชุดเฉพาะกิจเข้ามาจัดเก็บเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อ
"ทุกบ้าน ไม่เฉพาะบ้านที่ทำ HI ไม่ควรนำขยะออกมาวางไว้ข้างนอก เพราะว่าอาจจะคนจะมารื้อแยกไปขาย โดยไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ รวมถึงหมาแมวที่มาคุ้ยเขี่ยด้วย"
เมื่อจัดเก็บมาแล้ว จะนำมาเก็บไว้ที่ศูนย์พักขยะ และทางบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ที่จัดจ้างสำหรีบดูแลกำจัดขยะติดเชื้อ จะรับและนำไปกำจัดที่ศูนย์จัดการขยะอ่อนนุชและหนองแขมต่อไป
"ส่วนข้อกังวล คือ ประชาชนบางส่วนยังไม่แยกขยะติดเชื้อ ออกจากขยะทั่วไป ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่จัดเก็บ เพราะทุกวันนี้มีทั้งขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อและขยะอาจจะติดเชื้อก็ได้"
นายวิรัตน์ กล่าวเน้นย้ำว่า จึงพยายามรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะระหว่างขยะทั่วไปและขยะเสี่ยงติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย รวมถึงชุดตรวจ ATK
โดยมัดปากถุงให้แน่นมิดชิด และทำสัญลักษณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บจะได้แยกนำไปกำจัดให้ถูกต้อง ซึ่งในบางพื้นที่ พบว่าไม่แยกขยะ ทำให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บจะต้องแยกขยะเอง เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
"ส่วนบ้านที่เข้าระบบแล้ว สำนักงานเขตรับรู้แล้วว่าทำการรักษาแบบ HI ก็จะทราบล่วง และประสานทีมจัดเก็บเลย สำหรับบ้านที่ทำ HI หากยังไม่เข้าระบบ ให้แจ้งสำนักงานเขตให้เข้ามาจัดเก็บ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ"
เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ หนึ่งในด่านหน้า
นายวิรัตน์ กล่าวถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะว่า นอกจากอุปกรณ์ป้องกันในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ได้มีการประสานดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ คาดว่าได้รับครบแล้ว 100% และกำลังประสานสำหรับการฉีดวัคซีนกระตุ้น เข็มที่ 3 เนื่องจากถือว่าเป็นด่านหน้าในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน รวมถึงการทำประกันชีวิตและประกันการติดเชื้อ เพื่อเป็นสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหน้าที่ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่งดการคัดแยกขยะทุกประเภทจากครัวเรือนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
สร้างจิตสำนึก แยกขยะแต่ต้นทาง
นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บขยะติดเชื้อที่ศูนย์พักคอย (CI) โดยหลักแล้ว จะมีการดำเนินเข้าไปจัดเก็บทุกวัน บางแห่งก็วันเว้นวัน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่เข้าพักที่ศูนย์พักคอยมีจำนวนลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่นิยมรักษาตัวที่บ้าน (HI) มากกว่า
สำหรับศูนย์พักคอยที่เป็นจุดเริ่มต้นในการวางแนวทางการจัดเก็บและแยกขยะให้กับศูนย์พักคอยต่างๆ ในพื้นที่ 50 เขตของ กทม. คือ 'ศูนย์พักคอยโรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา' โดยได้พัฒนาแนวทางการทิ้งขยะแยกประเภทในศูนย์พักคอยโดยสื่อสารกับผู้ป่วยในศูนย์พักคอยให้แยกขยะให้ถูกถัง โดยผู้ป่วยเป็นจิตอาสาในการดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณถังขยะไม่ให้ทิ้งเรี่ยราด และสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่จัดเก็บแยกประเภทเพื่อนำไปจัดการแยกประเภทที่ชัดเจน โดยมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งในขั้นตอนการทิ้ง การเก็บตั้งแต่ก่อนเก็บ ระหว่างเก็บ และหลังเก็บ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมนำมาพัฒนาเป็นแนวทางให้ 50 เขตดำเนินการแล้ว
ศูนย์พักคอยน่าอยู่ ผู้ติดเชื้อต้องช่วยกัน
น.ส.อรชา มุ้ยเสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตยานนาวา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถิติขยะติดเชื้อของ กทม. ที่มีปริมาณมากขึ้น จนระบบการจำกัดน่าจะไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด สำนักงานเขตยานนา ได้พัฒนาแนวทางการจัดการขยะ ภายใต้หลักแนวคิดการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัส คือ การแยกระหว่างขยะติดเชื้อ คือ ขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง เช่น กระดาษทิชชู หน้ากากอนามัย ATK และขยะทั่วไป เช่น กล่องอาหาร ถ้วยโฟม ถุงพลาสติก ซองขนมเศษอาหาร ส่วนขยะรีไวเคิล เช่น ขวดน้ำ กระป๋องเครื่องดื่ม
"ถ้าเอาขยะทั้งหมดรวมกัน ก็จะกลายเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ยิ่งรวมกัน ก็จะยิ่งปนเปื้อน ความเสี่ยงกระจายของเชื้อก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ปริมาณขยะติดเชื้อ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งระบบการรองรับของ กทม. ก็มีไม่เพียงพอในการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีปริมาณมากๆ ได้ขนาดนั้น"
สำนักงานเขตยานนาวา จึงได้วางแนวทางการทิ้งขยะแยกประเภทในศูนย์พักคอย ผ่านการประชาสัมพันธ์สื่อสารกับผู้ป่วย ที่ผ่านมาผู้ป่วยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะก่อนทิ้ง หรือการทำ Big Cleaning Day
น.ส.อรชา กล่าวว่า เนื่องจากผู้ติดเชื้อจะต้องพักอาศัยอยู่ในศูนย์พักคอย ระยะเวลา 10-14 วัน การอยู่แบบมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถพาคนนอกที่ไม่ป่วยเข้ามาดูแลได้ ฉะนั้นคนที่อยู่จะต้องช่วยกันดูแล ทั้งนี้ ทางสำนักงานเขตจะจัดเตรียมอุปกรณ์ ถึงขยะต่างๆ ไว้ให้ รวมถึงน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ และเน้นย้ำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งในขั้นตอนก่อนและหลังทิ้งขยะ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่จัดเก็บด้วย
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บจะต้องมีการสวมชุด PPE ป้องกัน ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งในขั้นตอนการทิ้ง การเก็บตั้งแต่ก่อนเก็บ ระหว่างเก็บ และหลังเก็บ และแยกประเภทรถสำหรับการจัดเก็บขยะแต่ละประเภทด้วย โดยใช้รถขยะประเภทรถยก เพื่อลดการสัมผัส
"ระยะเวลาในการเข้าไปจัดเก็บขยะในศูนย์พักคอย จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยที่เข้าพัก ในช่วงแรกจะเป็นการเก็บวันเว้นวัน เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่จัดเก็บเช่นกัน"
เข้าจัดเก็บหลังกักตัวที่บ้านครบกำหนด
น.ส.อรชา กล่าวถึงการจัดเก็บขยะสำหรับผู้ป่วยที่ทำการแยกกักตัวที่บ้าน (HI) ว่า ศูนย์บริการสาธารณสุขของพื้นที่ จะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย และเมื่อผู้ป่วยกักตัวครบตามกำหนดเวลาและรักษาหายแล้ว ศูนย์บริการสาธารณสุขจะดำเนินการแจ้งมายังฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักเขตเพื่อเข้าไปจัดเก็บขยะ โดยทำการหลักการเดียวกันกับศูนย์พักคอย คือ จะต้องมีการแยกขยะ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อจริงๆ
ส่วนระยะเวลาในการเข้าจัดเก็บ น.ส.อรชา กล่าวว่า จะขึ้นอยู่กับศูนย์บริการสาธารณสุขแจ้งเข้ามา จะไม่มีการให้ข้อมูลแก่ทางฝ่ายรักษาความสะอาดว่าบ้านหลังไหนบ้างที่ป่วยในช่วงแรก เพราะถือว่าเป็นความลับของผู้ป่วย และเมื่อครบระยะเวลา จะได้รับแจ้งให้เข้าไปดำเนินการจัดเก็บ
ทั้งหมดนี้ คือสถานการณ์ขยะติดเชื้อในประเทศไทย และแนวทางการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของศูนย์พักคอยยานนาวา ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับศูนย์พักคอยอื่นๆ ทั้งนี้ประชาชนในสังคมจะต้องช่วยกันและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด ด้วยการแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน เพื่อการกำจัดที่ถูกต้องต่อไป
อ่านประกอบ:
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage