"...ในตามระเบียบที่ว่าด้วยการทิ้งขยะติดเชื้อ จะให้ใช้ถุงสีแดงในการเก็บขยะติดเชื้อ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ เราพยายามใช้ถุงสีแดง แต่ถ้าหาถุงไม่ได้ ก็ให้นำปากกาเมจิก เขียนให้ชัดว่าเป็นขยะติดเชื้อ คนเก็บจะต้องเห็น ไม่ว่าจะเป็น กทม.หรือท้องถิ่น เมื่อมาเก็บ ก็จะแยก แล้วเข้าสู่กระบวนการเผาทำลาย ขยะติดเชื้อก็จะไม่มาปะปนกับขยะทั่วไป แล้วก็จะไม่มีโอกาสหลุดลอดออกไปสู่ธรรมชาติ บางทีอาจจะมีลมพัดปลิว ตกลงน้ำได้ เพราะฉะนั้น อยากให้ขยะติดเชื้ออยู่รวมกัน แล้วก็ทิ้งรวมกัน สำหรับชุดตรวจโควิดก็เช่นกัน เพราะต้องสัมผัสน้ำคัดหลั่ง เป็นขยะอาจจะที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นก็ควรจะแพ็คให้เรียบร้อย รัดให้เรียบร้อยก่อนทิ้ง..."
-----------------------------------
สถานการณ์การแพร่ะระบาดของโควิดที่ปะทุขึ้นในระลอกล่าสุด มีแนวโน้มความรุนแรงที่น่ากลัวมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม แต่เชื้อไวรัสเอง ก็มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อหลีกหนีภูมิต้านทานที่มนุษย์สร้างขึ้น การป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือฆ่าเชื้อยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าการ์ดห้ามตก
แต่อีกปัญหาที่ต้องเตรียมการรับมืออย่างดี และไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ ก็คือ ปัญหา 'ขยะติดเชื้อ' ที่มีมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือสิ่งต่างๆ ที่อาจจะปนเปื้อนสารคัดหลั่งในร่างการ รวมถึงชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen Test Kit) ที่องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เมื่อเร็วๆ นี้นั้น การที่ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจโควิดมาใช้เองได้ เหมือนเช่นเดียวกันหน้ากากอนามัยนั้น อาจส่งผลให้ขยะติดเชื้อจากครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น
@ โควิดระบาด ขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40.9 ตันต่อวัน
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2564 ถือได้ว่าเป็น 'วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย' นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2564 กล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ภายใต้หัวข้ออนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสุขภาพอนามัยและปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปริมาณมูลฝอยทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ เกิดจากการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล การกักกันผู้ติดเชื้อ รวมถึงมูลฝอยจากการให้บริการฉีดวัคซีน ในช่วงเดือน ม.ค-เม.ย. 2564 พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40.9 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 29.7 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียวพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 178 ตันต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในปี 2563 มีประชากรกลุ่มเสี่ยงถึง 15 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด มีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยงสุขภาพของประชาชนจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความร่วมมือและบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
@ ขยะติดเชื้อปี 64 รวมกว่า 3.17 หมื่นตัน
ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้มีมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่เดือน ม.ค.- มิ.ย.2564 รวมทั้งหมด 31,709.84 ตัน เฉพาะในเดือน มิ.ย.เพียงเดือนเดียว พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการประชุมหารือในระดับกระทรวงสาธารณสุขต่อนโยบายที่ให้มีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) นั้น อาจส่งผลทำให้มีการเพิ่มมูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) เป็นต้น รวมถึงชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง ซึ่งถือว่า เป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีการแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
@ วิธีทิ้งชุดตรวจโควิด
สำหรับประชาชนที่มีการใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง ขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยมีแนวทางการจัดการ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีในพื้นที่หรือชุมชนมีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ
ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน โดยใส่ถุงขยะ (ถุงแดง) 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสมูลฝอยติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วมัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจากการแยกกักตัวที่บ้าน และในชุมชนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
2. กรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ
ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง สำหรับมูลฝอยที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป ทั้งนี้ ภายหลังจัดการมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที
@ ตัวเลขนำเข้า-ผลิตสูงมากขึ้น ยอดขยะก็พุ่งสูงตาม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พูดคุยกับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงสถานการณ์ขยะติดเชื้อในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่า คำว่า 'ขยะติดเชื้อ' มี 2 ลักษณะ คือ ขยะติดเชื้อภายใต้ กฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกําจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 มีคำจัดกัดความว่า 'มูลฝอยติดเชื้อ' หมายความว่า มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความเข้มข้น ซึ่งถ้ามีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้ว สามารถทําให้เกิดโรคได้ ที่เกิดขึ้นหรือใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล การให้ภูมิคุ้มกันโรคและการทดลองเกี่ยวกับโรค และการตรวจชันสูตรศพหรือซากสัตว์รวมทั้งในการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวให้ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ
จากสถานการ์ในปัจจุบัน 'ขยะติดเชื้อ' มีบางส่วนที่อยู่นอกเหนือคำจำกัดความที่ระบุไว้แล้ว เช่น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว สำลีที่ใช้แล้ว คอตตอนบัดที่ใช้แล้ว ซึ่งถ้ายึดตามนิยามของกฎกระทรวงถือว่าไม่ได้ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ แต่ในช่วงของโรคระบาด ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ เนื่องจากเป็นขยะที่มีความเสี่ยงที่จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีการควบคุม
"ปี 2563 ที่ผ่านมา มีหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วรวมกวา 42 ตัน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขของเดือน เม.ษ.2564 จะพบว่าจำนวนขยะต่อเดือนสูงกว่า ตอนนี้มีประมาณ 17 ตัน จะเห็นว่าในปี 2564 มีมากกว่าปี 2563 เยอะ และตัวเลขก็ขยับมากขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น ปริมาณการนำเข้าสูงขึ้น รวมถึงการนำเข้าที่สูงขึ้นเช่นกัน เมื่อปีที่แล้ว ยอดนำเข้าอยู่ที่ 294 ตัน ขณะที่ยอดถึงเดือน เม.ย.ปีนี้ อยู่ที่ 178 ตัน" นายอรรถพลกล่าว
@ ปลายทางขยะติดเชื้อคือการเผา
นายอรรถพล เปิดเผยว่า ในส่วนขยะติดเชื้อของทางสาธารณสุขนั้น มีมาตรการการจัดการและทำลายอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่อยู่ในส่วนของโรงพยาบาล หรือสถานอนามัย หรือสาธารณสุขต่างๆ โดยปลายทางการจัดการทำลายคือ การเผา
สำหรับขยะติดเชื้อในชุมชน หรือขยะในครัวเรือนของประชาชน ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในส่วนนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ทำงานประสานร่วมกับ กทม. และส่วนบริหารในท้องถิ่น เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และมีหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บขยะต่างๆ โดยทางกรมฯ ไม่มีการประชุม พูดคุย และขอความร่วมมือให้คัดแยกขยะทั่วไป รวมถึงการคัดแยกเฉพาะ สำหรับขยะที่มีโอกาสเสี่ยงจะแพร่กระจายหรือติดเชื้อด้วย
"ในตามระเบียบที่ว่าด้วยการทิ้งขยะติดเชื้อ จะให้ใช้ถุงสีแดงในการเก็บขยะติดเชื้อ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ เราพยายามใช้ถุงสีแดง แต่ถ้าหาถุงไม่ได้ ก็ให้นำปากกาเมจิก เขียนให้ชัดว่าเป็นขยะติดเชื้อ คนเก็บจะต้องเห็น ไม่ว่าจะเป็น กทม.หรือท้องถิ่น เมื่อมาเก็บ ก็จะแยก แล้วเข้าสู่กระบวนการเผาทำลาย ขยะติดเชื้อก็จะไม่มาปะปนกับขยะทั่วไป แล้วก็จะไม่มีโอกาสหลุดลอดออกไปสู่ธรรมชาติ บางทีอาจจะมีลมพัดปลิว ตกลงน้ำได้ เพราะฉะนั้น อยากให้ขยะติดเชื้ออยู่รวมกัน แล้วก็ทิ้งรวมกัน สำหรับชุดตรวจโควิดก็เช่นกัน เพราะต้องสัมผัสน้ำคัดหลั่ง เป็นขยะอาจจะที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นก็ควรจะแพ็คให้เรียบร้อย รัดให้เรียบร้อยก่อนทิ้ง" นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การแยกขยะ สิ่งจำเป็นที่ประชาชนทุกบ้านจะต้องทำคือการแยกขยะติดเชื้อ จากขยะทั่วไป อาจจะมีถังแยกหรือถุงแยกขยะติดเชื้อสำหรับการทิ้งรวมกัน และนำไปทิ้งภายใน 1-2 วัน โดยก่อนทิ้งจะต้องมีการปิดถุงให้มิดชิดและทำสัญลักษณ์เพื่อบอกให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกด้วย
@ กทม.แนะทิ้งชุดตรวจ-หน้ากากอนามัยรวมกันได้เลย
ด้าน นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้วางแนวทางการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของผู้ติดเชื้อที่ต้องกักตัวที่บ้าน รวมถึงผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้คำแนะนำและขอความร่วมมือคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อออกจากมูลฝอยทั่วไป รวมถึงรณรงค์เน้นย้ำและขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีมาตลอด โดยนำขยะติดเชื้อใส่ถุง ซ้อน 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวบรวมและแยกไว้ ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับชุดตรวจโควิด ก็จะต้องใช้วิธีเดียวกับการทิ้งหน้ากากอนามัย แต่ไม่ต้องแยกถุง ให้ใส่ถุงเดียวกันกับหน้ากากอนามัยได้เลย และเขียนระบุให้ชัดเจนว่าคือ 'ขยะติดเชื้อ' เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้แยกไปทำลายต่างหาก
"ชุดตรวจโควิดสามารถดำเนินการได้เหมือนกับหน้ากากอนามัย มีการรวมกันใส่ถุงให้ชัดเจน เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็จะไปจัดเก็บเหมือนเดิม ไม่อยากให้เป็นภาระประชาชนว่าจะต้องไปแยกว่าถุงนี้คือหน้ากากอนามัย ถุงนี้คือชุดตรวจ จริงๆ คือก็นำไปทำลายเหมือนกัน ก็สามารถรวมกันในถุงเดียวได้ ไม่ต้องไปแยก" นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจะต้องตีความก่อนว่า หน้ากากอนามัยหรือชุดตรวจโควิดที่มาจากบ้านเรือนของประชาชน อาจจะไม่มีเชื้อก็ได้ แต่เพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยง ก็ต้องแยกทิ้ง มัดปากถุงให้มิดชิด ซ้อนถุงสองชั้นเพื่อแยกไปทำลาย เนื่องจากบุคคลที่ทำการตรวจเชื้อ จะต้องแจ้งผลไปยังเขตหรือสำนักอนามัยอยู่ว่าตัวเองได้รับเชื้อหรือไม่ และหากว่าพบการติดเชื้อ ทาง กทม.ก็จะมีทีมเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ สวมชุดพีพีอี สำหรับจัดเก็บและทำความสะอาดบ้านผู้ติดเชื้อ
"ชุดตรวจเอง ก็ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อเช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยที่อาจจะปนเปื้นน้ำลาย น้ำมูก มีโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้ แม้ว่าคนๆ นั้นอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ในเบื้องต้น เราจะต้องตีความก่อนว่า หน้ากากอนามัยที่มาจากบ้านคน อาจจะไม่มีเชื้อก็ได้ ถ้าคนนั้นเขาไม่ได้ติดเชื้อมา เหมือนกับชุดตรวจ แต่เพื่อป้องกันก็ต้องมัดปากถุง ซ้อนถุงสองชั้นเหมือนกัน" นายวิรัตน์กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ขยะติดเชื้อที่เป็นอีกผลพวกจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ที่เราไม่ควรจะปล่อยปะละ ไม่เช่นนั้นขยะจะไม่ใช่เพียงแค่ขยะอีกต่อไป แต่จะเป็นปัญหาที่ตามมาหลังจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นก็เป็นได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage