“...เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่ ก.อ. มีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวพิจารณานั้น ตามข้อเท็จจริงหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฉบับแรกเมื่อ 15 ก.พ. 2563 เพื่อขอให้สำนักงาน อสส. และ ก.อ. ยืนยันความเหมาะสม ซึ่ง ก.อ. ได้ยืนยันไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 แต่ในหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฉบับที่สอง ระบุว่าให้ อสส. ยืนยันความเหมาะสม มิได้ระบุให้ ก.อ. ยืนยันแต่อย่างใด ดังนั้น อสส. ควรตอบกลับไป ตามที่ ก.อ. ได้ประชุมและถกแถลงกันครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว…”
...............................................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกมาอย่างต่อเนื่อง กรณีคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงาน อสส.) รายของนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม โดยการประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 เห็นชอบแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ มีผลย้อนหลังเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือตอบกลับไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า ขอให้ยืนยันความเหมาะสมในการแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ต่อมา อสส. (นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ก.อ. พิจารณา กระทั่งในการประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ก.อ. มีมติไม่รับพิจารณายืนยันความไม่เหมาะสม เนื่องจากเคยมีมติไปแล้ว และเป็นอำนาจของ อสส. ในการทำเรื่องเสนอกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯอีกครั้งนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อเท็จจริงเบื้องลึก-ฉากหลังกรณีดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ที่มาที่ไปกรณีดังกล่าว ในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 เห็นชอบแต่งตั้งนายเนตร นาคสุข ดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส โดยขณะนั้นยังไม่ได้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นคดีกล่าวหาไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ต่อมา ก.อ. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นนายเนตร เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 หลังจกนั้นไม่ปรากฏว่ามีการเสนอเรื่องให้ ก.อ. พิจารณาทบทวนแต่งตั้งนายเนตรแต่อย่างใด
ส่วนกรณีนายปรเมศวร์ ก.อ. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ แต่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดคดีเมาแล้วขับรถชนบุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ (ขณะนั้นศาลยังไม่มีคำพิพากษา)
โดยทั้ง 2 กรณี อสส. ได้นำเสนอรายชื่อการแต่งตั้งข้าราชการทั้งหมดรวมกรณีนายเนตร และนายปรเมศวร์ เสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
อย่างไรก็ดีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือฉบับแรก ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 ตีกลับมายัง อสส. ว่า การแต่งตั้งนายเนตรให้ดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส สามารถทำได้แม้จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น เช่นเดียวกับนายปรเมศวร์ เนื่องจากคดีอาญาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด แต่ตำแหน่งอัยการอาวุโส และตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ เป็นตำแหน่งสำคัญต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และสำนักงานองคมนตรีได้ให้ความสำคัญ และแสดงความห่วงใยกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงยังมิได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาในเรื่องดังกล่าว
ประกอบกับข้อเท็จจริงว่าสำนักงาน อสส. ยังมิได้นำเสนอเรื่องนี้ให้ ก.อ. พิจารณาความสมบูรณ์ ถูกต้อง และเหมาสมอีกครั้งหนึ่งตามที่สำนักงานองคมนตรีร้องขอ ดังนั้นจึงขอให้สำนักงาน อสส. นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ ก.อ. โดยรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย และโปรดแจ้งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 อสส. ไม่นำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ ก.อ.พิจารณา แต่กลับมีหนังสือตอบกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้ทูลเกล้าฯเสนอชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการรวม 973 ราย ยกเว้นชื่อของนายเนตร และนายปรเมศวร์ โดยอ้างว่า การเสนอชื่อดังกล่าวเป็นอำนาจฝ่ายบริหารคือ อสส. ทั้งที่มีการประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 (สมัยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง เป็นประธาน ก.อ.) แต่ อสส. กลับไม่นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ก.อ. แต่กลับนำเสนอเป็นเรื่องเพื่อให้ ก.อ. รับทราบเท่านั้น
ในการเสนอเรื่องเข้าสู่ ก.อ. เพื่อทราบข้างต้นนั้น อสส. พิจารณาข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ระบุว่า ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 บัญญัติให้ อสส. เสนอชื่อผู้จะได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการอาวุโสต่อ ก.อ. เพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อได้ความเห็นชอบแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่ไม่ได้กำหนดให้ ก.อ. มีอำนาจนำพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น กรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสแต่อย่างใด ทั้งนี้ ก.อ.ไม่อาจที่จะไม่แต่งตั้งนายเนตร ให้ไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส เพราะถ้าจะไม่แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะต้องพ้นจากราชการ โดยการพ้นจากตำแหน่งข้าราชการอัยการ ขณะที่กรณีนายเนตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นยังไม่แล้วเสร็จ ไม่จำเป็นต้องรอผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการทางวินัยให้เป็นที่ยุติอย่างชัดเจนแต่อย่างใด เนื่องจากผลการพิจารณาดังกล่าวไม่ว่าออกมาเป็นอย่างไร นายเนตรย่อมได้รับผลทางวินัยไปตามนั้น ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของกฎหมายที่บังคับให้นายเนตร ต้องพ้นจากตำแหน่งรอง อสส. เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 และไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563
ส่วนกรณีนายปรเมศวร์ ความคืบหน้าคดีดังกล่าวอยู่ระหว่าง อสส. ชี้ขาดคำสั่งฟ้อง เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีความเห็นแย้งไม่ฟ้อง (ความคืบหน้าคดีขณะนั้น) ทั้งนี้การรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื่องจากข้อเท็จจริงของนายเนตร ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น และนายปรเมศวร์ อยู่ระหว่างการพิจารณาชี้ขาด หากต้องรอผลการพิจารณาดังกล่าวให้ยุติ ก่อนจะส่งให้ ก.อ.พิจารณา และส่งเรื่องไปขอนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อาจต้องใช้เวลานาน จะมีผลกระทบกับการแต่งตั้งข้าราชการอัยการที่ ก.อ. มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อีก 973 ราย และมีผลกระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายในวาระเดือน เม.ย. 2564
จึงเสนอ ก.อ. เพื่อโปรดทราบว่า ยังไม่เสนอขอนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายนเนตร และนายปรเมศวร์ จนกว่าจะได้ข้อยุติชัดเจนตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งมา จึงหยิบยกทั้ง 2 รายนี้มาพิจารณาดำเนินการต่อไป และขอถอนเรื่องแต่งตั้งข้าราชการอัยการ และอัยการอาวุโส และขอนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ข้าราชการอัยการ 973 ราย ยกเว้นนายเนตร และนายปรเมศวร์
ต่อมามีการประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 (มีนายพชร ยุติธรรมดำรง เป็นประธาน ก.อ.) ในประเด็นการแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ โดยคดีเมาแล้วขับรถชนคนได้รับบาดเจ็บ คดีถึงที่สุดแล้ว (ศาลจังหวัดนนทบุรี พิพากษาจำคุก 6 เดือน แต่รอลงอาญา 2 ปี) โดย ก.อ. เห็นว่า กรณีนี้มิได้เกิดจากเจตนาชั่วร้ายหรือเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดวินัยเล็กน้อย เป็นการกระทำผิดครั้งแรก ทั้งผู้ถูกกล่าวหารับราชการมานาน ทำคุณความดีไว้มากต่อสำนักงาน อสส. และประเทศชาติ ทั้งให้การรับข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจกับผู้เสียหายแล้ว แม้ความผิดนี้จะผิดอาญาก็ตาม แต่เป็นความผิดอาญาที่หาได้เกิดจากเจตนาอันชั่วร้าย หรือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมและสาธารณชนไม่ จึงเห็นควรให้งดโทษ โดยให้ว่ากล่าวตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการฯ มาตรา 88 วรรคสอง โดย อสส. พิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วย จึงเสนอ ก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งนายปรเมศวร์ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ
โดยในการประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 นายวงศ์สกุล กิตติพรมหวงศ์ อสส. ในฐานะรองประธาน ก.อ. เห็นว่า การสอบสวนดังกล่าวครอบคลุมครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ประกอบกับกรณีนี้มีการพิจารณาในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2563 และ 9/2563 แล้ว
ต่อมามีการลงคะแนนเสียง โดยที่ประชุม ก.อ. มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบว่าการดำเนินการสอบสวนตามคำสั่ง อสส. กรณีนายปรเมศวร์ ครบถ้วนแล้ว และเห็นควรให้งดโทษ โดยว่ากล่าวตักเตือน จำนวน 12 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธาน ก.อ. เห็นว่า เมื่อที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบว่าการกระทำของนายปรเมศวร์ มีเหตุอันควรงดโทษ ให้ว่ากล่าวตักเตือน ประเด็นคือต้องนำชื่อนายปรเมศวร์ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการอัยการหรือไม่
โดยที่ประชุม ก.อ. เสียงส่วนมากพิจารณาแล้วเห็นควรนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายปรเมศวร์ เป็นผู้ตรวจการอัยการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือฉบับที่สอง มาถึงสำนักงาน อสส. ขอให้ยืนยันความเหมาะสมในการแต่งตั้งนายปรเมศวร์อีกครั้ง อย่างไรก็ดี อสส. กลับนำเรื่องไปเสนอเพื่อเข้าที่ประชุม ก.อ. ทั้งที่ ก.อ. ได้พิจารณาครบถ้วนไปแล้วทุกประเด็น ตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 อย่างไรก็ดีที่ประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ไม่รับการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า มติที่ประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 ที่ผานมา ได้พิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ประเด็น 1.เรื่องที่ศาลตัดสินว่าให้รอลงอาญาเป็นความผิดเล็กน้อย และลงโทษว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว 2.เรื่องความเหมาะสม ก.อ.มีมติไปแล้วเช่นกันว่าให้เสนอชื่อทูลเกล้าฯ ดังนั้น ก.อ. จึงไม่รับพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ และเป็นอำนาจของ อสส. ที่จะทำเรื่องเสนอกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป
แหล่งข่าวจากสำนักงาน อสส. ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีนี้ด้วยว่า ในวันที่ประชุม ก.อ. เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่ ก.อ. มีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวพิจารณานั้น ตามข้อเท็จจริงหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฉบับแรกเมื่อ 15 ก.พ. 2563 เพื่อขอให้สำนักงาน อสส. และ ก.อ. ยืนยันความเหมาะสม ซึ่ง ก.อ. ได้ยืนยันไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 แต่ในหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฉบับที่สอง ระบุว่าให้ อสส. ยืนยันความเหมาะสม มิได้ระบุให้ ก.อ. ยืนยันแต่อย่างใด ดังนั้น อสส. ควรตอบกลับไป ตามที่ ก.อ. ได้ประชุมและถกแถลงกันครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังที่มาที่ไปกรณีการแต่งตั้งนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้นเป็นผู้ตรวจการอัยการ โดยมีการตีกลับจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถึง 2 ครั้ง กระทั่งกรณีล่าสุดที่ให้ อสส. ยืนยันความเหมาะสมกลับไปอีกครั้ง
บทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายปรเมศวร์ จาก https://static.thairath.co.th/, ภาพสำนักงาน อสส. จาก https://mpics.mgronline.com/
อ่านประกอบ :
- อสส.โยนให้ ก.อ.ยืนยันความเหมาะสมตั้ง‘ปรเมศวร์’เป็นผู้ตรวจอัยการอีกรอบ
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน :การแต่งตั้งอัยการระดับสูง ฤ จะเป็นเสาหลักปักขี้เลน
- ก.อ.ขีด 31 ก.ค.ต้องสรุปสอบ‘เนตร’-‘ปรเมศวร์’โดนแค่เตือน เตรียมเสนอโปรดเกล้าฯต่อ
- ก่อนไร้ชื่อแต่งตั้ง? คำพิพากษาฉบับเต็มคุก 6 เดือน รอลงโทษ‘ปรเมศวร์’คดีเมา ขับชน
- ไร้ชื่อ‘เนตร-ปรเมศวร์’! ราชกิจจานุเบกษาแพร่แล้วโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 973 อัยการ
- ตัดชื่อ 'เนตร-ปรเมศวร์' ออกจากบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ
- เป็นชั้นความลับ!ปมทูลเกล้าฯ'เนตร-ปรเมศวร์'อสส.ขอแจงเอง-ไม่เกี่ยว ก.อ.
- เป็นเรื่องของผู้ใหญ่! ‘ปรเมศวร์’ปัดแจงปมถูกตีกลับชื่อทูลเกล้าฯตั้งผู้ตรวจการอัยการ
- นัดแล้ว!ก.อ.จัดประชุมวาระพิเศษ 11 ม.ค.หารือกรณีไม่ทูลเกล้าฯ'เนตร-ปรเมศวร์'
- ไม่นำชื่อ 'เนตร-ปรเมศวร์' ขึ้นทูลเกล้าฯ ตีกลับบัญชีแต่งตั้งอัยการให้ ก.อ.ทบทวน
- 'อรรถพล'นัด ก.อ.ถกด่วนปมไม่ทูลเกล้าฯ'เนตร-ปรเมศวร์'โวยไม่มีคนรายงาน
- สนง.องมนตรีส่งกลับ!เบื้องหลังไม่ทูลเกล้าฯ'เนตร-ปรเมศวร์'ก.อ.ถกวาระพิเศษ 11-14 ม.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/