"…การเปิดใช้งานศูนย์รักษาตัวของชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน เราจะรับหน้าที่เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยก่อนส่งต่อยังโรงพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายตั้งแต่กลุ่มสีเหลือง และจะเป็นศูนย์ที่จะรักษาผู้ป่วยสีเขียว โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลสนามอีก เนื่องจากเราได้ประสานทีมแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวทในการให้การรักษา ทีมแพทย์จะจัดให้บริการผ่านทางไลน์กับผู้ป่วยตลอดเวลา จัดชุดยามาให้ และนัดไปเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูผลว่าเชื้อลงปอดหรือไม่ และหายจากอาการป่วยโควิดหรือยัง เรียกได้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้อยู่คนเดียว…"
………………………………………………….
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดที่รุนแรง ทำให้หลายสถานพยาบาลไม่สามารถรับมือได้ไหว แม้จะสามารถขยายเตียงได้ แต่ภาระหน้าที่ที่บุคลากรการแพทย์ต้องดูแลเกินที่จะรับได้ไหวโดยข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา พบมีผู้อยู่ในระบบการรักษาสูงถึง 150,248 ราย เตียงจึงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากทะลุหลักหมื่นมาราว 1 สัปดาห์แล้ว และยังมีแนวโน้มของกราฟที่ยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
กระทั่ง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวยอมรับเมื่อไม่นานมานี้ว่าเตียงไม่พอ หากไม่จำเป็น เราไม่ได้ อยากทำ แต่เพื่อให้ประคับประคองระบบการรักษาพยาบาลให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องให้ทำมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน (Community Isolation)
โดย มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน และชุมชน คือ วิธีหนึ่งในการดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านหรือชุมชนได้
‘ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน’ เป็นหนึ่งในชุมชนที่เคยมีผู้ติดเชื้อ และประสบกับปัญหาการรอเตียง จึงเป็นที่มาในการร่วมมือกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงพยาบาลปิยะเวท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิดขึ้นมาภายในชุมชน (Community Isolation)
(ภาพขณะชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีนประชุมเรื่องการจัดตั้งศูนย์พักคอยและรักษาผู้ป่วยโควิด)
อย่างไรก็ตาม ชุมชนนี้มีการดูแลผู้ป่วยโควิดภายในบ้านและชุมชนอย่างเข้มแข็ง จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์ผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์พักคอยและรักษาผู้ป่วยโควิด และคนภายในชุมชนที่เคยได้รับการดูแลรักษา จนหายจากโรคโควิด มีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้
นายสมยศ สุทธิธรรม รองประธานชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์พักคอยและรักษาผู้ป่วยโควิดว่า เริ่มจากบุคคลอันเป็นที่รัก คือ ครอบครัวประธานชุมชนฯ ติดเชื้อโควิดทั้ง 2 สามีภรรยา ขณะนั้นเราพยายามที่จะประสานหาเตียง แต่ต้องรอเป็นเวลานานจากที่ป่วยเพียงเล็กน้อย กลับมีอาการทรุดลง โดยเฉพาะประธานชุมชนฯ จนถึงตอนนี้ยังรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว
จากนั้นเราได้ยินว่าทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จะจัดอบรมให้ความรู้ในการดูแลและป้องกันผู้ป่วยโควิด โดยมีผู้ให้ความรู้มาจาก สปสช. จึงได้ส่งตัวแทนชุมชนฯ 2 คน ซึ่งก็เป็นเราและตัวแทนชุมชนอีก 1 คน ไปเรียนรู้ด้วยกัน จนสามารถนำความรู้มาจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิดภายในชุมชนได้ (Community Isolation)
อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ติดเชื้อภายในชุมชนทั้งหมด 3 คน ซึ่งไม่นับรวมครอบครัวของประธานชุมชนฯ ทุกคนสมัครใจและมีพื้นที่ในการพักรักษาตัวอยู่ภายในบ้านของตัวเอง ศูนย์พักคอยฯที่เราจะจัดตั้ง จึงยังไม่มีผู้ใช้งาน แต่เราได้เตรียมความพร้อมใช้งานไว้แล้ว หากพบผู้ป่วยก็พร้อมให้ใช้งานได้ทันที โดยเราจะใช้พื้นที่หอประชุมส่วนกลางเป็นที่ตั้ง ซึ่งมีห้องน้ำ ระบบน้ำ และระบบไฟพร้อม และมีการเตรียมการประสานขออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยกรณีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในชุมชน อาทิ ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ หรือออกซิเจน เพื่อรองรับการติดเชื้อภายในชุมชนเรียบร้อยแล้ว
“สำหรับการเปิดใช้งานศูนย์รักษาตัวของชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน เราจะรับหน้าที่เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยก่อนส่งต่อยังโรงพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายตั้งแต่กลุ่มสีเหลือง และจะเป็นศูนย์ที่จะรักษาผู้ป่วยสีเขียว โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลสนามอีก เนื่องจากเราได้ประสานทีมแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวทในการให้การรักษา ทีมแพทย์จะจัดให้บริการผ่านทางไลน์กับผู้ป่วยตลอดเวลา จัดชุดยามาให้ และนัดไปเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูผลว่าเชื้อลงปอดหรือไม่ และหายจากอาการป่วยโควิดหรือยัง เรียกได้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้อยู่คนเดียว” นายสมยศ กล่าว
(นายสมยศ สุทธิธรรม รองประธานชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน)
@ ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาไว ได้ผลดี
การดูแลผู้ป่วยโควิดภายในชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีนนั้น นายสมยศ กล่าวว่า ภายในชุมชนมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 5 คน โดยผู้ติดเชื้อ 2 คนแรกถือเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันมาตั้งศูนย์พักคอยและรักษาผู้ป่วยโควิด ขณะนี้รักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล 1 คน อีก 1 คน หายแล้ว ได้เดินทางกลับมาบ้านแล้ว
“กระทั่งผู้ติดเชื้อรายที่ 3-5 เกือบทั้งหมดมีผลการรักษาจากโครงการที่เราจัดทำขึ้นเป็นอย่างดี ด้วยความสามารถที่เราสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้ไว ทำให้ผู้ป่วยเรามีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมี 1 คนหายแล้ว และอีก 1 คน อยู่ระหว่างการรักษาตัว ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย ส่วนอีก 1 คน เนื่องจากมีโรคประจำตัว ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียสมาชิกไป” นายสมยศ กล่าว
นอกจากนั้น นายสมยศ กล่าวอีกว่า อีก 1 สาเหตุที่ทำให้ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีนได้กลายเป็นชุมชนต้นแบบ เนื่องจากพวกเราอยู่กันเป็นเหมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เราไม่มีการรังเกลียดกัน สมาชิกภายในชุมชนจะคอยทัก คอยถามด้วยเป็นห่วงผู้ป่วยโควิดอยู่ตลอดเวลา ใครออกไปตลาดจะคอยถามไถ่ว่าผู้ป่วยอยากได้อะไรไหมทุกครั้ง บางคนก็ซื้อขนมหรืออาหารวางไว้ตรงตะกร้าหน้าบ้านของผู้ป่วย ซึ่งเป็นตะกร้าที่คนภายในชุมชนเราร่วมกันทำไว้ ผมเชื้อว่าการที่สังคมเราดี ชุมชนดี ผู้ป่วยได้รับกำลังใจและมีความสุขตรงนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโควิดหายได้เร็วและชุมชนประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยโควิด
@ ‘ชุนชนนิมิตใหม่’ ปรับตัวดูแลผู้ป่วยโควิดได้ไว
ขณะที่ ด้าน นางสาวสิรินดา สิงห์โตทอง ผู้ประสานงานสถานการณ์เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน ถือว่าเป็นชุมชนที่ปรับตัวได้ไว โดยในช่วงที่เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้จัดการสอนวิธีการดูแลผู้ป่วย และการสร้างศูนย์พักคอยและรักษามาแล้วด้วยกันถึง 2 ครั้ง รวม 23 ชุมชนที่ได้ส่งตัวแทนเข้ามา ขณะนั้นยังไม่มีชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน แต่เมื่อชุมชนดังกล่าวเจอสมาชิกภายในชุมชนติดโควิด 2 รายแรก จึงเริ่มหาหนทางสร้างศูนย์พักคอยและรักษาผู้ป่วยโควิด เนื่องจากเริ่มเจอรายที่ 3 จนถึง รายที่ 5 แล้ว
ประจวบกับทางเครือข่ายสลัม 4 ภาคกำลังจะจัดการสอนฯ เป็นครั้งที่ 3 เราเห็นว่าผู้ป่วยภายในชุมชนดังกล่าว เริ่มกลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเข้มแล้ว จึงได้สอบถามไปยังชุมชนว่าสนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน และการจัดตั้งศูนย์พักคอยและรักษาผู้ป่วยโควิดหรือไม่ ซึ่งทางชุมชนฯ ได้ตอบรับ ส่งตัวแทน 2 คนเข้ามาเรียนรู้ ก่อนจะนำไปใช้ภายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วจนได้เป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งทางเครือข่ายสลัม 4 ภาคเองได้ทราบ รู้สึกภูมิใจกับชุมชนเป็นอย่างมาก
(นางสาวสิรินดา ผู้ประสานสถานการณ์เครือข่ายสลัม 4 ภาค)
@ เปิดโมเดลการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในชุมชน
โดย โมเดลการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดภายในชุมชนนั้น นางสาวสิรินดา กล่าวว่า จะเริ่มจากผู้นำชุมชน เมื่อทราบผู้นำฯทราบว่าสมาชิกภายในชุมชนติดโควิด จะโทรประสานมายังเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะติดต่อไปยังสมาชิกในชุมชน เพื่อให้กรอกรายละเอียดอาการป่วยส่งไปให้ทีมบุคลากรด่านหน้า ที่ประกอบด้วย ทีมพยาบาลจิตอาสาของชุมชนที่เรียกว่า ทีม CARE และทีมพยาบาลจากโรงพยาบาลปิยะเวท ซึ่งจะทำงานร่วมกัน เพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง พร้อมกับจัดยา อุปกรณ์วัดความดันและวัดไข้ รวมถึงเตรียมจัดหาอาหารให้ครบ 3 มื้อส่งต่อไปให้ผู้ป่วย โดยได้รับความร่วมมือจาก สปสช. ซึ่งผู้ป่วยจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว ทีมบุคลากรด่านหน้าจะคอยสอบถามอาการผ่านทางไลน์ (Line) ทุกวัน และผู้ป่วยสามารถสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรณีที่ผู้ป่วยอาการดี บุคลากรด่านหน้าจะให้จัดรถให้เข้าไปเอ็กซเรย์ปอด 2 ครั้ง ทั้งตอนติดเชื้อและตอนอาการเริ่มดีขึ้นมาก เพื่อตรวจหาว่าเชื้อลงปอดหรือไม่ และหายจากการป่วยแล้วหรือยัง ส่วน กรณีที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทรุดลง ต้องการออกซิเจนด่วน ทีม CARE ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากกว่าฯ จะรีบเข้ามาดูแลเรื่องออกซิเจนให้ และเราทุกคน ทั้งเครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชน และทีมบุคลากรด่านหน้าจะช่วยกันโทร 1669 และ 1330 เพื่อประสานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลให้รวดเร็วที่สุด ยืนยันว่าเราทำงานร่วมกับชุมชนกันอย่างเข้มข้น
(นางธนวรรณ จันทกลม สมาชิกภายในชุมชนนิมิตใหม่)
@ ชี้ได้รับการดูแลจากทุกภาคส่วนอย่างดีด้วยความรัก
ด้าน นางธนวรรณ จันทกลม สมาชิกภายในชุมชนนิมิตใหม่ที่เคยได้รับการดูแลรักษาภายในชุมชนและหายจากการป่วยโควิดแล้ว กล่าวยืนยันอีกเสียงว่า เราได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ตอนแรกจากที่เคยได้ยินว่าการป่วยโรคนี้ เป็นโรคที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตายคนเดียว ตอนที่เพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ ยอมรับว่าเครียด กลัวว่าเราจะต้องตายอยู่คนเดียว แต่หลังจากได้เข้ารับการรักษา ได้เห็นทีมบุคลากรด่านหน้าสอบถามอาการของเราอยู่ตลอด หากมีคำถามสงสัยตรงไหน ก็สามารถสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเรายังได้รับกำลังใจทั้งจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคและเพื่อนสมาชิกภายในชุมชนอยู่ตลอด เวลาใครจะไปตลาดก็จะมีคนโทรหรือทักทายเราแบบไกลๆ อยู่ตลอด บางคนก็ซื้อขนมซื้อข้าวมาฝาก เราจึงรู้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่คิด
“อยากฝากบอกทุกคนไม่ต้องตกใจนะ ต้องเข้มแข็ง กำลังใจเป็นที่ 1 ไม่อยากให้รู้สึกท้อว่าเราจะตายไหม เพราะเคยได้ยินมาว่าโรคนี้เป็นโรคที่ต้องอยู่อย่างโดดเดียว ต้องตายอยู่คนเดียว ตอนแรกเราก็คิดเหมือนกัน พอเรามาเป็น เราได้เจอเพื่อนบ้านทุกคนให้กำลังใจ เราก็ฮึดสู้ เราเข้าใจว่าทุกคนที่ป่วยอยากได้เตียง แต่ในช่วงที่วิกฤตแบบนี้ ก็อยากให้คนไทยทุกคนช่วยกัน ช่วยกันดูแลรักษาตัวเอง ช่วยบุคลากรทางแพทย์” นางธนวรรณ กล่าว
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ชุมชนนิมิตใหม่เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและรักใคร่กลมเกลียวกันเหมือนพี่น้องกันมาก เนื่องจากเราได้ผ่านอะไรมาด้วยกันมากมายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นชุมชน ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี จากที่ไม่มีอะไรเลย จนกลายมาเป็นชุมชนที่มีสมาชิกกว่า 50 คน และไม่เคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง หรือของหายเลยสักครั้ง ส่วนในยามวิกฤตโควิด ไม่มีใครในชุมชนที่ซ้ำเติมหรือรู้สึกรังเกลียดเราเลย รู้สึกรักชุมชนนี้มาก และเชื่อว่าด้วยความรักดังกล่าว จะเป็นความเข้มแข็ง ที่ทำให้ชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิดและป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน ที่กลายมาเป็นชุมชนต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโควิด และการจัดตั้งศูนย์รักษาตัวภายในชุมชน โดยจะเห็นได้ว่าด้วยความรักที่นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบกับการทำงานของภาคีเครือข่าย และบุคลากรด่านหน้าที่ทุ่มเทสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ จึงทำให้ชุมชนนี้ประสบความสำเร็จ เมื่อผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้ไว อาการป่วยหายอย่างรวดเร็ว ประสิทธิผลของการรักษาจึงออกมาดี
อ่านข่าวประกอบ:
สธ.วาง 4 มาตรการใหม่ หวังลดผู้ป่วยใน 2-3 สัปดาห์-สายพันธุ์เดลต้าลาม กทม.กว่าครึ่ง
สธ.เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน-เผยแนวปฏิบัติการกักตัว
แยกของใช้ อยู่ให้ห่างผู้อื่น! ข้อควรปฏิบัติหากป่วยโควิดและต้องกักตัวที่บ้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage