"...การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม กรณีที่ไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ผู้แยกกักตัวหรือกักกันตัวใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1% หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%..."
------------------------------------------------------------------
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ หลังจากหลายพื้นที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ
ซึ่งหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาปรากฏผ่านสื่อ – สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีจำนวนเตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย อีกทั้งยังพบว่าหลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อรอผลตรวจหรือรอรับการช่วยเหลือทางการแพทย์
นอกจากนั้นสถานการณ์ครั้งนี้ ยังส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย หรือทำให้คนในครอบครัวที่อยู่ภายในบ้านเดียวกันต้องเสี่ยงติดเชื้อ กรมอนามัย จึงได้จัดทำคำแนะนำสำหรับ 'ผู้ต้องกักกันตัวที่บ้าน' หรือ Home Quarantine ไว้ดังนี้
1.สังเกตอาการของตนเองเป็นระยะทุกวัน และติดตามผลที่ต้องไปยังโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินดูแลรักษา
2.เฝ้าระวังภาวะพร่องออกซิเจนแบบไม่แสดงอาการจากเชื้อโควิด โดยมีสัญญาณเบื้องต้นของ อาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบากและหอบเหนื่อยง่าย
ทั้งนี้ ถ้ามีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หรือ Pulse oximeter หากตรวจระดับความเข้มข้นของออกซิเจน ในเลือดต่ำกว่าปกติ ในช่วง 70–80% หรือในบางรายอาจจะลดลงต่ำกว่า 50% แสดงว่า มีภาวะพร่องออกซิเจน แบบไม่แสดงอาการ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที โดยโทร 1668 , 1669 หรือ เดินทางเอง ด้วยรถส่วนตัวที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ
3.ไม่ออกไปนอกบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่พบว่าติดเชื้อ หรือเดินทางจากพื้นที่ระบาด หรือวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วย
4.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น โดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ หากจำเป็น ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ไม่คลุกคลีกับเด็ก และผู้สูงอายุ ในบ้านโดยเด็ดขาด
5.สังเกตอาการตัวเอง และวัดไข้ ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับ มีอาการ ทางเดินหายใจ ตาแดง ผื่นแดง ถ่ายเหลวให้รีบไปพบแพทย์
6.ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้นปิดปากถุงให้สนิท
7.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก มีประโยชน์ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ
8.หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในการวางแผนการทำกิจกรรมในช่วง 14 วัน เช่นเรียนตามกำหนดเวลา ดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือ เล่นเกม เรียนรู้ในการทำอาหาร ทำงานช่าง งานฝีมือ
@กักตัวคนเดียว ซักผ้าเอง – สั่งอาหารควรจ่ายเงินออนไลน์
สำหรับกรณีผู้ที่ต้องกักตัวคนเดียว มีคำแนะนำให้ปฏิบัติตัว คือ ให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งที่พัก ของใช้ส่วนตัว แต่งดให้ผู้อื่นเข้ามาในที่พักในช่วงแยกกักตัวหรือกักกันตัว เว้นแต่จำเป็น
ส่วนอาหารสามารถทำได้ตามปกติ ส่วนกรณีสั่งเดลิเวอรี่ให้ผู้ส่งอาหารวางไว้ภายนอก จ่ายเงินทางออนไลน์ให้เรียบร้อย และให้จัดการซักผ้าเองโดยไม่ต้องส่งไปข้างนอก
@ หากอยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องแยกของใช้ทุกอย่าง
ขณะที่ผู้ป่วยที่ต้องกักตัวและอยู่ร่วมบ้านกับคนอื่น ให้ปฏิบัติ ดังนี้
1.แยกห้องนอน ห้องน้ำให้ชัดเจน ให้แยกห่างจากผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังให้มากที่สุด เปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศสู่ภายนอกเป็นระยะ และปิดประตูด้านที่เชื่อมต่อกับคนอื่นภายในบ้านจะเปิดได้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
2.จัดของใช้แยกกับผู้อื่น ทั้งผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ส้อม อุปกรณ์ทำความสะอาด รวมถึงที่คว่ำจาน ชามต้องแยกต่างหาก
3.เตรียมสบู่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจานเพื่อทำความสะอาด เพื่อใช้เฉพาะสำหรับผู้แยกกักตัว หรือกักกันตัว
4.จัดหาอาหาร เครื่องดื่ม แยกส่งให้เป็นการเฉพาะ หากต้องนำส่ง ให้ส่งไว้หน้าห้องพัก และแจ้งให้ผู้แยกกักตัวหรือกักกันตัวออกมารับ โดยไม่พบหน้ากันได้ หรือถ้าจำเป็นต้องส่งในห้องพัก ให้ใส่หน้ากากอนามัยทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ส่งและผู้รับ
5.การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม กรณีที่ไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ผู้แยกกักตัวหรือกักกันตัวใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1% หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%
6.เสื้อผ้าใช้แล้ว ให้แยกตะกร้าและแยกซัก แต่หากใช้เครื่องซักผ้าอาจซักรวมกันได้ โดยให้ ผู้แยกกักตัวหรือกักกันตัว นำเสื้อผ้าใช้แล้วมาใส่ในตู้ และไม่สัมผัสโดยรอบ และให้ผู้รับผิดชอบซักผ้านั้น ทำหน้าที่ใส่น้ำยาซักผ้า ตั้งค่าการซักผ้า เปิดปิดเครื่องให้เรียบร้อย ส่วนการตากนั้น สามารถตากรวมได้ เมื่อรีดแล้วให้แยกให้เรียบร้อย ส่งให้ผู้ถูกกักตัวเป็นการเฉพาะ
@ใช้น้ำยาฟอกขาว หรือ แอลกอฮอล์ 70% ช่วยฆ่าเชื้อ
ส่วนวิธีทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวหรือจุดสัมผัสร่วมในสถานที่พัก ให้ปฏิบัติ ดังนี้ สวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองทุกครั้ง เปิดประตูหรือหน้าต่างเพื่อให้มีการระบายอากาศ โดยให้ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวที่ผู้แยกกักตัวหรือกักกันตัวใช้งาน รวมถึงบริเวณที่มักมีการสัมผัสหรือใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู รีโมทคอนโทรล โดยใช้ผ้าชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอกเช็ดให้สะอาดก่อน แล้วจึง
ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1% หรือน้ำยา 1 ส่วน ผสมในน้ำ 49 ส่วน หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%
สำหรับพื้นให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือใช้น้ำสบู่หรือผงซักฟอกก่อนจากบริเวณที่สกปรกน้อยไปมาก เริ่มถูพื้นจากมุมหนึ่งไปยังอีกมุมหนึ่ง ไม่ซ้ำรอยเดิม แล้วจึงฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาที่เตรียมไว้
กรณีทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปก่อน สำหรับพื้นห้องส้วมให้ฆ่าเชื้อโดยราดน้ำยาฟอกขาวที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที เช็ดเน้นบริเวณที่รองนั่งโถส้วม ฝาปิดโถ ส้วม ที่กดชักโครก ราวจับ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่แขวนกระดาษชำระ อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ที่วางสบู่ ผนัง ซอกประตู ด้วยผ้าชุบน้ำยา ฟอกขาวที่เตรียมไว้ตามข้อด้านบน หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%
@ Work From Home เลี่ยงใกล้ชิดเด็ก-ผู้สูงอายุ ลดเสี่ยงโควิด
ส่วนประชาชนที่จำเป็นต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home กรมอนามัย แนะนำว่า หลักการปฏิบัติโดยทั่วไป คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ไม่คลุกคลีกับเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงต้องสังเกตอาการตนเองอยู่สม่ำเสมอ
ส่วนห้องทำงานหรือมุมทำงาน ควรแยกให้อยู่ห่างจากเด็กหรือผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยเรื้อรัง และช่วยเปิดประตูหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเท
ทั้งนี้ นอกจากการกินอาหารปรุงสุกร้อน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามหลักสาธารณสุขแล้ว กรมอนามัย ยังแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อาจใช้วิธีการเปิดคลิปวิดีโอเพื่อออกกำลังกายที่บ้าน โยคะ หรือ ทำงานบ้าน เช่น กวาดบ้าน ถูบ้านแทน นอกจากนั้นให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุก 1 ชั่วโมงระหว่างนั่งทำงาน , ลดพฤติกรรมการนั่งหรือนอนนานๆ
และควรจัดการอารมณ์ของตนเอง กรณีที่ต้องทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ต้องประเมินความเครียดด้วยตนเอง รวมถึงหาเวลาพักผ่อน เช่น ฟังเพลง ดูทีวี นั่งสมาธิ หรือหากิจกรรมอื่นประกอบด้วย
(ภาพประกอบ : freepik)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage