"...ศาลฯ เชื่อว่า นายเฉลิมภูมิและนายธรณิศ รู้จักกับนายสามารถ โดยนายเฉลิมภูมิดําเนินการให้มีผู้เข้าร่วมเสนอราคา 3 ราย รวมทั้งนายธรณิศ เพ็ชรยิ่งซึ่งร่วมเสนอราคาในนามร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร ประกอบกับในวันส่งมอบพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม นายธรณิศ ได้เข้าร่วมการส่งมอบพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามกับนายเฉลิมภูมิด้วย ตามสําเนาภาพถ่ายหลักฐาน ผิดวิสัยของผู้ประกอบการที่เข้าประมูลสู้ราคา..."
.................................
พฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การสืบราคาจัดซื้อพันธุ์กุ้งเป็นเท็จ ส่งผลทำให้จัดซื้อในราคาแพงวงเงินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งที่ ควรจะจัดซื้อในราคาแค่ 6,000,000 บาท ส่วนสถานที่เป้าหมายในการเพาะเลี้ยงก็ไม่เหมาะสมด้วย
คือ รายละเอียดคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ตัดสินลงโทษนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ ชื่อ 'ร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร' คู่เทียบที่เข้าร่วมการเสนอราคา ในคดีทุจริตสมยอมราคาโครงการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) จำนวน 40 ล้านตัว วงเงิน 10 ล้านบาท ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
โดยผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้นั้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ให้จำคุก 7 ปี นายนวพล บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา และนายสามารถ บุญทอง อดีตนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ส่วน นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง นั้น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี
ขณะที่ ร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลา ผู้ชนะ เจ้าของ คือ นายเฉลิมภูมิ สุวรรณกระจ่าง มีชื่อเล่นว่า บัง เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา เคยเป็นผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ส.จ.สงขลา) เขตเลือกตั้งที่ 2 อ.รัตภูมิ แต่ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเสียชีวิตไปในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : ปั้นราคากลาง-พื้นที่เลี้ยงเท็จ! พฤติการณ์ 'นวพล-พวก' คดีทุจริตซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.)
ต่อไปนี้ คือ ข้อมูลพฤติการณ์การสมยอมราคาในโครงการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) จำนวน 40 ล้านตัว วงเงิน 10 ล้านบาท ของ อบจ.สงขลา ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาคดีนี้
นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง จำเลย รับสารภาพว่ากระทำความผิดในคดีนี้
โดย นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ร่วมกับนายเฉลิมภูมิร่วมกันเสนอราคาซื้อขาย ให้นาย ส. จากร้านรุ่งเรืองพันธุ์ปลา เสนอราคา 9,964,000 บาท นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ในนามร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร เสนอราคา 9,900,000 บาท และนายเฉลิมภูมี จากร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลา เสนอราคา 9,888,000 บาท เพื่อวัตถุประสงค์ให้ประโยชน์แก่นายเฉลิมภูมิจากร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลาผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้มีสิทธิทําสัญญาซื้อขายพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบต่อหน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ การประกวดราคางานโครงการฯ นี้ ถูกระบุว่าไม่มีการเผยแพร่ข่าวสารและไม่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมประมูล นอกจากผู้ประกอบการที่ได้รับเชิญ 4 ราย
พยานรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้การว่า ได้พิมพ์หนังสือเชิญผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย คือ ผู้จัดการร้านประพันธุ์ฟาร์ม ผู้จัดการร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร นายเฉลิมภูมิผู้จัดการร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลา และผู้จัดการร้านรุ่งเรืองพันธุ์ปลา ให้นายสามารถ บุญทอง อดีตนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต
จากนั้นนายสามารถเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับผู้ประกอบการดังกล่าวให้มารับเอกสารเสนอราคา
ต่อมาผู้ประกอบการ 4 ราย รวมทั้ง นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง มารับเอกสารเสนอราคา
อย่างไรก็ดี นาย ส. จากร้านรุ่งเรืองพันธุ์ปลา ให้ถ้อยคําต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ว่า ไม่เคยมอบอํานาจให้นางสาว ว. ไปรับซองเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และไม่เคยลงนามในเอกสารใด ๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
แต่รับว่าเคยเป็นลูกจ้างของนายเฉลิมภูมิ โดยมีการมอบหมายให้ตนจดทะเบียนพาณิชย์ชื่อร้านรุ่งเรืองพันธุ์ปลา อ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการค้าขาย
ส่วนถ้อยคําของนางสาว ว. ที่ให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ระบุว่า ไม่รู้จัก นาย ส. มาก่อน แต่เคยเป็นแฟนกับนายเฉลิมภูมิเมื่อประมาณ 7 ปี ก่อนที่นายเฉลิมภูมิจะถึงแก่ความตาย
ศาลฯ เชื่อว่า นายเฉลิมภูมิและนายธรณิศ รู้จักกับนายสามารถ
โดยนายเฉลิมภูมิดําเนินการให้มีผู้เข้าร่วมเสนอราคา 3 ราย รวมทั้งนายธรณิศ เพ็ชรยิ่งซึ่งร่วมเสนอราคาในนามร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร
ประกอบกับในวันส่งมอบพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม นายธรณิศ ได้เข้าร่วมการส่งมอบพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามกับนายเฉลิมภูมิด้วย ตามสําเนาภาพถ่ายหลักฐาน
ผิดวิสัยของผู้ประกอบการที่เข้าประมูลสู้ราคา
พฤติกรรมของนายธรณิศ และนายเฉลิมภูมิ บ่งชี้ว่า มีส่วนรู้เห็นกับการกระทําผิดของนายนวพลและนายสามารถ โดยไม่มีเจตนาเข้าแข่งขันราคากันจริง อันเป็นความผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือโดยการกีดกันมิให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ เสนอสินค้าต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หรือตกลงร่วมกันสมยอมราคาเอื้ออํานวยประโยชน์ให้นายเฉลิมภูมิเป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
สำหรับรายละเอียดคำพิพากษาในส่วนของนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง นั้น ศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายธรณิศ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 86 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
จําคุก 4 ปี 6 เดือน และปรับ 80,000 บาท
จําเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
คงจําคุก 6 ปี 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท
ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่า จําเลย มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนอีก 2 คน
นิสัยและความประพฤติไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงแต่อย่างใด
การจะลงโทษจําคุกจําเลยเสียทีเดียว โดยไม่ให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี
ย่อมทําให้จําเลยกลายเป็นผู้มีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วยากที่จะกลับตนประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตต่อไปได้
ทําให้ไม่เป็นผลดีแก่จําเลย
จึงเห็นควรรอการลงโทษจําคุกจําเลยไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติมีกําหนด 1 ปี โดยให้จําเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไข และระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกําหนด กับให้กระทํากิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (แก้ไขใหม่)
หากจําเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ที่แก้ไขใหม่) และ 30 (ที่แก้ไขใหม่)
อย่างไรก็ดี ตามที่รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ในส่วนของคดีนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ว่าไม่เห็นชอบตามความเห็นอัยการสูงสุดที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9
ผลการอุทธรณ์คดีจากนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร พฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ทั้งหมด นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพื่อไม่ให้บุคคลอื่น กระทำผิดซ้ำรอย ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง
อ่านเรื่องประกอบ :
อุทธรณ์ยืนคุก 7 ปี‘นวพล บุญญามณี’อดีต นายก อบจ.สงขลา-พวก คดีสมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.
คุกคนละ7ปี 'นวพล' น้องรมช.มหาดไทย-พวก สมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง10 ล.-เอกชนหนี โดนหมายจับ
ป.ป.ช.เชือด‘นวพล บุญญามณี-พวก’ ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.เอื้อประโยชน์เอกชน
อยู่ต.สทิงหม้อ! เปิดตัว 'สิทธิพัฒน์การเกษตร' คู่เทียบขายพันธุ์กุ้ง 10 ล. อบจ.สงขลา
เผยชื่อร้านขายพันธุ์กุ้ง อบจ.สงขลา10 ล.โดนป.ป.ช.สอบ-อดีตผู้สมัครสจ.เฉลิมภูมิ เจ้าของ
ป.ป.ช.เชือด‘นวพล บุญญามณี-พวก’ ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.เอื้อประโยชน์เอกชน
ที่แท้จัดซื้อพันธุ์กุ้ง40 ล้านตัวถูกป.ป.ช.สอบ! ผลงาน อบจ. สงขลา ยุค 'นวพล บุญญามณี'
รอลงอาญา คุก 2 ปี 4 ด.! 'คู่เทียบ' คดี 'นวพล บุญญามณี’ สมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.
บทเรียน 'คู่เทียบ' คดีสมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง อบจ.สงขลา 10 ล้าน
ปั้นราคากลาง-พื้นที่เลี้ยงเท็จ! พฤติการณ์ 'นวพล-พวก' คดีทุจริตซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/