"...นายนวพลและนายสามารถร่วมกันกําหนดให้มีการปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามที่ลุ่มน้ำสะกอม ลุ่มน้ำเทพา อําเภอเทพา และลุ่มน้ำนาทับ อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อให้อยู่ในเงื่อนไขที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้กําหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสามารถจัดซื้อ จัดจ้างโดยใช้วิธีพิเศษได้ แต่ลุ่มน้ำทั้งสามดังกล่าวอยู่ในเขตทะเลอ่าวไทยไม่ตรงกับแผนพัฒนาสามปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เนื่องจากแผนพัฒนาสามปีระบุว่าเป็นเขตทะเลสาบสงขลา สถานที่ดังกล่าวไม่มีฟาร์มทะเลจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม..."
..........................................
กรณีทุจริตโครงการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) จำนวน 40 ล้านตัว เอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาบางรายให้มีสิทธิทำสัญญา ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา นั้น
ปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ ถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ให้จำคุก 7 ปี นายนวพล บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา และนายสามารถ บุญทอง อดีตนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต
นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ ในชื่อ ร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร คู่เทียบเข้าเข้าร่วมการเสนอราคานั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี (คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ในส่วนของคดีนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ว่าไม่เห็นชอบตามความเห็นอัยการสูงสุดที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 )
ส่วนร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลา ผู้ชนะ เจ้าของคือ นายเฉลิมภูมิ สุวรรณกระจ่าง มีชื่อเล่นว่า บัง เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา เคยเป็นผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ส.จ.สงขลา) เขตเลือกตั้งที่ 2 อ.รัตภูมิ แต่ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเสียชีวิตไปในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ที่ตัดสินลงโทษนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง พบว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดสำคัญในคดีนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การสืบราคาจัดซื้อพันธุ์กุ้งเป็นเท็จ ส่งผลทำให้จัดซื้อในราคาแพงวงเงินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งที่ควรจะจัดซื้อในราคาแค่ 6,000,000 บาท สถานที่เป้าหมายในการเพาะเลี้ยงก็ไม่เหมาะสมด้วย
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุนายนวพล บุญญามณี ดํารงตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคําสั่งของทางราชการ
นายสามารถ บุญทอง ดํารงตําแหน่งนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 ปฏิบัติราชการแทนผู้อํานวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิตองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการของกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ควบคุม กํากับ ให้คําปรึกษาในกิจการงานของกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2551 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน นายนวพลและนายสามารถ อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่และอํานาจดังกล่าว ร่วมกับนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง และนายเฉลิมภูมิ สุวรรณ์กระจ่าง ผู้ตาย ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายนวพลและนายสามารถก่อนหรือขณะกระทําการทุจริตต่อหน้าที่ กระทําความผิดต่อหน้าที่ราชการ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กล่าวคือ นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ทราบว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาประกาศใช้แผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2551 - 2553 ) มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา นายนวพลมอบหมายให้นายสามารถเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจึงติดต่อสํานักงานประมงจังหวัดสงขลาเพื่อทราบรายละเอียดและสถานที่เขตฟาร์มทะเลที่จะปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม สํานักงานประมงจังหวัดสงขลาแจ้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาระบุสถานที่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นเขตฟาร์มทะเล
วันที่ 27 สิงหาคม 2551 นายสามารถทําบันทึกข้อความจัดทําร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาขอจัดสรรงบประมาณตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 เพื่อปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามในพื้นที่อื่น ที่มิใช่ทะเลสาบสงขลาตามแผนพัฒนาสามปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายนวพลนําเข้าที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สงขลามีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาจัดซื้อพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม 40,000,000 ตัว งบประมาณ 10,000,000 บาท (ตัวละ 0.25 บาท) เพื่อปล่อยตาม แหล่งน้ำธรรมชาติที่ลุ่มน้ำสะกอม ลุ่มน้ำเทพา อําเภอเทพา และลุ่มน้ำนาทับ อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 นายนวพลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ร่วมกับนายสามารถ โดยนายนวพลออกคําสั่งให้นายสามารถ มีหนังสือสอบถามราคาพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม ขนาดความยาว 1.50 ถึง 2 เซนติเมตร ถึงนาย ส. นาย ก. และนาย น.
จากนั้นนายสามารถซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทําเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร จัดทําบันทึกข้อความส่วนราชการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิตองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 รับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จว่านายสามารถรับแจ้งจากนาย ส. และนาย น. มีข้อความว่าพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม ราคาตัวละ 0.24 ถึง 0.25 บาท
ซึ่งบุคคลทั้งสองไม่ได้แจ้งข้อความแก่นายสามารถ
แต่นายสามารถอาศัยหลักฐานดังกล่าวไปจัดทําบันทึกข้อความขออนุมัติจัดซื้อพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามตามโครงการส่งเสริมพัฒนาลุ่มน้ำในจังหวัดสงขลา พร้อมแนบเอกสารบันทึกข้อความจัดซื้อพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามอันเป็นความเท็จแท้จริงแล้วนายสามารถไม่ได้สอบถามราคาพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามจากบุคคลภายนอก และขอจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเนื่องจากเป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วนหากล่าช้าจะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการการบริหารส่วนท้องถิ่น ขอจัดทําโครงการในเดือนพฤศจิกายน 2551 เพื่อนําไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติที่อําเภอจะนะและอําเภอเทพา จังหวัดสงขลา ช่วงเวลาดังกล่าวน้ำในแหล่งน้ำมีปริมาณมากและเหมาะสมกับการเจริญพันธุ์ของลูกกุ้งก้ามกราม
ทั้งนี้ นายสามารถรับรองเป็นหลักฐาน บันทึกข้อความว่า จัดซื้อพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม 40,000,000 ตัว ราคา 10,000,000 บาท (ตัวละ 0.25 บาท) มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
แท้จริงแล้วราคาพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามจะมีราคาตัวละ 0.15 บาท หากจัดซื้อ 40,000,000 ตัว ตามราคาดังกล่าวจะมีราคา 6,000,000 บาท เสนอให้นายนวพลผู้มีอํานาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างดําเนินการตามอํานาจหน้าที่เพื่อขออนุมัติจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
นายนวพลอนุมัติให้จัดซื้อโดยวิธีพิเศษอ้างว่าเป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วนหากล่าช้าจะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ แท้จริงแล้วไม่มีเหตุผลและไม่มีความจําเป็นเร่งด่วน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไข เพิ่มเติม ข้อ 18 ประกาศกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์การซื้อหรือการจ้างโดยประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2553 และคําสั่งของทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจังหวัดสงขลา
นอกจากนี้การที่นายนวพลและนายสามารถร่วมกันกําหนดให้มีการปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามที่ลุ่มน้ำสะกอม ลุ่มน้ำเทพา อําเภอเทพา และลุ่มน้ำนาทับ อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อให้อยู่ในเงื่อนไขที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้กําหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสามารถจัดซื้อ จัดจ้างโดยใช้วิธีพิเศษได้
แต่ลุ่มน้ำทั้งสามดังกล่าวอยู่ในเขตทะเลอ่าวไทยไม่ตรงกับแผนพัฒนาสามปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เนื่องจากแผนพัฒนาสามปีระบุว่าเป็นเขตทะเลสาบสงขลา สถานที่ดังกล่าวไม่มีฟาร์มทะเลจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม
การกระทําของนายนวพลและนายสามารถจึงเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ระเบียบ และคําสั่งของทางราชการ และกระทําการโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และประชาชน
ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาทําสัญญาซื้อขายพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม 40,000,000 ตัว ราคา 9,850,000 บาท กับร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลา กําหนดส่งมอบพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2551 แต่ในวันที่ 8 ธันวาคม 2551 นายสามารถทําบันทึกข้อความเปลี่ยนแปลงกําหนดการปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามอ้างเหตุเกิดอุทกภัยในพื้นที่อําเภอเทพาและอําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีการขยายเวลาส่งมอบอีก 60 วัน นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีคําสั่งขยายเวลาการส่งมอบพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ระเบียบและคําสั่งของทางราชการ และการที่นายนวพลและนายสามารถร่วมกันดําเนินการให้มีการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ โดยให้นายสามารถทําหนังสือเชิญผู้ประกอบการ 4 ราย มีร้านประพันธุ์ฟาร์ม ร้านสิทธิพัฒน์การเกษตร ร้านท่าชะมวงพันธุ์ปลา และร้านรุ่งเรืองพันธุ์ปลา เพื่อเสนอราคาจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในคำพิพากษาคดีนี้ ยังมีการระบุถึงพฤติการณ์การสมยอมการเสนอราคาของเอกชนที่เข้าร่วมการแข่งขันงานไว้ซึ่งมีข้อมูลสำคัญหลายส่วน
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
อ่านเรื่องประกอบ :
อุทธรณ์ยืนคุก 7 ปี‘นวพล บุญญามณี’อดีต นายก อบจ.สงขลา-พวก คดีสมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.
คุกคนละ7ปี 'นวพล' น้องรมช.มหาดไทย-พวก สมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง10 ล.-เอกชนหนี โดนหมายจับ
ป.ป.ช.เชือด‘นวพล บุญญามณี-พวก’ ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.เอื้อประโยชน์เอกชน
อยู่ต.สทิงหม้อ! เปิดตัว 'สิทธิพัฒน์การเกษตร' คู่เทียบขายพันธุ์กุ้ง 10 ล. อบจ.สงขลา
เผยชื่อร้านขายพันธุ์กุ้ง อบจ.สงขลา10 ล.โดนป.ป.ช.สอบ-อดีตผู้สมัครสจ.เฉลิมภูมิ เจ้าของ
ป.ป.ช.เชือด‘นวพล บุญญามณี-พวก’ ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.เอื้อประโยชน์เอกชน
ที่แท้จัดซื้อพันธุ์กุ้ง40 ล้านตัวถูกป.ป.ช.สอบ! ผลงาน อบจ. สงขลา ยุค 'นวพล บุญญามณี'
รอลงอาญา คุก 2 ปี 4 ด.! 'คู่เทียบ' คดี 'นวพล บุญญามณี’ สมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.
บทเรียน 'คู่เทียบ' คดีสมยอมซื้อพันธุ์กุ้ง อบจ.สงขลา 10 ล้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/