กสม.ได้รับร้องเรียนกรณีไม่ได้รับแขกเบี้ยสูงวัย ชี้แม้จะมาจากการที่ผู้แจ้งไม่ทำตามระเบียบ แต่แนะนำ ‘มหาดไทย-พม.’ ควรแก้ไขเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลทะเบียนราษฎรกรณีย้ายที่อยู่ เพื่อลดขั้นตอนที่ให้ประชาชนเป็นผู้แจ้งฝ่ายเดียว ชี้ควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องซึ่งเป็นหลานและเป็นผู้ดูแลคนพิการทางการเคลื่อนไหวรายหนึ่ง ระบุว่า อาของผู้ร้อง ปัจจุบันอายุ 68 ปี เดิมมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร อยู่ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้รับอุบัติเหตุทำให้พิการทางการเคลื่อนไหวและเป็นผู้ป่วยติดเตียงมากว่า 20 ปี ได้รับเงินเบี้ยความพิการ อัตราเดือนละ 800 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อัตราเดือนละ 600 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยยางโทน ผู้ถูกร้องที่ 1
ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้ร้องได้ย้ายภูมิลำเนาของผู้เป็นอา จากตำบลห้วยยางโทนไปอยู่บ้านของผู้ร้องที่ตำบลยางหัก และ อบต. ห้วยยางโทนได้เรียกให้คืนเงินเบี้ยความพิการประจำเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 2565 จำนวน 7,200 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2565 จำนวน 1,200 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 8,400 บาท ขณะเดียวกัน อาของผู้ร้องยังไม่ได้รับเงินเบี้ยความพิการระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 จาก อบต. ยางหัก ผู้ถูกร้องที่ 2
ผู้ร้องเห็นว่า กรณีข้างต้นกระทบต่อสิทธิคนพิการและสิทธิผู้สูงอายุในการได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 48 วรรคสอง และมาตรา 71 วรรคสาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD) ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ได้รับรองสิทธิของคนพิการและสิทธิของผู้สูงอายุในอันที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ โดยรัฐกำหนดให้มีสิทธิได้รับสวัสดิการเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คนพิการหรือผู้สูงอายุมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพทั้งสองประเภทเป็นรายเดือน ให้แก่บุคคลดังกล่าวหรือผู้ดูแลเงินสวัสดิการ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาของผู้ร้องเป็นคนพิการและผู้สูงอายุมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎรอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้รับเงินเบี้ยความพิการ เดือนละ 800 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท จาก อบต. ห้วยยางโทน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามลำดับ
@คนร้องย้ายภูมิลำเนาไม่ได้แจ้งอบต.เดิม
ต่อมาเมื่อผู้ร้องได้ย้ายภูมิลำเนาของอาจากตำบลห้วยยางโทนไปที่ตำบลยางหัก ผู้ร้องไม่ได้แจ้งให้ อบต. ห้วยยางโทน ผู้ถูกร้องที่ 1 ทราบเพื่อขอย้ายสิทธิรับเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยังคงจ่ายเบี้ยทั้งสองประเภทต่อไป จนกระทั่งเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2565 จึงตรวจพบว่า มีการแก้ไขภูมิลำเนาในบัตรประจำตัวของอาผู้ร้องเมื่อเดือนมีนาคม 2565 อาของผู้ร้องจึงขาดคุณสมบัติรับเงินเบี้ยความพิการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเรียกคืนเงินเบี้ยความพิการของอาผู้ร้องซึ่งได้จ่ายไประหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 2565 รวม 9 เดือน ๆ ละ 800 บาท รวมเป็นเงิน 7,200 บาท รวมทั้งระงับการจ่ายเงินเบี้ยความพิการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ
ส่วนประเด็นที่ อบต. ยางหัก ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้จ่ายเงินเบี้ยความพิการระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 และไม่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 แม้อาผู้ร้องจะย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในเขตตำบลยางหักแล้วนั้น
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้จ่ายเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ดำเนินการให้อาของผู้ร้องลงทะเบียนขอรับสิทธิที่ อบต. ยางหัก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาแห่งใหม่ ทั้งที่ พมจ. ราชบุรี แนะนำให้ผู้ร้องเร่งรัดดำเนินการตั้งแต่วันที่ย้ายภูมิลำเนาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้ว การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่จ่ายเงินเบี้ยความพิการเนื่องจากยังไม่ได้แจ้งยืนยันสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการฯ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเช่นกัน กรณีนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตว่า เพื่อให้การเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการและ/หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ได้รับการรับรองในอันที่คนพิการและผู้สูงอายุจะได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐ เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ
ดังนั้น จึงควรลดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เช่น การยืนยันสิทธิอีกครั้งที่ภูมิลำเนาแห่งใหม่เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนา ถือเป็นการสร้างภาระเกินสมควรโดยอาจจะนำไปสู่การลิดรอนสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ กสม. เคยพิจารณาประเด็นการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ครบถ้วน ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 120/2566 ลงวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งรัดเชื่อมโยงฐานข้อมูลของประชาชนของทุกส่วนราชการเข้ากับฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นระบบเดียวกันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำไปปรับใช้กับการยืนยันสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนา รวมทั้งให้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552
@มท.พม. เร่งประสานข้อมูล-ลดขั้นตอนประชาชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 9/2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่120/2566 ลงวันที่ 12 กันยายน 2566 และนำไปปรับใช้กับสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการ และ/หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนาโดยไม่ต้องแจ้งยืนยันสิทธิที่ภูมิลำเนาแห่งใหม่
(2) ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เพื่อให้สิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โอนไปยังภูมิลำเนาแห่งใหม่ตามระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนาโดยไม่ต้องแจ้งยืนยันสิทธิที่ภูมิลำเนาแห่งใหม่ และยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยความพิการคืนหากเป็นกรณีรับด้วยความสุจริต
(3) ในระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้อ (1) และ (2) ให้ อบต. ห้วยยางโทน และ อบต. ยางหัก ผู้ถูกร้องทั้งสองสร้างความเข้าใจกับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้นำในชุมชน ตลอดจนผู้ดูแลคนพิการและ/หรือผู้สูงอายุ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้เข้าใจหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนเกี่ยวกับสิทธิในการรับเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ