‘ทางหลวงชนบท-ก.ทรีพย์ฯ’ ถกวางกรอบ MOU แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี หลังครม.เคาะก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เผย 22 พ.ย.นี้กรอบจะชัดเจน ก่อนเปิดไทม์ไลน์เซ็น MOU เดือน ม.ค. 66
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา – อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในบริเวณทะเลสาบสงขลาอย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีบริเวณทะเลสาบสงขลา หลังจากที่ ทช. ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 โดยมีมติจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในบริเวณทะเลสาบสงขลา ดังนั้น ทช. จึงได้เร่งผลักดันการร่างบันทึกข้อตกลงฯ (MOU)
ซึ่งการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1 ในวันนี้ (7 พ.ย. 65) โดยมีนายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่ กรมทางหลวงชนบท (ด้านสำรวจและออกแบบ) เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีคณะกรรมการฯ จากหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.รังสฤษฎ์ อินทรโม จากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรฯ จะดำเนินการแบบบูรณาการร่วมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อรองรับภารกิจหลักของทั้ง 2 ฝ่าย โดยคาดว่าจะจัดให้มีพิธีลงนาม MOU ร่วมกัน ณ บริเวณโครงการก่อสร้างฯ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โลมาอิรวดี ซึ่ง ทช. จะดำเนินการจัดออกแบบและก่อสร้างอาคารศูนย์ฯชั่วคราวเป็นอาคารชั้นเดียว (ฝั่งพัทลุง) โดยจะมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการศูนย์ฯ ชั่วคราว และในส่วนของกรมประมง จะมีการลาดตระเวนซึ่งมีความถี่ในการลาดตระเวนมากขึ้น เพื่อป้องกันการกระทำความผิด ต่อโลมาอิรวดี รวมถึง ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อโลมาอิรวดี และการกำหนดแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตามจะมีการจัดประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เพื่อหาข้อสรุปในการร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) อย่างสมบูรณ์ต่อไป
ในส่วนของ ทช. ได้กำหนดมาตรการในด้านการก่อสร้าง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อโลมาอิรวดี คือ ก่อนก่อสร้าง จะทำการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและนำผลที่ได้จากการศึกษามาดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด, ระหว่างการก่อสร้าง สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมได้ และหลังการก่อสร้าง ทช. จะติดตามทุกมิติเพื่อที่จะพัฒนาประเทศชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ซึ่งโครงการก่อสร้างฯ มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณถนน พท.4004 กม.ที่ 3+300 บริเวณ บ้านฝาละมี ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อกับจุดสิ้นสุดโครงการที่ถนน อบจ. สงขลา บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา มีช่วงข้ามทะเลสาบยาว 6.600 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาโครงข่ายถนนในบริเวณดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง และลดระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ปลายปี 2566 และพร้อมเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรได้ภายในปี 2569 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในการหารือเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 นอกจากข้อสรุปที่จะหารือกันในวันที่ 8 และ 22 พ.ย. เพื่อวางแผนการจัดทำร่าง MOU แล้ว ในวันที่ 29 พ.ย. 2565 จะนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณาเห็นชอบกรอบความร่วมมือ จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอพิจารณาอนุมัติในเดือน ธ.ค. 2565 และคาดว่าจะมีพิธีลงนาม MOU บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างจังหวัดพัทลุง ในเดือน ม.ค. 2566
ภาพโลมาอิรวดี: https://en.wikipedia.org/wiki/Irrawaddy_dolphin
อ่านประกอบ
อีกชุด! ผลสอบสตง.ชี้ปัญหางานศูนย์อนุรักษ์ทะเลสาบพัทลุง-สงขลา เสี่ยงทำโลมาอิรวดีสูญพันธุ์
ครม.เคาะสร้าง 2 สะพานภาคใต้ 6.6 พันล้าน ผูกพันงบ 3 ปี (2566-2568)