เปิดอีกชุดผลสอบสตง.ชี้ปัญหาใช้งบพัฒนาเมืองสีเขียวสังคมคุณภาพกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย คราวนี้เป็นงานสร้างฐานปฏิบัติศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางทะเลสาบ พัทลุง-สงขลา สร้างแพเฝ้าระวังทำประมงใช้เครื่องมือผิดกม.เสร็จกว่า 3 ปี จอดทิ้งไว้ไม่เอาไปใช้ประโยชน์ ส่อทำงานป้องกันรักษาเสียชีวิตโลมาอิรวดีเหลว ปัจจุบันเหลือ14 ตัวเสี่ยงลดลงได้อีก
โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ประเด็นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียวและสังคมคุณภาพ ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง ในช่วงปี 2563-2565 รวมวงเงินกว่า 180 ล้านบาท ไม่ใช่โครงการเดียว ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาในการดำเนินงานโครงการฯ ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
โครงการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง-สงขลาเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่ได้รับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 8.72 ล้านบาท ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง-สงขลา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการทำประมงโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เป็นจุดชมโลมาอิรวดี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง ใช้เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้กลางทะเลให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่ถูกสตง.ตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินงานเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีอาจไม่สามารถป้องกันและรักษาการเสียชีวิตของโลมาอิรวดี จากการทำประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายให้น้อยหรือหมดลงไปได้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง-สงขลาเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน นั้น สตง.ระบุในรายงานผลการตรวจสอบว่า ยังไม่มีการนำแพไปติดตั้งในจุดที่กำหนดตามโครงการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แนวเขตควบคุมโซน A ตามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง-สงขลากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง) ลงวันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังการทำประมงโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย และใช้เป็นจุดพักกลางทะเลให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อชมโลมาอิรวดีในบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัย
แต่แพดังกล่าวยังจอดอยู่ในทะเลสาบติดกับสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง-สงขลา นับระยะเวลาตั้งแต่สร้างแล้วเสร็จจนถึงวันตรวจสอบประมาณ 3 ปี
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการใช้ประโยชน์เรือตรวจการณ์ที่จัดซื้อตามโครงการเพื่อใช้ลาดตระเวนในปริมาณน้อย เพราะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณค่อนข้างมากแต่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง-สงขลา ได้รับงบดำเนินงานสำหรับบริหารจัดการภายในสำนักงานรวมถึงจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการลาดตระเวนค่อนข้างน้อย
รายงานการตรวจสอบของ สตง. ยังระบุด้วยว่า การดำเนินงานโครงการที่ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวมานั้น ส่งผลกระทบต่อการลดปริมาณประชากรของโลมาอิรวดีซึ่งมีน้อยเพียงประมาณ 14 ตัว มีความเสี่ยงที่จะลดลงได้อีก ความพยายามของจังหวัดพัทลุงที่จะอนุรักษ์โลมาอิรวดีโดยให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องยากที่จะสัมฤทธิ์ผล หากไม่นำแพพักไปติดตั้งภายในพื้นที่แนวเขตควบคุมโซน A อาจไม่สามารถป้องกันและรักษาการเสียชีวิตของโลมาอิรวดี จากการทำประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายให้น้อยหรือหมดลงไปได้ อีกทั้ง จังหวัดพัทลุงไม่อาจจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวนั่งเรือชมโลมาอิรวดีในแหล่งที่อยู่อาศัยได้ เพราะบริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรง อาจไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว และไม่มีเจ้าหน้าที่พร้อมแพพักกลางทะเลที่จะคอยให้ความช่วยเหลือและเป็นแหล่งพักชั่วคราว
เบื้องต้น สตง.มีข้อเสนอแนะเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณ ภายใต้ประเด็นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียว และสังคมคุณภาพของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ ให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พิจารณาดำ เนินการ ดังนี้
1. แจ้งให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น การนำแพไปติดตั้ง ณ จุดที่กำหนด พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์แพ เรือตรวจการณ์ และกล้องส่องทางไกลตามโครงการ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการลักลอบใช้เครื่องมือทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี และส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวชมโลมาอิรวดีในถิ่นที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนและชาวประมงในพื้นที่
2. หากมีการจัดทำโครงการในคราวต่อไป ให้พิจารณาถึงศักยภาพ และความพร้อมของหน่วยงานในการบริหารจัดการ และดูแลสินทรัพย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน