สภาผู้แทนราษฎร อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 'บิ๊กตู่' แจงเดือด ฟังอภิปรายทั้งวันต้องมาตอบคำถามเดิม - ข้อมูลเก่า แจงเงินกู้เบิกจ่ายช้า มีขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เตือนพวกสภามีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ถ้าพูดข้างนอกมีปัญหาเหมือนกัน ย้ำไม่โง่กู้ถึง 60% โดยที่ผิดกฎหมาย
-----------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 สภาผู้แทนราษฎร มีระเบียบวาระการประชุม เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
เมื่อเวลา 19.05 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงครั้งแรก หลังจากสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายนานเกือบ 10 ชั่วโมง ขณะที่บรรยากาศตลอดทั้งวัน ฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี เข้าสภาเพื่อมารับฟังการอภิปรายด้วยตัวเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ฟังการอภิปรายมาตั้งแต่เช้า แต่เนื่องจากมีภารกิจสำคัญที่ทำเนียบรัฐบาล บางงานก็มีการบริหาร มีคณะทำงานทำอยู่แล้ว และจำเป็นต้องตัดสินใจหลายเรื่องด้วยกันตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันช่วงเย็นที่ผ่านมาก็ไปเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ถึงได้แต่งชุดขาวมาสภาอย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตนให้ความสำคัญกับสภาให้เกียรติท่านเสมอ แต่ทุกคนต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน บางอย่างฟังแล้วก็สะท้อนใจว่าการใช้คำพูด การใช้วาจาต่างๆ ขออนุญาตบ่นหน่อยเถอะว่าควรจะเกิดขึ้นในสภาหรือไม่ ไม่ว่าจะฉีกกระดาษ ฉีก พ.ร.บ. ก็ไม่สมควร ตนไม่เคยเห็น ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ไม่ทราบ แต่ตนก็เคารพอยู่ดี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มาตอบคำถามเดิมๆ ฟังข้อมูลเก่าๆ ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ไม่ว่าจะ พ.ร.ก.เงินกู้ เดี๋ยวก็นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ข้อมูลอันเดิม ชี้แจงไปแล้วก็ไม่ฟัง อยากกราบเรียนไปถึงประชาชนขอให้ติดตามด้วยแล้วกัน ว่าอะไรที่ตอบไปแล้ว อะไรที่ท่าน ส.ส.บางท่านพูดมาใช่ข้อเท็จจริงหรือไม่ ตนคิดว่าอย่าดูถูกประชาชน วันนี้รับรู้รับทราบพอสมควรแล้ว กรณีโควิดขอถามว่าวันนี้สถานการณ์แพร่ระบาดจะจบเมื่อไร จบได้หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ ทำให้รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อม ส่วนการจัดเก็บรายได้ทุกคนทราบดีว่าไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับการบริหารงบเงินกู้ ใครเคยเป็นรัฐบาลก็จะรู้ว่ายากง่ายแค่ไหน เบิกจ่ายอย่างไร ซึ่งตนพยายามเร่งอย่างเต็มที่ ไม่ใช่อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ววันรุ่งขึ้นเบิก มะรืนจ่าย เป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างมีอีกเท่าไร ท่านไม่เคยทำหรืออย่างไร หรือแสดงว่าแต่ก่อนไม่ต้องทำ
“วันนี้ผมจำเป็นต้องพูดลักษณะนี้บ้างให้เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรด้วยความไม่ละเอียดรอบคอบ พอประชุมทบทวนก็หาว่าช้า ไม่ทบทวนก็บอกทุจริต ขอให้ไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรมแล้วกัน โชคดีที่ในสภามีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ถ้าพูดข้างนอกมีปัญหาเหมือนกันล่ะ ผมเอาข้อเท็จจริงมาสู้ ไม่ได้เอาเรื่องโกหกบิดเบือนมาสู้ ผมพูดไม่ได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้วว่าจะไม่พูดโกหก เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องจีดีพีหดตัว มีประเทศไหนไม่หดบ้าง สถานการณ์แบบนี้ก็หดลงทุกประเทศ เราจึงต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มีรายได้ในอนาคต รู้จักคำว่าอนาคตหรือไม่ รัฐบาลที่ผ่านมาเคยทำเหมือนวันนี้หรือไม่ ถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัล การใช้ข้อมูลทุกอย่าง ทำมา 5 ปีบวกกับ 2 ปีนี้ทั้งนั้น ตนจำได้เหมือนกันว่าเข้ามาแล้วเจออะไรบ้าง คงไม่ต้องพูดทั้งหมด รู้แน่แก่ใจกันทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยืนยันไม่เคยตัดงบสาธารณสุข แต่การจัดหาต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบทุกอัน หรือสมัยท่านไม่มีตรวจสอบหรือไม่ ก็ไม่ทราบ ท่านก็พูดแต่ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีการตรวจสอบ ทำไมจะไม่มี ตนไม่ถูก ป.ป.ช. หรือ สตง. ตรวจสอบบ้างหรือ ก็ชี้แจงไปแล้ว พูดหลายครั้งแล้ว เว้นแต่บางคนชี้แจงไม่ได้
“ผมไม่อยู่ท่านก็บอกว่าผมไม่ฟัง แต่เวลาผมพูดท่านก็ไม่อยู่ พูดแล้วพูดอีกคำเดิม จำได้เข้ามานี่ จีดีพีลดลง ไอ้นี่ลดลง ไอ้นั่นลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ก็เพิ่มขึ้นตามเงินกู้ ถามว่า 5 แสนล้านบาทกู้ทีเดียวหรือไม่ ทยอยกู้ใช่หรือไม่ มีกฎหมายทุกตัว ผมไม่โง่กู้ถึง 60% โดยที่มันผิดกฎหมายหรอก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า เรื่องระบบสาธารณสุข มีการอนุมัติงบเงินกู้แล้ว 44,079 ล้านบาท มีค่าวัคซีนด้วย ไม่ต้องกลัว ไม่ว่าจะตั้งงบประมาณไว้ที่ไหนก็แล้วแต่ รัฐบาลหาให้ได้เสมอ ตนยืนยัน ค่าเสี่ยงภัยก็ให้ ค่าวัคซีน 35 ล้านโดสก็มีไว้ให้ เดี๋ยวไม่มีก็ปรับงบอื่นมาให้ เพราะมันปรับได้ทั้งนั้น
(วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล)
@'วิโรจน์'อัดรัฐบาลใช้เงินกู้แค่เยียวยา ไม่แก้ปัญหา สธ.
เมื่อเวลา 16.15 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์วันนี้ไม่ใช่การกู้ เพราะสถานการณ์อย่างนี้อย่างไรก็ต้องกู้ แต่สิ่งที่จะไม่พูดไม่ได้ คือวิธีการใช้เงินกู้ของรัฐบาลนี้ต่างหาก ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินกู้แล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท เปรียบประเทศเหมือนคนประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ขาหัก สะโพกหัก ซี่โครงหักทิ่มปอด เงินเยียวยาเหมือนการฉีดยาชา วางยาสลบ งบสาธารณสุขเหมือนการให้หมอมาผ่าตัดรักษา และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปรียบเหมือนการกายภาพบำบัด
“แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำเหมือนฉีดยาชา วางยาสลบ แต่พอผมตื่นขึ้นมาผมตกใจ คุณหมอยังไม่ผ่าตัดอีก มองไปมีแต่ทินเจอร์ พอยาชาหมดฤทธิ์ก็กลับมาเจ็บปวดเหมือนเดิม แถมยังลากผมลงจากเตียงพาไปหัดเดินทั้งที่ขายังหัก สะโพกยังแตก ซี่โครงยังทิ่มปอด สุดท้ายอาการมีแต่จะทรุดหนักลงกว่าเดิม” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า งบเยียวยาเบิกไปใช้แล้วเกือบเต็มวงเงิน แต่เมื่อดูงบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายไปแค่ 9,556 ล้านบาท หรือแค่ 21% นี่คือสิ่งที่บอกว่าเอาแต่ฉีดยาชาวางยาสลบ แต่ไม่ยอมผ่าตัดรักษา ยกตัวอย่างโครงการเตรียมความพร้อมสถานพบาบาล กันงบไว้ 1 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายแค่ 178 ล้านบาท คืบนหน้าไปแค่ 1.8% ส่วนโครงการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาด กันงบไว้ 1,497 ล้านบาท เบิกจ่าย 127 ล้านบาท คืบหน้า 8.5% ตราบใดก็ตามที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าจะคุมการระบาดได้ ไม่รู้ว่าจะฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อไร เมื่อคุมไม่ได้ เศรษฐกิจเปิดไม่ได้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นต่างๆ ก็คาดหวังผลอะไรไม่ได้เลย เพราะพอการระบาดเกิดขึ้น ทุกอย่างที่ทำลงไปกำลังจะงอกเงย ก็พังทันที เหมือนคนขาหัก แต่ยังไม่ผ่าตัดดามเหล็ก แถมไปบังคับให้หัดเดิน สุดท้ายไม่แคล้วต้องตัดขาทิ้ง
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่น่าเศร้าที่สุด มาตรการที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหวังจะช่วยให้ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้บ้างคือโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 1 และ เฟส 2 ซึ่งรัฐบาลเอาเงินไปอุดหนุนค่าที่พักให้ 40% แทนที่จะช่วยเสริมสภาพคล่อง กลับเอาเงินแผ่นดินภาษีประชาชนไปดึงสภาพคล่องเอเจนซี่รับจองที่พักออนไลน์ ซึ่งเป็นเอเจนซี่ต่างชาติ กว่าผู้ประกอบการโรงแรมที่เป็นคนไทยจะได้เงิน ต้องรอ 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่เข้าพัก เท่ากับเงินถูกนำไปให้เอเจนซี่ต่างชาติหมุนนานกว่า 1 เดือนกว่าผู้ประกอบการจะได้เงิน
“เงินกู้ 5 แสนล้านบาทมีความจำเป็น แต่จะปล่อยให้รัฐบาลนี้กู้ไปถลุงต่อไปคงไม่ไหว จะปล่อยให้ลุงไปผลาญแล้วให้ลูกหลานตามใช้หนี้แบบนี้ไม่ได้ และเงิน 5 แสนล้านบาทต้องกู้ แต่รัฐบาลที่จะกู้ต้องไม่ใช่รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีที่จะกู้ต้องไม่ใช่คนที่ชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” นายวิโรจน์ กล่าว
@ภท.เหน็บกู้หน้านายกฯ สำคัญกว่ากู้เงิน
เมื่อเวลา 11.00 น. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาเพิ่งพิจารณาเงินงบประมาณปี 2565 หากมองด้วยความเป็นธรรม สิ่งที่ รมว.คลังนำเสนอเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่ามีความจำเป็น มีความสำคัญหลายอย่าง เนื่องจากมีงบประมาณหลายอย่างไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในงบประมาณประจำปี อย่างไรก็ตาม การอภิปรายก็ควรที่จะสะท้อนปัญหาอย่างตรงไปตรงมาจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เราหวังว่าจะไม่ซ้ำรอยเดิมกับการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา และมีสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ 3 เรื่อง คือ จริงจังกับการแก้ปัญหาสาธารณสุข ไม่เยียวยาแบบเดิม เพิ่มเติมเรื่องการฟื้นฟูสร้างประเทศเพื่ออนาคต
นายกรวีร์ กล่าวด้วยว่า การกู้เงินทั้ง 2 ครั้งนี้ ความรู้สึกเหมือนกับว่าเอาสาธารณสุขเป็นข้ออ้างบังหน้าในการกู้เงิน ครั้งที่แล้วเรากู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีงบสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ครั้งนี้กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มีงบสาธารณสุขไม่กี่หมื่นล้านบาท หากท่านเข้าใจ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองที่มี สศช.เป็นประธาน คงไม่มีมติให้ชะลอการจ่ายเงินให้กับ อสม. แต่ยังโชคดีที่นายกรัฐมนตรียังฟังคำท้วงติง จึงอนุมัติให้จ่ายเงินค่าป่วยการ ค่าเสี่ยงภัยให้กับ อสม.ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ สะท้อนให้เห็นว่าพวกท่านไม่เข้าใจปัญหาหรือประเด็นในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ขณะที่การเยียวยาหากจะใช้วิธีการแบบเดิม ต้องไม่ใช่การแจกเงิน แต่ต้องมองไปที่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้
“การกู้เงินในนาทีนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือต้องกู้หน้า นายกรัฐมนตรี ท่านต้องกู้หน้ารัฐบาลนี้ กู้ความเชื่อมั่น หากกู้กลับคืนมาไม่ได้ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาครั้งนี้ได้ พวกเราพรรคภูมิใจไทยจะติดตามเรื่องนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการกู้เงินครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยเดิม” นายกรวีร์ กล่าว
@ ‘ณัฐชา’ ซัดของเก่าแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เบิกจ่ายไม่คืบ
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายคัดค้าน พ.ร.ก.กู้เงิน ระบุว่าหมดความไว้ใจการใช้เงินของนยกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมา เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พบว่านำไปใช้ในโครงการแจกเงินไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง ไม่ทันการณ์ เงินเยียวยาล่าช้า เมื่อดูรายละเอียดครั้งที่ผ่านมา โครงการปรับปรุงห้องต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จแม้แต่โครงการเดียว
“แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตอนกู้เงินบอกว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ บอกมีภาคการเกษตรรายได้เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาท มีพื้นที่เก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร นี่กู้มา 1 ปียังไม่เพิ่มสักหยด เกษตรทฤษฎีใหม่ 3,000 กว่าล้านบาทเพิ่งเบิกไป 15% แล้วท่านบอกว่ารีบจนต้องออก พ.ร.ก. อีกโครงการไฮไลต์คือโคกหนองนาโมเดล งบประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท เบิกจ่ายไปได้ 17% เข้าไปดูโครงการภายใน สุดท้ายตั้งศูนย์การเรียนรู้ในค่ายทหาร 157 แห่ง ใครฟื้น ใครฟู แบบนี้จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจกันอย่างไร” นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า วันนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน เตรียมเอกสารมา 5 แผ่น ถ้ามีความจริงใจขอให้ยืนยันกับประชาชนเลยว่า กู้ไปแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น เช่น ประชาชนกลับคืนสู่สภาวะปกติภายในกี่เดือน รายได้ปกติจะกลับมาเมื่อไร ฉีดวัคซีนภายในกี่ปี หรือกู้เงินแล้วจะมีวัคซีนให้เลือกกี่ยี่ห้อ พูดกันให้ชัดๆไปเลย ประชาชนจะได้นับถอยหลังเลยว่าเหลืออีกกี่เดือนกี่นาทีที่จะต้องทำตามที่พูด
@‘สาธิต’ ย้ำทุ่มงบซื้อวัคซีน คือคำตอบที่ดีที่สุด
นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ประเด็นของการพิจารณาคงไม่ใช่เรื่องของการก่อหนี้อีกแล้ว เพราะเป็นจริงอย่างที่ รมว.คลัง ระบุไว้ว่า ขณะนี้หนี้ท่วมโลก ทุกรัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่พอ ก็ต้องมีการกู้เงิน แต่ประเด็นสำคัญคือ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่ต่อเนื่องจากครั้งก่อน เราต้องตั้งคำถามว่า กู้แล้วประชาชน ประเทศชาติได้อะไร จาก 1 ล้านล้านบาทกับอีก 5 แสนล้านบาทเราจะได้อะไร โดยการกู้เงินครั้งก่อน 1 ล้านล้านบาท บอกว่า 4 แสนล้านบาทจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ พบว่ามีการอนุมัติไป 2 แสนล้านบาท และเห็นได้ชัดว่า โครงการที่เสนอมาไม่มีคุณภาพ หลายโครงการต้องมาเสนอปรับลดเป้าหมายโครงการ มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะผ่านมา 1 ปี การใช้จ่ายทำไปได้เพียง 40% เท่านั้น แต่เรื่องที่ใหญ่กว่า บางโครงการที่จะช่วยคนเดือดร้อนกลับอนุมัติล่าช้า เพราะเราใช้กรรมการ สศช. เอาคนไม่เดือดร้อนมาพิจารณา จึงทำให้เกิดความล่าช้า
นายสาธิต กล่าวอีกว่า มาถึงวันนี้คำตอบสุดท้ายที่จะสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมนี้ได้ คำตอบสุดท้ายอยู่ที่วัคซีน ไม่เอาอีกแล้วโครงการไร้คุณภาพ การกำหนดสัดส่วนการใช้เงินต้องชัดเจน หากตัวเลขไม่ผิดพลาด เราตั้งใจจะฉีด 100 ล้านโดสให้ได้สิ้นปี 2564 เราเตรียมวงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท ใช้งบกลางส่วนหนึ่งและเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่ครบ 100 ล้านโดส เหตุใดไม่ใช้เงินกู้ก้อนใหม่ใส่ไปเลย 6 หมื่นล้านบาท วันนี้สับสนที่สุดคือเรื่องวัคซีน หลายจังหวัดไปแล้วไม่ได้อย่างที่ต้องการ ขอให้ใช้เงินกู้ก้อนนี้จัดการเรื่องวัคซีนให้ชัดเจน นอกจากนั้น
“เงินนี้ไม่ควรนำไปทำโครงการไร้ประสิทธิภาพอย่างอื่น เพราะไม่มีใครตอบได้ว่าระบาดรอบที่ 4 จะเกิดขึ้นเมื่อไร วัคซีนเข็มที่ 3-4 จะต้องฉีดหรือไม่ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ขอให้ทุ่มเทไปที่เรื่องวัคซีน และอย่าเอาการเมืองมานำการแพทย์ ต้องไม่มีโควตาพรรคการเมืองนำคนไปฉีดวัคซีนก่อนชาวบ้านคนจน ต้องเลิก ประเภทที่บอกว่ามีการซื้อขายคิวฉีดวัคซีนต้องไม่มี วันนี้เรื่องบางพรรคได้โควตาไปฉีดมันหนาหูมาก และไม่ใชพรรคการเมืองเดียว ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ประชาธิปัตย์ไม่มี แต่รัฐบาลต้องสร้างความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ให้ชัดเจน” นายสาธิต กล่าว
@ 'มาดามเดียร์' อัด สธ.ทำงานไร้แผน เพิ่งเร่งเบิกจ่ายหลังโควิดบานปลาย
เมื่อเวลา 13.00 น. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายถึงการเบิกจ่ายงบเงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยนับตั้งแต่ที่ พ.ร.ก.ผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2563 พบว่าจนถึงวันที่ 5 พ.ค.2564 มีการอนุมัติแผนงานด้านสาธารณสุขไปเพียง 42 โครงการ คิดเป็น 25,825.87 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางระบุว่า เบิกจ่ายไปแล้ว 7,102.64 ล้านบาท หลังจากวันที่ 5 พ.ค.ผ่านมา 33 วันจนถึงปัจจุบัน ครม.ได้อนุมัติงบประมาณด้านสาธารณสุข 284.5 ล้านบาท สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ จากวงเงิน 45,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 เหลือวงเงิน 236 ล้านบาทหรือใช้วงเงินอนุมัติไปแล้ว 99%
“คำถามคือ ในช่วงเวลากว่า 393 วันที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยไว้อย่างไร ใช้เงินไปเพียง 57% ของ 4.5 หมื่นล้านบาทที่ให้อาวุธไปสู้กับโรคร้ายให้กับคนไทย แต่หลังจากนั้น 33 วันกลับสามารถมีโครงการขออนุมัติได้ถึง 1.9 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการใช้งบล่าช้า แล้วมาเร่งเอาทีหลังในวันที่สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ทำให้เห็นว่าการทำงานไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหรือประเมินความเสี่ยงไว้อย่างรอบคอบ” น.ส.วทันยา กล่าว
(ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ และ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.ประชาธิปัตย์)
@ 'ยุทธพงศ์'ซัดไม่เร่งด่วน จี้ปรับเป็นงบกลางปี 64
เมื่อเวลา 10.45 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายเป็นคนแรก โดยกล่าวว่า การกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทยังเสมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรีไปใช้โดยไม่มีรายละเอียด เมื่อเทียบกับการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2563 พบว่ามีความล้มเหลว แม้มีเงินกู้ แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ทำให้เกิดการระบาดและมีติดเชื้อต้องเสียชีวิต ซึ่งการเสนอขอเงินกู้รอบที่ผ่านมา 1 ล้านล้านบาท แม้อ้างถึงความจำเป็นรีบด่วน แต่ก็พบว่าการใช้ไม่มีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดสรรเงินให้ระบบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท แต่พบการเบิกจ่ายไปเพียง 26% หรือ 1.1หมื่นล้านบาทเท่านั้น และกรณีที่ระบุว่านำเงินเพื่อเป็นเบี้ยเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า แต่กลับพบว่า มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขอเงินนักการเมือง เช่น จ.นครพนม พบว่า นายศุภชัย โพธิสุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภา คนที่สอง ยังต้องใช้เงินส่วนตัว 7 ล้านบาทเพื่อซื้อประกันภัยให้กับ อสม. ทั้งนี้เมื่อรวมยอดการเบิกจ่ายจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พบว่าเบิกจ่าย รวม 7.7 แสนล้านบาท มียอดเบิกจ่ายเหลือ 2.3 แสนล้านบาท
“ผมขอให้รัฐบาล เปลี่ยนจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ไปเป็นพ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 5 แสนนล้านบาทแทน เพื่อให้สภาได้ตรวจสอบและเกิดความคุ้มค่ากับการกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ย เพราะ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการติดเชื้อโควิดที่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ไม่มีทางยุติลงภายในปีนี้ และผมเชื่อด้วยว่ารัฐบาลจะใช้เงินกู้ไม่ทันปีงบประมาณแน่นอน” นายยุทธพงศ์ กล่าว
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 พ.ค.2564 จะไปรอให้เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นไปไม่ได้ เพราะช้าและไม่ทันต่อการแก้ปัญหา เหตุผลที่ประกาศใช้ พ.ร.ก. เพราะมีการระบาดระลอกที่สาม กระทบประชาชน ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน รีบด่วน ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรา พ.ร.ก. ฉบับนี้ถูกต้องแล้ว หากรอให้บรรจุใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องรออีกหลายเดือน ประชาชนที่เดือดร้อนอยู่จะทำอย่างไร ดังนั้น ส.ส.ต้องเห็นใจคนเดือดร้อน เขารอความช่วยเหลือ นายกรัฐมนตรีเห็นปัญหาและเข้าไปช่วยโดยไม่เกรงกลัวต่อคำครหาใดๆ ใจทำดีเสียอย่าง ไม่ต้องกลัว
“ผมอยากจะกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรี แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ตามจากนักการเมือง ขอให้นายกรัฐมนตรีตระหนักว่าประชาชนทั้งประเทศเขาส่งกำลังใจ มีความหวัง ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่าน และเขาได้รับการช่วยเหลือมาก่อนหน้านั้นแล้ว หากท่านไม่ท้อถอย มุ่งมั่นอย่างนี้ ตั้งใจจริง เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเป้าหมาย ท่านทำเพื่อประชาชน ท่านไม่ต้องไปกลัวใคร คนดี ทองแท้ ไม่กลัวไฟ หวังว่าจะเป็นกำลังใจให้กับท่านทุกประการ” นายไพบูลย์ กล่าว
(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง)
@'อาคม'ยืนยันหนี้ภาครัฐต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 10.14 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวเปิดอภิปราย ว่า เหตุผลและความจำเป็นในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะสถานการณ์โควิดมีการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลกระทบโดยตรงถึงประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 23 ปี นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตรา พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการใช้จ่ายเงินกู้แล้ว 298 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 980,828 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ประการ
1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อนุมัติ 46 โครงการ วงเงิน 44,479 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ อาทิ จัดหาวัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และค่าบริการสาธารณสุข
2.ด้านการช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ อนุมัติโครงการแล้ว 15 โครงการ วงเงิน 690,136 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลรกะทบครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ มีผู้ได้รับการช่วยเหลือผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราชนะ โครงการ ม33 เรารักกัน
3.ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติ 237 โครงการ วงเงิน 246,213 ล้านบาท มุ่งเน้นการจ้างงาน ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนระยะสั้น ผ่านโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการกำลังใจ เป็นต้น
“สำหรับกรอบวงเงินกู้คงเหลืออีก 19,172 ล้านบาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการอยู่ระหว่างนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา วงเงินประมาณ 17,408 ล้านบาท และจะเสนอให้ ครม.อนุมัติต่อไป ดังนั้นมีเงินเหลือ 1,764 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิดในระยะต่อไปได้” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าต่ออีกว่า การดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อแก้ปัญหาช่วงที่ผ่านมา ช่วยบรรเทาปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว 8% เหลือเพียง 6.1%
นอกจากการตรา พ.ร.ก.กู้เงิน ในส่วนมาตรการด้านการเงิน ครม.ยังได้ตรา พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พ.ศ.2563 ช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการไปแล้ว 77,787 ราย วงเงินสินเชื่อ 138,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ครม.ยังได้ตรา พ.ร.ก.ให้การช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด พ.ศ.2564 มีผลใช้บังคับ 10 เม.ย.2564 ช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่อง ลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการภายใต้วงเงิน 350,000 ล้านบาท
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ภายใต้ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ทำให้สภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ ดำเนินไปได้ปกติภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้น
นายอาคม กล่าวย้ำว่า ในช่วง ม.ค.2564 ถึงปัจจุบัน ไทยเจอการระบาดระลอกใหม่ มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ กระจายเป็นวงกว้าง สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวได้เพียง 1.5-2.5% นอกจากนี้คาดว่า ภาคการท่องเที่ยว ยังได้รับผลกระทบจากการระบาด มีนักท่องเที่ยวลดลงจากปีก่อน 53% และรายได้จากนักท่องเที่ยวลดลง 440,000 ล้านบาทหรือ 2.76% ของจีดีพี ทั้งนี้รัฐบาลวางแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ฉีดวัคซีนครบโดส จากประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ โดยจะเริ่มนำร่องที่ จ.ภูเก็ต หรือที่เรียกว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
รัฐบาลไทยและทุกรัฐบาลทั่วโลก ดำเนินนโยบายการคลังโดยการกู้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา ทำให้สิ้นปี 2564 ระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลก (world general government debt) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูง 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,760 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 300 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 มีประเทศสำคัญของโลกที่มีหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อาทิ ญี่ปุ่น คาดว่าจะอยู่ที่ 256.5% อังกฤษ 107.1% อินเดีย 86.6% และจีน 69.6% กรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 60% อาจเรียกว่าเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังที่ถูกใช้ในสภาวะปกติ ทั้งนี้ตัวเลขหนี้ภาครัฐบาลของไทยตามนิยามสากลขององค์กรระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 อยู่ที่ 50.69% ต่อจีดีพี ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
ข่าวประกอบ :
เหลือ 5 แสนล.! แพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯใหม่ แก้โควิด-สธ.ได้ 3 หมื่นล.-คลัง 4.7 แสนล.
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
สภาผู้แทนราษฎร บรรจุระเบียบวาระนัดถก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล. 9 มิ.ย.
เคาะ 2 วันสภาถกร่าง พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฯ 5 แสนล.-‘บิ๊กตู่’มาแจงหรือไม่แล้วแต่ รบ.
เฉพาะเยียวยา 7 แสนล.! 1 ปี พ.ร.ก.กู้เงิน รัฐบาลอนุมัติ-วางแผนเต็มเพดาน 1 ล้านล้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/