‘แบงก์ชาติ’ เชื่อการเพิ่มการค้ำประกันเป็น 40% ของวงเงินสินเชื่อ-กำหนดดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี จะทำให้สถาบันการเงิน ‘สบายใจ’ และปล่อยเม็ดเงินให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง-ลูกหนี้ใหม่
.................
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง มาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยระบุว่า ธปท.จะเปิดให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท. ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธปท. เชื่อว่าด้วยกลไกที่ธปท.ออกแบบไว้ คือ การให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อลูกค้าทุกราย โดยรัฐรับภาระชดเชยการค้ำประกัน 40% ของวงเงินกู้ กรณีเป็นรายเล็กอาจค้ำประกันได้สูงสุด 90% ของวงเงินกู้ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี โดย 2 ปีแรกคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี จะสร้างความสบายใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง หรือลูกค้ารายใหม่
“กลไกสำคัญของสินเชื่อฟื้นฟูฯ พระเอก ไม่ใช่ตัวเม็ดเงินจากแบงก์ชาติ แต่เป็นกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งครั้งนี้เราดีไซด์ในสิ่งที่สถาบันการเงินคุ้นเคย คือ การใช้กลไกค้ำประกันที่ดำเนินการโดยบสย. และเราได้เพิ่มการันตีให้สูงถึง 40% รวมทั้งสามารถจัดแพ็กเก็จย่อยๆได้อีก เช่น ถ้าเป็นลูกค้ารายเล็กๆการค้ำประกันจะยิ่งสูงขึ้น อันนี้จะทำให้สถาบันการเงินปล่อยเม็ดเงินลงไปให้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าตัวซอฟต์โลนระยะที่ 1 ได้” น.ส.สุวรรณีกล่าว
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า ขณะนี้มีลูกค้าเริ่มติดต่อขอสินเชื่อซอฟต์โลนใหม่กับสถาบันการเงินแล้ว และเมื่อธปท.เปิดให้สถาบันการเงินยื่นขอวงเงินสินเชื่อในวันที่ 26 เม.ย.นี้ ยอดขอสินเชื่อจะทยอยเข้ามา และจะเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 3 ทั้งนี้ สินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ 1 แสนล้านบาท สามารถโยกวงเงินระหว่างกันได้ ขณะที่ธปท.ได้ติดทีมติดตามปัญหาและข้อร้องเรียนของทั้ง 2 มาตรการ เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการต่อไป
สำหรับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ภายใต้พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่เป็นหนี้เสีย สามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินกู้เดิม หรือไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้ใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินกู้กับสถาบันการเงิน สามารถยื่นขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2 ปีแรกไม่เกิน 2% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย 5 ปี เฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก
ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆเพิ่มเติมจากดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ รวมถึงดอกเบี้ยผิดนัดในช่วง 5 ปี แต่ลูกหนี้จะมีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. ในอัตรา 1.75% ต่อปี หรือคิดเป็น 17.5% ในช่วงเวลา 10 ปี โดยรัฐสนับสนุนจ่ายธรรมเนียมแทนลูกหนี้ 3.5% ตลอดอายุสัญญา ขณะที่รัฐบาลจะรับภาระชดเชยการค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ
2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์โอนทรัพย์เป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน โดยมีเงื่อนไขว่าลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์มีสิทธิซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปีนับตั้งแต่วันที่โอน และลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์เพื่อนำไปทำธุรกิจได้
ส่วนราคาที่ลูกหนี้ซื้อทรัพย์คืนนั้น จะต้องไม่เกินราคาที่สถาบันการเงินตีโอนทรัพย์ของลูกหนี้ บวกด้วยค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying cost) ไม่เกิน 1% ต่อปี และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจริง ลบด้วยค่าเช่าที่ได้รับจากลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ระหว่างสัญญา
อ่านประกอบ :
ธปท.ประกาศเกณฑ์ปล่อย 'ซอฟต์โลน-พักทรัพย์พักหนี้ฯ' เปิดแบงก์ยื่นกู้ 26 เม.ย.นี้
ประกาศใช้! พ.ร.ก.ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจฯ 3.5 แสนล. ปล่อยซอฟต์โลน-พักทรัพย์พักหนี้
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/