ป.ป.ช.ชง 7 ข้อเสนอแนะถึง ครม.รับทราบผลคะแนน ITA ปี 63 หวังผลยกระดับคะแนนความโปร่งใสในการดำเนินการหน่วยงานรัฐใหม่ ชง รมว.ดิจิทัล-ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องบูรณาการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ จี้ผู้ว่าฯ-นายอำเภอ ให้ อปท.เปิดเผยข้อมูล-บริการสาธารณะตามกฎหมาย
.....................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงาน ITA DAY 2020 – Talks and Result Announcement โดยมีการจัดเวทีสนทนา และประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยในภาพรวม มีหน่วยงานภาครัฐและการมีส่วนร่วมในการประเมิน แบ่งเป็น หน่วยงานภาครัฐ 8,303 หน่วยงาน บุคลากรของรัฐ 447,790 ราย และผู้รับบริการ/ผู้มาติดต่อภาครัฐ 853,875 ราย คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 67.90 คะแนน (เกรด C) หรือไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ 85 คะแนนขึ้นไปนั้น (อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร? คะแนน ITA ปี 63 หน่วยงานรัฐ 7.2 พันแห่ง‘สอบตก’ 3 เหล่าทัพลิ่ว-ตร.แห้ว)
ผู้สื่อข่าวรายงานวความคืบหน้ากรณีนี้ว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 มีมติเห็นชอบให้เสนอรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมทั้งการจัดให้มีมาตรการ กลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
สำหรับรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นการสรุปผลการประเมินฯ ในมิติที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐทั้งในเชิงภารกิจและในเชิงพื้นที่ โดยวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นถึงจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดสำคัญที่ส่งผลให้ผลการประเมินในภาพรวมระดับประเทศยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงถอดบทเรียนต้นแบบการบริหารจัดการของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัด เพื่อนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ต่อคณะรัฐมนตรี ในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศให้สามารถพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีถึงคณะรัฐมนตรี สรุปได้เป็น 7 ประเด็นหลัก ดังนี้
1) เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และรายงานสรุปผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2) คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 เป็นหลัก โดยกำหนดนโยบาย โครงการ กิจกรรม การกำกับควบคุม หรือการกำหนดตัวชี้วัดการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เนื่องจากผลการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ค่าคะแนนจากตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ฉุดรั้งการบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ คือ ค่าคะแนนของตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล และตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต
3) คณะรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตัวชี้วัดประเมินผลการปฏิบัติราชการ ควรกำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ในแต่ละขั้นตอน และกลั่นกรองข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะให้มีความถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด อันจะยังผลให้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ สามารถบรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริหารของหน่วยงานหลายแห่ง ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลและบริการภาครัฐที่ได้เผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานก่อนส่งคำตอบเข้าสู่ระบบ ITAS
4) คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ควรสนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์ และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ (user interface) ที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และอำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ข้อมูลภาครัฐในมิติของการพัฒนาและการป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ (machine readable) ตลอดจนเพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดจ้างออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งที่มีความกระจัดกระจายไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ควรศึกษาแนวทางการพัฒนาเครื่องแม่ข่าย (server) ระบบเครือข่าย (network) พร้อมซอฟต์แวร์ (software) ที่จำเป็นในระดับจังหวัด เพื่อรองรับเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมาก
5) คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ควรกำหนดกิจกรรมเสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นการมอบสิ่งจูงใจและสร้างต้นแบบในการพัฒนาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนกำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่มีผลการประเมิน ITA ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ต้องเข้ารับการอบรมและจัดทำแผนการพัฒนาปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น
6) คณะรัฐมนตรีและองค์กรสื่อของรัฐ ควรสนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในการเสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศในการเปิดเผยข้อมูลและให้บริการประชาชน เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ องค์ความรู้ และสร้างความตระหนักให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้เห็นถึงประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลและการรับบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ
7) ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการส่วนภูมิภาค และกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ควรกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด
อ่านประกอบ :
22 องค์การมหาชนสอบตก ITA 63‘กองทุนสื่อฯ-กองทุนหมู่บ้าน’ด้วย-3 หน่วยงานสังกัดสภาฉลุย
ผล ITA ปี 63 หน่วยงานรัฐอื่น-กองทุน กอ.รมน.สอบตก-สถาบันพระบรมราชชนกจมบ๊วย
ผ่านครึ่ง-ไม่ผ่านครึ่ง! 38 จังหวัด‘สอบตก’ประเมิน ITA ปี 63-‘อุดรธานี’บ๊วย
55 หน่วยงานระดับกรม‘สอบตก’ประเมิน ITA 63-สารพัดเรื่องร้อง ปภ.ทำคะแนนร่วง?
19 รัฐวิสาหกิจ‘สอบตก’ ITA ปี 63 - องค์การสวนสัตว์ฯเกรด C จับตาสางปัญหาทุจริต?
4,757 อบต.จาก 5,313 แห่ง‘สอบตก’ ประเมิน ITA ปี 63 กทม.ฉลุย-พัทยาได้เกรด D
เทศบาลตำบล 2,044 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ ITA - อุดมธัญญา จ.นครสวรรค์ ท็อป 99.03 คะแนน
รายชื่อเทศบาลเมือง 158 แห่ง ‘สอบตก’ ITA -‘พิมลราช’ จ.นนทบุรี AA หนึ่งเดียว
19 เทศบาลนคร‘สอบตก’คุณธรรมโปร่งใส ‘ขอนแก่น นนทบุรี ปากเกร็ด’-‘แหลมฉบัง’บ๊วย
อบจ.60 แห่ง‘สอบตก’คุณธรรมความโปร่งใส จว.ใหญ่อื้อ ‘ลพบุรี’ติด E -‘สมุทรสาคร’สูงสุด
เปิด ITA 83 สถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย 23 แห่ง ‘สอบตก’ - 3 มรภ. ท็อป 5
เช็คชื่อหน่วยงานรัฐชายแดนใต้ "ประเมินความโปร่งใส" ใครผ่าน-ใครตก!
ใครเป็นใคร? คะแนน ITA ปี 63 หน่วยงานรัฐ 7.2 พันแห่ง‘สอบตก’ 3 เหล่าทัพลิ่ว-ตร.แห้ว
ผู้นำประเทศอาจตกใจ! ป.ป.ช.เผยผลคะแนน ITA ปี 63 ได้แค่เกรด C-ชง ครม.รับทราบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/