เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้แถลงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ITA (Integrity and Transparency Assessment) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการทุจริต เป็นกลไกสร้างความตระหนักให้หน่วยงานรัฐนำไปทบทวนการปฏิบัติงานให้เกิดความโปร่งใส มีคุณธรรม และยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สำหรับผลประเมิน ITA ในปี 2563 นี้ คะแนนเฉลี่ยของหน่วยงานรัฐทั้งประเทศ 8,303 หน่วยงานที่เข้ารับการประเมิน อยู่ในระดับ C หรือ 67.90 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยมีตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ตัว เช่น การปฏิบัติหน้าที่, การใช้งบประมาณ, การใช้อำนาจ, การแก้ไขปัญหาการทุจริต ฯลฯ โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดของทั้งประเทศ คือ การเปิดเผยข้อมูล ได้ 53.12 คะแนน และการป้องกันการทุจริต ได้เพียง 36.29 คะแนน
หน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ต้องได้ 85 คะแนนขึ้นไป มีทั้งสิ้น 1,095 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13.19 และไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 7,208 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.81 (อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร? คะแนน ITA ปี 63 หน่วยงานรัฐ 7.2 พันแห่ง‘สอบตก’ 3 เหล่าทัพลิ่ว-ตร.แห้ว)
ที่น่าสนใจก็คือหน่วยงานรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ "สอบตก" จำนวนมาก แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่ "สอบผ่าน" และได้คะแนนสูงอย่างน่าชื่นชมเช่นกัน
ประเภทสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่ผ่าน ได้คะแนน 78.98 คะแนน อยู่ในระดับ B คะแนนตกจากปีที่แล้วที่ทำไว้ 87.08 คะแนนส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สอบผ่าน ได้คะแนนสูงระดับ A คือ 91.76 คะแนน ขณะที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทุกวิทยาเขต สอบตก ได้คะแนนเพียง 72.76 คะแนน อยู่ในระดับ C แม้คะแนนจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วก็ตาม
ประเภทจังหวัด นราวาส กับ ปัตตานี ไม่ผ่านเกณฑ์ ได้คะแนนเพียง 68.44 กับ 68.85 เท่านั้น อยู่ในระดับ C ทั้งคู่ มีเพียงจังหวัดยะลาที่สอบผ่าน ได้ 87.17 คะแนน อยู่ในระดับ A
ประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเพียง อบจ.นราธิวาส ที่สอบตก ได้ 80.47 คะแนน ระดับ B ส่วน อบจ.ปัตตานี สอบผ่าน ได้ 87.70 คะแนน และ อบจ.ยะลา ได้ 88.86 คะแนน
ประเภทเทศบาลนคร ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแห่งเดียว คือ เทศบาลนครยะลา สอบตก ได้ระดับ B คือ 75.82 คะแนนเท่านั้น และคะแนนตกจากปีที่แล้วที่ทำไว้ถึง 92.51 คะแนน
ประเภทเทศบาลเมือง ใน จ.นราธิวาส 3 แห่ง สอบตกทั้งหมด คือ เทศบาลเมืองนราธิวาส เทศบาลเมืองตากใบ และเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยเฉพาะเทศบาลเมืองนราธิวาส ได้เพียง 51.58 คะแนน อยู่ในระดับ E
ส่วนใน จ.ปัตตานี 2 เทศบาลเมือง คือ เทศบาลเมืองตะลุบัน และเทศบาลเมืองปัตตานี สอบผ่านทั้งคู่ ได้ระดับ A ขณะที่ยะลา มี เทศบาลเมืองเบตง กับ เทศบาลเมืองสะเตงนอก สอบตกทั้งคู่ โดยเฉพาะเทศบาลเมืองสะเตงนอก อ.เมืองยะลา ได้เพียง 60.79 คะแนน ระดับ D
ประเภทเทศบาลตำบล ใน จ.นราธิวาส 13 แห่ง สอบตก 12 แห่ง ผ่านเพียงแห่งเดียว คือ เทศบาลตำบลบาเจาะ
จ.ปัตตานี 15 แห่ง สอบผ่าน 6 แห่ง คือ เทศบาลตำบลหนองจิก เทศบาลตำบลรูสะมิแล เทศบาลตำบลยะรัง เทศบาลตำบลเตราะบอน เทศบาลตำบลตันหยง และ เทศบาลตำบลตอหลัง ขณะที่ จ.ยะลา 13 แห่ง สอบผ่านแห่งเดียว คือ เทศบาลตำบลท่าสาป ที่เหลือสอบตกทั้งหมด หลายแห่งได้คะแนนระดับ D ด้วย ได้แก่ เทศบาลตำบลลำใหม่ เทศบาลตำบลรามันห์ และ เทศบาลตำบลบุดี
ประเภทสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา มี 3 เขต ผ่าน 1 ตก 2 โดยเฉพาะสำนักงาเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 2 ได้ระดับ C คือ 71.10 คะแนน ส่วน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) สอบตก ได้ 65.51 คะแนน ระดับ C
ขณะที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ คือ 73.17 คะแนน ได้เพียงระดับ C เท่านั้น หนำซ้ำยังได้คะแนนต่ำกว่าปี 62 ที่เคยทำไว้ 80.01 คะแนนด้วย
ส่วน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. สอบผ่าน ได้คะแนน 88.51 อยู่ในระดับ A และคะแนนขยับดีขึ้นกว่าปีที่แล้วที่ทำไว้ 88.48 คะแนน