“...ส่วนหน่วยงานภาครัฐ 8,303 หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ แบ่งผลงานตามเกรดได้ ดังนี้ ระดับ AA (สูงสุด) 56 แห่ง (0.67%) ระดับ A 1,039 แห่ง (12.51%) ระดับ B 1,854 แห่ง (22.33%) ระดับ C 2,474 แห่ง (29.80%) ระดับ E 952 แห่ง (11.47%) และระดับ F (ต่ำสุด) 499 แห่ง (6.01%) เท่ากับว่ามีสัดส่วนหน่วยงานตามเป้าหมายแผนแม่บทฯ ที่ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป รวม 1,095 แห่ง คิดเป็น 13.19% และไม่ผ่านเกณฑ์ 7,208 แห่ง คิดเป็น 86.81%...”
.................................
“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คะแนน ITA (การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ) ประจำปี 2563 เฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 67.90 คะแนน หรือระดับ C โดยหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ 99.60 คะแนน ส่วน อบต.สะอาด ใน จ.ร้อยเอ็ด ได้ 28.16 คะแนน โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ หรือได้คะแนนเกิน 80 คะแนนขึ้นไปเพียงร้อยละ 13.19 เท่านั้น”
คือสาระสำคัญตอนหนึ่งที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ ‘การประกาศผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563: ข้อค้นพบเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ในสายตาของคนไทยทั่วประเทศ’ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ (อ่านประกอบ : ผู้นำประเทศอาจตกใจ! ป.ป.ช.เผยผลคะแนน ITA ปี 63 ได้แค่เกรด C-ชง ครม.รับทราบ)
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะนำเสนอผลการประเมินดังกล่าวให้แก่คณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ พร้อมกับนำผลการประเมินนี้จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือเพื่อยกระดับการประเมิน และการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ
อย่างไรก็ดีตอนหนึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ถึงกับบอกว่า “คิดว่าผู้นำประเทศคงสนใจ และอาจตกใจเหมือนกันที่คะแนนยังอยู่ในระดับต่ำ”
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบสรุปผลการประเมิน ITA ประจำปี 2563 ดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
ภาพรวม มีหน่วยงานภาครัฐและการมีส่วนร่วมในการประเมิน แบ่งเป็น หน่วยงานภาครัฐ 8,303 หน่วยงาน บุคลากรของรัฐ 447,790 ราย และผู้รับบริการ/ผู้มาติดต่อภาครัฐ 853,875 ราย โดยคะแนนเฉลี่ยภาพรวม 67.90 คะแนน (เกรด C)
สำหรับตัวชี้วัด 10 ข้อ แบ่งคะแนนได้ดังนี้ 1.การปฏิบัติหน้าที่ 90.15 คะแนน 2.การใช้งบประมาณ 82.29 คะแนน 3.การใช้อำนาจ 86.14 คะแนน 4.การใช้ทรัพย์สินของราชการ 81.41 คะแนน 5.การแก้ไขปัญหาการทุจริต 83.22 คะแนน 6.คุณภาพการดำเนินงาน 83.52 คะแนน 7.ประสิทธิภาพการสื่อสาร 82.58 คะแนน 8.การปรับปรุงการทำงาน 80.11 คะแนน 9.การเปิดเผยข้อมูล 53.12 คะแนน และ 10.การป้องกันการทุจริต 36.29 คะแนน
เห็นได้ว่าคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ กรณีการเปิดเผยข้อมูล (53.12) และการป้องกันการทุจริต (36.29)
ส่วนหน่วยงานภาครัฐ 8,303 หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ แบ่งผลงานตามเกรดได้ ดังนี้ ระดับ AA (สูงสุด) 56 แห่ง (0.67%) ระดับ A 1,039 แห่ง (12.51%) ระดับ B 1,854 แห่ง (22.33%) ระดับ C 2,474 แห่ง (29.80%) ระดับ E 952 แห่ง (11.47%) และระดับ F (ต่ำสุด) 499 แห่ง (6.01%)
เท่ากับว่ามีสัดส่วนหน่วยงานตามเป้าหมายแผนแม่บทฯ ที่ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป รวม 1,095 แห่ง คิดเป็น 13.19% และไม่ผ่านเกณฑ์ 7,208 แห่ง คิดเป็น 86.81%
หน่วยงานศาล 3 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 91.41 คะแนน ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ได้แก่ สำนักงานศาลปกครอง 91.76 คะแนน สำนักงานศาลยุติธรรม 92.12 คะแนน และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 90.35 คะแนน
สำหรับหน่วยงานที่คะแนนต่ำลงเมื่อเทียบกับผลคะแนนเมื่อปี 2562 อย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ หน่วยงานอัยการ เดิมปี 2562 ได้ 90.61 คะแนน แต่ปี 2563 ได้เพียง 71.30 คะแนน ระดับผลการประเมินขั้น C คือไม่ผ่านเกณฑ์ตามแผนแม่บทฯ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการป้องกันการทุจริต การปรับปรุงการทำงาน ประสิทธิภาพในการสื่อสาร การเปิดเผยข้อมูล คะแนนค่อนข้างต่ำอย่างมาก
ส่วนองค์กรอิสระ 5 แห่ง ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับคะแนนสูงสุด 92.12 คะแนน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ 86.96 คะแนน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ 87.45 คะแนน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ 94.06 คะแนน และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ 86.59 คะแนน
ขณะที่หน่วยงานระดับกรม 146 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 85.59 คะแนน ผ่านแบบฉิวเฉียด โดยหน่วยงานที่ประชาชนสนใจ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ได้ 86.48 คะแนน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 91.70 คะแนน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 87.31 คะแนน กองทัพบก 93.88 คะแนน กองทัพเรือ 92.60 คะแนน กองทัพอากาศ 93.98 คะแนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 83.95 (ไม่ผ่านเกณฑ์) สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 92.29 คะแนน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 86.63 คะแนน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 73.14 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 84.32 คะแนน เป็นต้น
ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และการเงินการคลัง เช่น กรมบัญชีกลาง ได้ 87.57 คะแนน กรมศุลกากร 77.86 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) กรมสรรสามิต 86.26 คะแนน กรมสรรพากร 85.12 คะแนน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 74.73 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) เป็นต้น
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ 53 แห่ง ได้รับคะแนนภาพรวม 85.60 คะแนน ผ่านเกณฑ์แบบฉิวเฉียดเช่นกัน โดยหน่วยงานที่ประชาชนสนใจ เช่น การประปานครหลวง 92.21 คะแนน การประปาส่วนภูมิภาค 89.89 คะแนน การไฟฟ้านครหลวง 75.44 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 95.24 คะแนน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 91.03 คะแนน ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ 84.60 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 89.46 คะแนน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) 91.88 คะแนน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 91.13 คะแนน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 90.96 คะแนน บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 95.06 คะแนน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 94.16 คะแนน เป็นต้น
ส่วนธนาคารรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย 88.53 คะแนน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 93.51 คะแนน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 96.74 คะแนน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 95.86 คะแนน ธนาคารออมสิน 97.19 คะแนน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 99.60 คะแนน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 93 คะแนน เป็นต้น
ด้านสถาบันอุดมศึกษา 83 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ย 87.46 คะแนน โดยสถาบันชื่อดังเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ 91.22 คะแนน ม.ธรรมศาสตร์ 92.08 คะแนน ม.เกษตรศาสตร์ ได้ 94.09 คะแนน ม.เชียงใหม่ 89.82 คะแนน ม.ขอนแก่น 92.10 คะแนน ม.ทักษิณ 88.61 คะแนน ม.มหิดล 91.18 คะแนน ม.บูรพา 91.22 คะแนน ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 86.73 คะแนน ม.ศิลปากร 91.16 คะแนน ม.รามคำแหง 85.51 คะแนน เป็นต้น
ขณะที่รายจังหวัด 76 จังหวัด (ไม่รวม กทม.) ได้คะแนนเฉลี่ย 82.04 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) โดยมีจังหวัดที่ผ่านเกณฑ์แม่บท 38 แห่ง (50%) และไม่ผ่าน 38 จังหวัดเช่นกัน (50%) ส่วนรายองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 74.78 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) โดยมี อบจ.ที่ผ่านเกณฑ์ 16 แห่ง (21.05%) และไม่ผ่านเกณฑ์ 60 แห่ง (78.95%)
ส่วนประเภทเทศบาลนคร 30 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 75.85 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) ประเภทเทศบาลเมือง 188 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 70.02 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) ประเภทเทศบาลตำบล 2,243 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 66.40 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) ประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,313 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 66.84 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์)
ที่เหลือ ประเภทองค์การมหาชน 55 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยภาพรวม 85.02 คะแนน ผ่านแบบคาบเส้น หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ 19 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ย 83.47 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจัก (กอ.รมน.) ได้ 73.17 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์) ธนาคารแห่งประเทศไทย 91.94 คะแนน องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 88.57 คะแนน เป็นต้น ส่วนหน่วยงานประเภทกองทุน 7 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ย 83.42 คะแนน (ไม่ผ่านเกณฑ์)
ทั้งหมดคือผลการประเมิน ITA โดยสรุปประจำปี 2563 ที่ประเทศไทยยังได้คะแนนระดับ C ขณะที่เป้าหมายปีนี้กำหนดให้ร้อยละ 50 ของหน่วยงานที่เข้าร่วมประเมิน (อย่างน้อย 4,152 แห่ง) ต้องมีผลการประเมิน 85 คะแนนขึ้นไป แต่กลับได้เพียง 1,095 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.19 เท่านั้นที่ผ่านการประเมิน เรียกได้ว่า ‘ต่ำกว่าเป้า’ ที่ตั้งไว้อย่างมาก
ดังนั้นสิ่งที่ พล.ต.อ.วัชรพล ระบุไว้คือในปี 2565 ตามแผนแม่บทฯกำหนดให้ทุกหน่วยงานผ่านเกณฑ์คะแนนร้อยละ 80 ทั้งหมด “ถือเป็นเป้าหมายที่ยาก” คงจะจริงดังว่า
แต่มุมกลับน่าจะเป็นสิ่ง ‘ท้าทาย’ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ในฐานะ ‘แม่งาน’ ป้อง-ปรามการทุจริต หาแนวทางแก้ไขปัญหากันต่อไป!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage