เปิดงบการเงินพรรคการเมืองสิ้นสุด 31 ธ.ค. 62 พรรคร่วมรัฐบาลแจ้งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. 770 ล้านเศษ พปชร.มากสุดทุ่มเงินกว่า 315 ล้าน ฝ่ายค้านแค่ 87.7 ล้าน ‘ก้าวไกล’รายได้แค่ 2.9 แสน ส่วน ‘อนาคตใหม่’ สิ้นสภาพส่งให้ สตง.ชำระบัญชี
.........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่งบการเงินของพรรคการเมืองประจำปีงบประมาณ 2562 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562) จำนวน 61 พรรคการเมือง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ พรรคการเมืองที่มีองค์ประชุมในที่ประชุมใหญ่ของพรรคครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 39 และมาตรา 60 รวม 52 พรรค ส่วนใหญ่เป็นพรรคชื่อดังทั่วไป เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคก้าวไกล เป็นต้น
กลุ่มสองคือ พรรคการเมืองที่องค์ประชุมในที่ประชุมใหญ่ของพรรคยังไม่ครบถ้วน มี 2 แห่ง คือ พรรคไทรักธรรม และพรรคพลังศรัทธา ส่วนกลุ่มสามคือพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบองค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่พรรค มี 7 แห่ง คือ พรรคความหวังใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังเพื่อไทย พรรคประชาไทย พรรคกรีน พรรคสามัญชน และพรรคเพื่อไทยพัฒนา
นอกจากนี้ยังมี 2 พรรคการเมืองมิได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2562 ได้แก่ พรรคสุจริตชน (พรรคพลังไทยสร้างชาติ) และพรรคภาคีเครือข่ายไทย ทั้งนี้ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 2563 มีพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพจำนวน 21 พรรค (รวมพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบเมื่อ 21 ก.พ. 2563 ด้วย) โดยนายทะเบียนพรรคส่งบัญชีและงบแสดงฐานะการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อชำระบัญชีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ละพรรคมีการแจ้งบัญชีรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมาด้วย โดยพรรคที่น่าสนใจ เช่น
@พรรคร่วมรัฐบาล 20 พรรค
1.พรรคพลังประชารัฐ แจ้งมีรายได้รวม 26,603,382 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการบริจาค 12,710,000 บาท มีรายจ่ายรวม 347,594,716 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก 315,234,379 บาท
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้น แบ่งออกเป็นค่าสนับสนุน ส.ส. 281 ล้านบาท (มติพรรคให้จัดสรรเงินแก่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายละ 8 แสนบาท) ค่าจัดทำป้ายพรรค ค่าจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 10,040,500 บาท ค่าธรรมเนียมในการสมัคร ส.ส. 1.2 ล้านบาท ค่าบริการจัดเวทีปราศรัย 10,148,800 บาท ค่าจัดงานอบรมผู้นำเยาวชน 2,926,760 บาท เป็นต้น
2.พรรคประชาธิปัตย์ แจ้งมีรายได้รวม 185,250,381 บาท ในจำนวนนี้มาจากเงินบริจาค 167,026,600 บาท มีรายจ่ายรวม 182,995,636 บาท ในจำนวนนี้มีรายจ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต 104,984,825 บาท รายจ่ายเพื่อการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 28,851,578 บาท
3.พรรคภูมิใจไทย แจ้งมีรายได้รวม 174,993,275 บาท ในจำนวนนี้มาจากเงินบริจาค 162,770,000 บาท มีรายจ่ายรวม 167,028,687 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายสนับสนุนการเลือกตั้งระบบเขต 107,803,527 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 23,902,200 บาท
4.พรรคชาติพัฒนา แจ้งมีรายได้รวม 81,920,713 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการบริจาค 79,899,650 บาท มีรายจ่ายรวม 81,577,950 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 52,684,282 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 21,582,462 บาท
5.พรรคชาติไทยพัฒนา แจ้งมีรายได้รวม 34,453,205 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการบริจาค 25 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 60,366,419 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 37,550,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 10,935,932 บาท
6.พรรคพลังท้องถิ่นไท แจ้งมีรายได้รวม 29,622,439 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการบริจาค 20 ล้านบาท รายได้จากการระดมทุน 2.5 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 28,887,955 บาท ในจำนวนนี้มีเงินสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. 20,324,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 3,760,078 บาท
7.พรรคเศรษฐกิจใหม่ แจ้งมีรายได้รวม 4,407,826 บาท มีรายจ่ายรวม 4,519,473 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายในการหาเสียง/เลือกตั้ง 1,681,469 บาท
8.พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย แจ้งมีรายได้รวม 4,066,306 บาท ในจำนวนนี้มาจากเงินบริจาค 2,385,500 บาท มีรายจ่ายรวม 4,684,318 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3,219,645 บาท
9.พรรคพลเมืองไทย แจ้งมีรายได้รวม 1,215,885 บาท มีรายจ่ายรวม 1,112,941 บาท อย่างไรก็ดีพรรคมิได้แจ้งมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นจำนวนเท่าใด
10.พรรคพลังชาติไทย แจ้งมีรายได้รวม 4,486,577 บาท มีรายจ่ายรวม 5,948,338 บาท ในจำนวนนี้มีรายจ่ายในการเลือกตั้ง 5,298,147 บาท
11.พรรคประชาภิวัฒน์ แจ้งมีรายได้รวม 31,752,415 บาท ในจำนวนนี้มาจากเงินบริจาค 30,282,191 บาท มีรายจ่ายรวม 31,254,311 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 3,260,047 บาท ค่าใช้จ่ายผู้สมัคร 20,250,447 บาท
12.พรรคไทยศรีวิไลย์ แจ้งมีรายได้รวม 9,253,823 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินบริจาค 8,032,940 บาท มีรายจ่ายรวม 8,247,841 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 5,100,635 บาท
13.พรรคพลังไทยรักไทย แจ้งมีรายได้รวม 881,487 บาท มีรายจ่ายรวม 1,262,142 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 316,000 บาท
14.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน แจ้งมีรายได้รวม 2,150,981 บาท มีรายจ่ายรวม 2,543,846 บาท อย่างไรก็ดีพรรคมิได้แจ้งมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นจำนวนเท่าใด
15.พรรคประชาธรรมไทย แจ้งมีรายได้รวม 1,846,739 บาท มีรายจ่ายรวม 3,955,209 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 1,460,340 บาท
16.พรรคประชาธิปไตยใหม่ แจ้งมีรายได้รวม 3,927,698 บาท มีรายจ่ายรวม 2,546,670 บาท ทั้งนี้พรรคแจ้งในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 2,513,686 บาท แต่รายจ่ายดังกล่าวพรรคไม่ได้เป็นผู้จ่าย มีการจ่ายโดยผู้อื่นจ่ายแทน จึงไม่ได้ทำการบันทึกบัญชีไว้ในงบการเงิน และแจ้งแก่ กกต. เรียบร้อยแล้ว
17.พรรคพลังธรรมใหม่ แจ้งมีรายได้รวม 1,398,655 บาท มีรายจ่ายรวม 1,321,045 บาท อย่างไรก็ดีพรรคมิได้แจ้งมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นจำนวนเท่าใด
ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคไทรักธรรม ยังไม่ได้นำส่งงบการเงิน เนื่องจากองค์ประชุมในที่ประชุมใหญ่ยังไม่ครบถ้วนตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ขณะที่พรรคประชาชนปฏิรูปได้ยื่นยุบพรรคตัวเองไปแล้ว โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรค ย้ายมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐแทน ส่วนพรรคประชานิยมนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2563 กกต. ยังไม่ได้เผยแพร่งบการเงินแต่อย่างใด
รวมพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล มีการแจ้งงบการเงินในส่วนค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 24 มี.ค. 2562 อย่างน้อย 770,713,679 บาท
@พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค
1.พรรคเพื่อไทย แจ้งมีรายได้รวม 92,632,719 บาท ในจำนวนนี้มาจากการรับบริจาค 75 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 78,864,528 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 29,241,192 บาท ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต 25,869,000 บาท
2.พรรคก้าวไกล แจ้งมีรายได้รวม 297,258 บาท มีรายจ่ายรวม 1,635,730 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 1,487,900 บาท
3.พรรคเสรีรวมไทย แจ้งมีรายได้รวม 45,408,774 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินบริจาค 37,331,000 บาท มีรายจ่ายรวม 30,440,862 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 21,497,077 บาท
4.พรรคเพื่อชาติ แจ้งมีรายได้รวม 2,551,441 บาท มีรายจ่ายรวม 6,008,144 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3,842,273 บาท
5.พรรคพลังปวงชนไทย แจ้งมีรายได้รวม 10,209,385 บาท ในจำนวนนี้มีรายได้จากการบริจาค-ประโยชน์อื่นใด 1,108,704 บาท มีรายได้จากการจำหน่ายโต๊ะจีน 2,038,000 บาท มีรายจ่ายรวม 10,902,250 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2,704,354 บาท
6.พรรคประชาชาติ แจ้งมีรายได้รวม 1,507,880 บาท มีรายจ่ายรวม 17,358,922 บาท ในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรค 3,110,395 บาท
รวมพรรคร่วมฝ่ายร่วมฝ่ายค้าน มีการแจ้งงบการเงินในส่วนค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 24 มี.ค. 2562 อย่างน้อย 87,752,191 บาท
อ่านประกอบ :
กกต.ยกคำวินิจฉัยศาล รธน.แจง 31 พรรคกู้เงินไม่ผิดเพราะไม่เกิน 10 ล้าน/คน/ปี
พลิกเงื่อนปม 31 พรรคกู้เงิน-เทียบคำวินิจฉัยศาล รธน.ล้วงเหตุผล กกต.ยุติสอบ?
กกต.สั่งยุติเรื่อง 31 พรรคปมกู้ยืมเงิน ชี้ไม่เกิน 10 ล้าน/ปี ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
กางคำวินิจฉัยศาล รธน.จำแนกละเอียด 31 พรรคปมกู้เงิน-วัดบรรทัดฐาน กกต.?
ขมวดข้อเท็จจริง 8 พรรคแจ้งกู้เงินจาก หัวหน้า-กก.-คนนอก มิใช่เงินทดรองจ่าย?
เจออีก! 9 พรรคเล็กแจ้งมีเงินกู้-ทดรองจ่าย กกต.ลุยสอบ-ยอดพุ่ง 32 พรรค
อย่างน้อย 23 พรรคแจ้งกู้เงิน! ชัด ๆ รายละเอียดสัญญา-วัดบรรทัดฐาน กกต.?
อนค.เอฟเฟกต์! กกต.แจงสอบอยู่ปมพรรคการเมืองอื่นกู้เงิน-พบฝ่าฝืน กม. ดำเนินการแน่
ซ้ำรอยอนาคตใหม่! ‘ศรีสุวรรณ’ลุยร้อง กกต.สอบ 16 พรรคการเมืองปมกู้เงิน
คุ้ยเจออีก 7 พรรคเล็ก! แจ้งหนี้สินมีเงินกู้ยืม-ทดรองจ่าย? ยอดรวม 15 พรรค
ไม่ตรงตามธงเลยหาช่อง! ‘ปิยบุตร’แจงปม อนค.กู้เงิน-จี้ กกต.ต้องมีบรรทัดฐานให้ชัด
ไม่ใช่แค่ อนค.! เปิดอีก 7 พรรคกู้ยืมเงิน กก.บริหารฯหลักสิบล.-ใช้เป็นเงินทดรองจ่าย?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/