กกต.ยกคำวินิจฉัยศาล รธน.คดียุบ อนค. ออกแถลงการณ์ชี้แจงปมตีตก 31 พรรคกู้เงินไม่ผิดกฎหมาย เผย ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ประชากรไทย’ ที่ยอดเกิน 10 ล้านเพราะคงค้างตั้งแต่ปี 55 แต่ไม่มีใครบริจาคเกิน 10 ล้าน/คน/ปี
...............................................
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติตีตกข้อกล่าวหา 31 พรรคการเมือง (นอกเหนือจากพรรคอนาคตใหม่) กู้ยืมเงิน-มีเงินทดรองจ่ายกับหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือกรรมการสาขาพรรค โดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า อย่างไรก็ดีทั้ง 31 พรรคการเมืองดังกล่าว ไม่พบว่ามีการกู้ยืมเงินเกิน 10 ล้านบาท/คน/พรรค/ปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าว ไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 นั้น (อ่านประกอบ : กกต.สั่งยุติเรื่อง 31 พรรคปมกู้ยืมเงิน ชี้ไม่เกิน 10 ล้าน/ปี ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย, พลิกเงื่อนปม 31 พรรคกู้เงิน-เทียบคำวินิจฉัยศาล รธน.ล้วงเหตุผล กกต.ยุติสอบ?)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 สำนักงาน กกต. เผยแพร่เอกสารข่าว (Press Release) ชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้น ระบุว่า ภายหลังนายทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงาน กกต. (พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.) ได้ตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมือง ที่กู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ได้มีการแสดงความคิดเห็นทางสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวางในเรื่องดังกล่าวนั้น
สำนักงาน กกต. ขอเรียนว่า การแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ยังมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมือง และสำนักงาน กกต. ในการนี้จึงขอให้ข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง โดยการกู้ยืมเงินของพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของพรรคตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 (กรณียุบพรรคอนาคตใหม่) มีสาระสำคัญ ได้แก่
สถานะการกู้ยืมเงิน เงินกู้ยืมมิใช่รายได้ของพรรคการเมือง แต่เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง กระทำได้ภายในขอบเขตของกฎหมาย ส่วนรายรับถือเป็นประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ โดยการให้กู้ยืมเงินไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 4 และต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง และอยู่ภายใต้เกณฑ์และเงื่อนไขการบริจาคและการรับบริจาค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 กำหนดห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 10 ล้านบาท/คน/ปี และมาตรา 72 กำหนดให้การรับบริจาคดังกล่าว โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจำนวนเท่าใดก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น
ส่วนการตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมืองทุกพรรค นับแต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ พบว่ามีพรรคการเมือง 3 พรรค ที่มีงบการเงินประจำปี 2561 ปรากฏรายการเงินกู้ยืมเกินกว่า 10 ล้านบาท ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย มียอดเงินกู้ยืม 30 ล้านบาท พรรคประชากรไทย ยอดเงินกู้ยืม 12 ล้านบาท และพรรคเพื่อไทย มียอดเงินกู้ยืม 13 ล้านบาท กรณีที่พรรคการเมืองดังกล่าวกู้ยืมเงินมาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่มีการใช้คืนซึ่งเป็นยอดหนี้คงค้างไว้ในงบการเงินปี 2561 และในแต่ละปีเป็นยอดเงินกู้ยืมไม่เกิน 10 ล้านบาท/คน/ปี จึงไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ
อ่านประกอบ :
พลิกเงื่อนปม 31 พรรคกู้เงิน-เทียบคำวินิจฉัยศาล รธน.ล้วงเหตุผล กกต.ยุติสอบ?
กกต.สั่งยุติเรื่อง 31 พรรคปมกู้ยืมเงิน ชี้ไม่เกิน 10 ล้าน/ปี ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
กางคำวินิจฉัยศาล รธน.จำแนกละเอียด 31 พรรคปมกู้เงิน-วัดบรรทัดฐาน กกต.?
ขมวดข้อเท็จจริง 8 พรรคแจ้งกู้เงินจาก หัวหน้า-กก.-คนนอก มิใช่เงินทดรองจ่าย?
เจออีก! 9 พรรคเล็กแจ้งมีเงินกู้-ทดรองจ่าย กกต.ลุยสอบ-ยอดพุ่ง 32 พรรค
อย่างน้อย 23 พรรคแจ้งกู้เงิน! ชัด ๆ รายละเอียดสัญญา-วัดบรรทัดฐาน กกต.?
อนค.เอฟเฟกต์! กกต.แจงสอบอยู่ปมพรรคการเมืองอื่นกู้เงิน-พบฝ่าฝืน กม. ดำเนินการแน่
ซ้ำรอยอนาคตใหม่! ‘ศรีสุวรรณ’ลุยร้อง กกต.สอบ 16 พรรคการเมืองปมกู้เงิน
คุ้ยเจออีก 7 พรรคเล็ก! แจ้งหนี้สินมีเงินกู้ยืม-ทดรองจ่าย? ยอดรวม 15 พรรค
ไม่ตรงตามธงเลยหาช่อง! ‘ปิยบุตร’แจงปม อนค.กู้เงิน-จี้ กกต.ต้องมีบรรทัดฐานให้ชัด
ไม่ใช่แค่ อนค.! เปิดอีก 7 พรรคกู้ยืมเงิน กก.บริหารฯหลักสิบล.-ใช้เป็นเงินทดรองจ่าย?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/