‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย.ติดลบ 0.7% เหตุราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้ 9 เดือนแรก หดตัว 0.99% แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังผลสำรวจพบประชาชน 40% ไม่ใช่จ่ายเงินมาก-ยังเก็บเงิน-กังวลหนี้สิน
.............
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ ประจำเดือนก.ย.2563 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ย.2563 อยู่ที่ 102.18 ลดลง -0.70% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และการลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค.2563
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์และผักสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่วนสินค้าในหมวดอื่นๆ เคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ
“เมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนก.ย.2563 ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจ พบว่าเศรษฐกิจในเดือนก.ย.ยังทรงตัว และไม่มีสัญญาณว่าดีขึ้นเพิ่มเติมจากเดือนที่แล้วมากนัก ยกเว้นในกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จากราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า รวมถึงราคาเนื้อหมู และกุ้งที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนราคาสินค้าอุตสาหกรรมก็ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน”น.ส.พิมพ์ชนกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2563) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง -0.99% และคาดว่าทั้งปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะลดลง -1.5% ถึง -0.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ -1.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) ในเดือนก.ย.2563 อยู่ที่ 102.96 สูงขึ้น 0.25% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2563) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.32%
น.ส.พิมพ์ชนก ยังระบุว่า สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/2563 จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะๆ รวมถึงการประกาศให้มีวันหยุดยาวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยและทำให้ดีมานด์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม (CCI) ในเดือนก.ย.2563 อยู่ที่ 45.1 จากระดับ 43.0 ในเดือนก่อน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 50.4 จากระดับ 47.0 ในเดือนก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 37.2 จากระดับ 36.9 ในเดือนก่อน สะท้อนว่าประชาชนยังไม่มั่นใจต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากนัก แต่มั่นใจว่าในอนาคตจะดีขึ้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก และสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลาย
“ผลการสำรวจพบว่าประชาชนยังชะลอการใช้จ่าย โดยประชาชน 40% บอกว่ายังไม่ใช้เงินเยอะ และต้องการเก็บเงินอยู่ รวมทั้งมีความกังวลเรื่องหนี้สินที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสถัดไป ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
อ่านประกอบ :
ธปท.ย้ำเดินหน้านโยบายการเงินแบบ ‘ยืดหยุ่น’ หลังเฟดเปลี่ยนใช้ ‘เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย’
กำลังซื้อในประเทศฟื้น! ดันเงินเฟ้อพื้นฐานพลิกบวก 0.39%-สะท้อนเศรษฐกิจดีขึ้น
ธปท.ร่อนจม.เปิดผนึก! คาดเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายไตรมาส 2/64 แนะรัฐมุ่งจ้างงาน-ช่วย SMEs
เงินเฟ้อพื้นฐานลบ 0.05%! ‘พาณิชย์’ เผยหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/