สศช.เตรียมชงครม. ไฟเขียวเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา ‘เครดิตเทอม’ เป็น 30-45 วัน ก่อนจัดทำเป็นกฎหมายที่มี 'บทลงโทษ' หลังผลการศึกษาร่วม ‘ธปท.-ม.หอการค้าไทย’ พบในช่วงโควิด 'ธุรกิจรายใหญ่' เอาเปรียบ ‘เอสเอ็มอี’ โดยยืดจ่ายเครดิตเทอมนานขึ้นเป็น 60-120 วัน กระทบสภาพคล่องเอสเอ็มอีอย่างหนัก บางรายต้องหันพึ่งเงินกู้นอกระบบ-กู้ยืมญาติพี่น้อง
.................
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานบรรยาย Media Briefing เรื่อง ‘การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term)’ จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า ในเร็วๆนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในประเทศไทย
“สถิติในปี 2559 พบว่าธุรกิจรายใหญ่ชำระหนี้การค้าให้เอสเอ็มอีภายใน 30 วัน แต่ถ้านานหน่อยก็เป็น 45 วัน แต่หลังเกิดโควิดพบว่าในเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ธุรกิจรายใหญ่ขยาย Credit term เป็น 60 วัน และสูงสุด 120 วัน หรือ 4 เดือน โดยที่เอสเอ็มอีทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ส่งผลให้เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องหนัก และต้องไปกู้เงินเพิ่มขึ้น บางรายต้องกู้เงินนอกระบบ กู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือต้องกู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง” รศ.ดร.เสาวณีย์กล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.เสาวณีย์ ยังระบุด้วยว่า ปัญหาการยิดเวลาการชำระ Credit term ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยกัน หรือเอสเอ็มอีกับซัพพลายเออร์ของเอสเอ็มอี ไม่ค่อยมีมากนัก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอำนาจต่อรองไม่ต่างกัน แต่กรณีที่เป็นธุรกิจรายใหญ่กับซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ที่เป็นเอสเอ็มอีจะพบว่ามีปัญหาการยืดเวลาชำระ Credit term ออกไปเป็นเวลานาน โดยธุรกิจรายใหญ่มักนำ Credit term ที่ยังไม่ได้จ่ายนั้น ไปลงทุนหาประโยชน์ก่อน
สำหรับข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ที่จะเสนอครม.นั้น กำหนดให้ลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30-45 วัน โดยให้มีผลบังคับใช้และมีบทลงโทษทางกฎหมายด้วย เช่น การลงโทษปรับ หรือจ่ายดอกเบี้ย พร้อมกันนั้น จะมีการสร้างกลไกในการติดตาม ตรวจสอบ และเพิ่มช่องทางการร้องเรียนจากภาคธุรกิจ รวมถึงกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน สำหรับธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
“หากครม.เห็นชอบข้อเสนอฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สนค.) จะร่วมกันพิจารณาออกประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย รวมถึงการกำหนดบทลงโทษ เช่น โทษปรับ และการจ่ายดอกเบี้ยด้วย ขณะที่ตามไทม์ไลน์ที่สศช.กำหนด เบื้องต้นจะมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวกับธุรกิจรายใหญ่ก่อนในช่วงต้นเดือนธ.ค.2563 และบังคับใช้กับเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 1/2564” รศ.ดร.เสาวณีย์กล่าว
รศ.ดร.เสาวณีย์ ยังกล่าวว่า ข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ดังกล่าว เป็นผลการศึกษาร่วมกันระหว่าง ธปท.และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดสศช. และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แล้ว โดยสศช.จะเสนอให้ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ จากการสอบถามประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และที่ประชุมคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่าทั้งสองหน่วยงายก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้
น.ส.ฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า ในหลายประเทศมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ทั้งที่เป็นแบบสมัครใจและแบบที่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย
เช่น สหราชอาณาจักร (UK) มีการกำหนดเงื่อนไข Credit term ไว้ที่ภายใน 60 วัน และต้องชำระเป็นมูลค่า 95% ของใบแจ้งหนี้ ขณะที่ออสเตรเลียนั้น มีการกำหนดเงื่อนไข Credit term ไว้ที่ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม การกำหนดเงื่อนไข Credit term ของทั้ง 2 ประเทศ เป็นเรื่องของความสมัครใจและไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่เอกชนที่ร่วมมาตรการจะได้รับใบรับรอง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เป็นต้น
ส่วนประเทศที่กำหนดเงื่อนไข Credit term และให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายด้วย คือ สหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดเงื่อนไข Credit term ไว้ที่ภายใน 60 วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะเสียค่าปรับเป็นดอกเบี้ย และจ่ายค่าชดเชย Recovery cost ขั้นต่ำ 40 ยูโร หรือกรณีจีน ซึ่งกำหนดเงื่อนไข Credit term เป็นภายใน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนั้น หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีตามอัตราตลาดให้กับคู่ค้า โดยจีนเพิ่งออกกฎหมายดังกล่าวมาเมื่อเร็วๆนี้
น.ส.ฐิตา ยังขยายความเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในประเทศไทย ซึ่งเตรียมเสนอให้ครม.พิจารณาว่า แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.กำหนดให้ลูกหนี้การค้าต้องชำระ Credit term ภายใน 30-45 วัน ตามความเหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่ธุรกิจรายใหญ่ยืดเวลาชำระ Credit term ให้เอสเอ็มอีเป็น 60-120 วัน โดยเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ดังกล่าว ให้มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมีทั้งบทลงโทษและการแรงจูงใจ
“เกณฑ์มาตรฐานในการให้สินเชื่อการค้าจะอยู่ที่ 30-45 วัน แล้วแต่ความเหมาะเสมอของแต่ละอุตสาหกรรม ถ้าไม่ทำตามจะต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือมีค่าปรับ แต่ก็ควรข้อยกเว้นด้วย เช่น ในกรณีถูกโกงจนทำให้จ่ายเงินให้คู่ค้าไม่ได้ เป็นต้น” น.ส.ฐิตากล่าว
2.การกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องเปิดเผยข้อมูลการจ่าย Credit term โดยให้เปิดรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และให้นำระยะเวลา Credit term มาเป็นเกณฑ์ประเมินด้านธรรมาภิบาล และ3.การสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจที่ปฏิบัติตามเกณฑ์ระยะเวลา Credit term เช่น ให้กรมบัญชีกลางจัดสรรโควตาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และให้สถาบันการเงินกำหนดสิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงสินเชื่อ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าในประเทศไทย
กนง.มีมติเอกฉันท์! คงดบ.นโยบายที่ระดับ 0.5%-ปรับเป้าจีดีพีปี 63 เหลือลบ 7.8%
ยันแบงก์ไทยแกร่ง! ธปท.มั่นใจรับมือวิกฤติระดับรุนแรงได้-เร่งปรับโครงสร้างหนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/