"...กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 – 45 วัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสำหรับธุรกิจในทุกขนาดและทุกประเภทอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เสนอให้มีกลไกรองรับสำหรับภาคธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานได้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นโดยไม่ถือเป็นความผิดหากมีเหตุผลอันสมควร รวมถึงให้กำหนดข้อยกเว้นในกรณีที่เจ้าหนี้การค้าสามารถเปลี่ยนสิทธิการรับเงินจากลูกหนี้การค้าเป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เช่น กระบวนการสินเชื่อ Supply chain financing ซึ่งระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของคู่ค้าหรือ Supplier..."
การขาดสภาพคล่องนับเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของ SMEs ที่นำไปสู่ปัญหาด้านหนี้สินและการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน โดย SMEs ส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาด้านการบริหารเงินทุนหมุนเวียนส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “การถูกคู่ค้ายืดหรือขยายระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าหรือระยะเวลา Credit term” ซึ่งจากการศึกษา พบว่า SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้ากับธุรกิจขนาดใหญ่มักมีแนวโน้มจะถูกต่อรองขยายระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้น
โดยปี 2559 ระยะเวลา Credit term สำหรับบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 55 วัน และสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยที่ SMEs ให้แก่คู่ค้าที่ประมาณ 30 - 45 นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบัน SMEs ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 96 มีการซื้อขายในรูปแบบเงินเชื่อหรือมีการให้เครดิตการค้าแก่ผู้ซื้อ โดยระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2559 มาอยู่ที่ 60 วันและในบางธุรกิจได้ขยายไปสูงสุดถึง 120 วัน ส่งผลให้ SMEs จำนวนมากได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องทางการเงินที่ลดลง ดังนั้น การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่
บทนำ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ทั้งในบทบาทการเป็นผู้ผลิตและผู้จ้างงานหลักของประเทศ รวมถึงยังมีความสำคัญอย่างมากในการกระจายรายได้ไปสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น การเติบโตและความเข้มแข็งของ SMEs จึงนำมาสู่การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่รากฐานทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการ SMEs มีจำนวนมากถึง 3.1 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 99.5 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบทบาทต่อการขยายตัวของ GDP พบว่า วิสาหกิจขนาดใหญ่ (LEs) มีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ SMEs แม้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่มากนัก (รูปที่ 1) โดยนอกจากความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
เช่น อิทธิพลของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้มีภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น SMEs ยังเผชิญกับอุปสรรคจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านหนี้สินและการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ SMEs เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินมาจากระยะเวลาการได้รับชำระค่าสินค้าและบริการของคู่ค้าที่ช้าลง หรือจำเป็นต้องให้ระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้นแก่คู่ค้า รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดสรรและการบริหารวงจรเงินสด (Cash conversion cycle : CCC) ของ SMEs โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีเงินทุนน้อยหรือสายป่านสั้น
โดยการสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B ของ SMEs ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 96 มีการซื้อ-ขายในรูปแบบเงินเชื่อ ซึ่งระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าระหว่างกันหรือระยะเวลา Credit term แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ระยะเวลา Credit term ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อ SMEs ค่อนข้างมาก
บทความนี้จึงได้ศึกษาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs จากปัญหาการยืดหรือขยายระยะเวลา Credit term อีกทั้งชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากตัวอย่างแนวนโยบายในต่างประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) ในประเทศไทยซึ่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะสำคัญจะนำเสนอภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้
ส่วนที่ 1 โครงสร้างการดำเนินธุรกิจและทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs ต่อปัญหาระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) ส่วนที่ 2 กรณีศึกษาจากต่างประเทศเรื่อง “การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term” และในส่วนสุดท้าย ข้อเสนอแนะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในประเทศไทยรวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กัน
1.โครงสร้างการดำเนินธุรกิจและทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs ต่อปัญหาระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term)
การซื้อ-ขายสินค้าและบริการในรูปแบบการให้เครดิตหรือสินเชื่อการค้าถือเป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการค้าขายระหว่างภาคธุรกิจ (B2B) อาทิ ผู้ผลิตสินค้ากับผู้ขายวัตถุดิบ (Supplier) โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า มูลค่าการซื้อ-ขายโดยให้สินเชื่อการค้ามีสัดส่วนโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 55 ของมูลค่าการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันในทุกขนาดวิสาหกิจและประเภทอุตสาหกรรม และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า บางประเทศมีสัดส่วนการซื้อ-ขายในรูปแบบเงินเชื่อสูงกว่าร้อยละ 65 ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (รูปที่ 2)
สำหรับประเทศไทย การซื้อ-ขายโดยให้สินเชื่อการค้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสะท้อนจากผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่า ร้อยละ 96 ของการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B มีการให้สินเชื่อแก่คู่ค้าที่ซื้อ-ขายสินค้าและบริการร่วมกัน
ดังนั้น “ระยะเวลาการได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้า หรือ ระยะเวลา Credit term” จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดสภาพคล่องและการบริหารจัดการวงจรเงินสดของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2559 ระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ 60 วันโดยเฉลี่ยและในบางธุรกิจขยายไปสูงถึง 120 วัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รูปที่ 3)
นอกจากนี้ SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้า (Supplier) ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมักจะถูกต่อรองขยายระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้นผ่านการใช้อำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า โดยจากข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในปี 2559 พบว่า ระยะเวลา Credit term ของบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 55 วัน และสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยของภาคธุรกิจโดยรวมในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30 – 45 วัน (รูปที่ 3)
ระยะเวลา Credit term ของ SMEs ที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักสะท้อนว่า ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างเพียงพอหากค้าขายร่วมกับ SMEs ด้วยกัน แต่สภาพคล่องทางการเงินนั้นจะลดลงเมื่อค้าขายกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น การสร้างความสมดุลของระยะเวลา Credit term ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chian) จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการกำหนดให้ SMEs ได้รับและจ่ายหนี้ในระยะเวลาที่เท่าเทียมและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 30 – 45 วัน
การที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการซื้อ-ขายในรูปแบบเงินเชื่อส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินพึ่งพาและขึ้นอยู่กับระยะเวลาการได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้า โดยหากระยะเวลา Credit term สั้น ภาคธุรกิจก็จะมีเงินทุนหมุนเวียนที่สม่ำเสมอ แต่หากระยะเวลา Credit term เพิ่มหรือถูกขยายให้นานขึ้นจะทำให้เกิดความไม่เพียงพอของกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินกิจการ อีกทั้งยังนำมาสู่ปัญหาภาระหนี้ที่มากขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง (รูปที่ 4)
2.กรณีศึกษาจากต่างประเทศเรื่อง “การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term”
การขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วโลกเผชิญร่วมกัน โดยในส่วนที่ 1 ได้ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ จึงได้กำหนดให้มีเกณฑ์ระยะเวลา Credit term ซึ่งเป็นมาตรฐานในการชำระหนี้สำหรับภาคธุรกิจหรือสำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยรูปแบบและเงื่อนไขการบังคับใช้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
โดยสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางหลักคือ แนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจ (Business guidance) และข้อกำหนดที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย (Law & regulation)ตัวอย่างการกำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจด้านมาตรฐานระยะเวลา Credit term
1) Prompt Payment Code ประเทศอังกฤษ
กำหนดให้การซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ (B2B) ต้องชำระหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 95 ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ภายในระยะเวลา 60 วัน โดยเงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมและกำหนดให้มีแรงจูงใจที่ยึดโยงกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมถึงการเพิ่มคะแนนประเมินภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัท (Credit scoring) นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าร่วมจะต้องเปิดเผยและรายงานระยะเวลา Credit term อย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานในกระบวนการตรวจสอบ ติดตามและประมวลผล
2) Good Practice for Payment to Contractor in Government Project ประเทศมาเลเซีย
กำหนดขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ทำธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน โดยส่งเสริมให้ภาครัฐออกหนังสือรับรองการจ่ายเงินหรือใบชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน และชำระเงินหลังจากนั้นภายใน 30 วัน
ตัวอย่างการกำหนดให้เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
1) กฎหมายรัฐสภาฉบับที่ 728 เรื่อง ‘การคุ้มครองการชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ SMEs’ ประเทศจีน
กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่ ชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ SMEs ภายใน 30 - 60 วันนับจากการส่งมอบ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นในระดับอำเภอขึ้นไปเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าฯปรับกฎหมาย กฎเกณฑ์และข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้
2) Late Payment Directive สหภาพยุโรป
กำหนดให้ประเทศสมาชิกบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐาน Credit term ซึ่งระยะเวลาแตกต่างกันไป เช่น ประเทศเบลเยียมกำหนดไว้ที่ 30 - 60 วัน ขณะที่ประเทศเยอรมนีกำหนดไว้ที่ 30 วัน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย คือ การเสียค่าปรับเป็นดอกเบี้ยและจ่ายเงินชดเชยในอัตราที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ
3) The Prompt Payment Act ประเทศสหรัฐอเมริกา
กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน ยกเว้นสินค้าพิเศษบางรายการที่ระยะเวลา Credit term จะสั้นลง เช่น เนื้อสัตว์ (ภายใน 7 วัน) และการก่อสร้าง (ภายใน 14 วัน)
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความชอบธรรมในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในหลายประเทศจึงได้กำหนดเงื่อนไขรองรับกรณีที่ภาคธุรกิจไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ได้ รวมถึงกำหนดข้อยกเว้นในบางกรณี โดยให้ผู้ประกอบการเขียนรายงานชี้แจงเหตุผลเพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาตรวจสอบก่อนการตัดสินลงโทษ
จากการศึกษาตัวอย่างแนวทางการดำเนินนโยบายในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า การกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ให้ผลลัพธ์ที่อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากธุรกิจที่สมัครใจเข้าร่วมมีจำนวนไม่มากนัก แม้จะมีแรงจูงใจในด้านต่าง ๆ ต่างจากการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ที่ผลบังคับใช้ตามกฎหมายมีประสิทธิผลชัดเจนกว่า
3.ข้อเสนอแนะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา
Credit term ในประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของระยะเวลา Credit term ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจที่นำมาสู่ปัญหาด้านหนี้สินและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง โดยหากพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ในหลาย ๆ ประเทศได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term สำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งการบังคับใช้และเงื่อนไขแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ภาครัฐยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ส่งผลให้ระยะเวลา Credit term มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่เป็นคู่ค้าหรือ Supplier ของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมักมีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า
ดังนั้น จากการศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระยะเวลา Credit term จึงเสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมายและมีแรงจูงใจด้านบวกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อให้การบรรเทาและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ SMEs สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยรายละเอียดการดำเนินงานมีดังนี้
1.กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 – 45 วัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสำหรับธุรกิจในทุกขนาดและทุกประเภทอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เสนอให้มีกลไกรองรับสำหรับภาคธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานได้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นโดยไม่ถือเป็นความผิดหากมีเหตุผลอันสมควร รวมถึงให้กำหนดข้อยกเว้นในกรณีที่เจ้าหนี้การค้าสามารถเปลี่ยนสิทธิการรับเงินจากลูกหนี้การค้าเป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เช่น กระบวนการสินเชื่อ Supply chain financing ซึ่งระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของคู่ค้าหรือ Supplier
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) อาจพิจารณาเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับ ดูแล และประเมินผล ตามบทบาทในการกำกับดูแลและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ครอบคลุมการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้า ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ทั้งนี้ ควรเพิ่มรายละเอียดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายสำหรับธุรกิจทุกขนาดและทุกประเภทกิจกรรม
2.เสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำกับดูแล คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
นอกจากนี้ การเปิดเผยระยะเวลา Credit term ควรนำมาใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประเมิน Socially Responsible Investing อาทิ การประเมินให้ตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ (CGR) เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)
3. ศึกษาและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการลดระยะเวลา Credit term เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจัดสรรโควตาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ สิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ
ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term มีความชัดเจนและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดกลาง (KPI) ที่ยึดโยงกับหน่วยงานรับผิดชอบ โดยประเมินจากทั้งตัวแปรเชิงปริมาณและตัวแปรเชิงคุณภาพ เช่น จำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เปิดเผยข้อมูล และระยะเวลา Credit term ของธุรกิจขนาดใหญ่เฉลี่ยลดลงเป็น 30 – 45 วันภายในปี 2564 เป็นต้น
บทสรุป
การเพิ่มขึ้นของระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า หรือระยะเวลา Credit term ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs เนื่องจาก SMEs ส่วนใหญ่มีการให้สินเชื่อแก่คู่ค้าที่ซื้อ-ขายสินค้าและบริการระหว่างกัน โดยปัจจุบันระยะเวลา Credit term มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่ม SMEs ที่เป็นคู่ค้าหรือ Supplier ของบริษัทขนาดใหญ่มักถูกต่อรองระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้นทำให้หลายธุรกิจต้องเผชิญปัญหาด้านการจัดสรรและบริหารจัดการเงินหมุนเวียน ซึ่งนำมาสู่ภาระหนี้สินและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง
ดังนั้น การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (ระยะเวลา Credit term) จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ โดยควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการเสริมสภาพคล่องในมิติอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมสินเชื่อประเภท Supply chain financing เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนให้แก่ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ให้ SMEs เข้าถึงในวงกว้างเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
คณะผู้จัดทำ : รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย และประธานโครงการ ,ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. ,ฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. และพลเทพ หอมศรีวรานนท์เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage