'ผศ.ดร.กนกรัตน์' อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ ภูมิทัศน์สื่อในการชุมนุมเคลื่อนไหวมีความซับซ้อน ต่างจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต เนื่องจากทุกวันนี้ ไม่ว่าแกนนำ ผู้ร่วมชุมนุม ฝ่ายต่อต้าน ทุกคนล้วนเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ เป็นยุคแห่งการปรากฏตัวของ ดิจิทัล เนทีฟ (Digital Native) เปรียบเหมือนยักษ์นอกตะเกียง เรียนรู้โลกผ่านโทรศัพท์มือถือ อยู่กับสื่อและข้อมูลมหาศาล สิ่งที่พวกเขาทำเป็นประจำคือการคัดกรองสื่อ จึงได้เรียนรู้ข้อมูลที่หลากหลาย ต่างจากเจนเนอเรชั่นรุ่นปู่ย่าที่รับสื่อทางเดียว-วงเสวนาถกบทบาทสื่อ ติดกับดักความเป็นกลาง ชี้ สื่อมีสิทธิ์เลือกข้าง-มีจุดยืนที่ชัดเจน ทั้งนี้ มีสื่อที่อาจหลีกเลี่ยงประเด็นทางการเมืองด้วยการนำเสนอข่าวลุงพลต่อเนื่อง
............................
วันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ห้องประชุมชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีเสวนาแบบปิด หัวข้อ'เปิดพื้นที่สื่อสารผสานความคิดต่างทางการเมือง' วัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางรับฟังความเห็นที่แตกต่างในท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.เจษฎา ศาลาทอง
ใจความตอนหนึ่งของการเสวนา ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวถึงประเด็นสื่อสารมวลชนกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ระบุว่าในปัจจุบัน สื่อสารมวลชนในตอนนี้เราต้องยอมรับว่ามีความซับซ้อนของสื่อกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการอยู่ในแลนด์สเคป ( Landscape ) ที่ซับซ้อน ไม่เหมือนยุคพฤษภาทมิฬ หรือช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคมในอดีต ไม่เหมือนยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือการชุมนุมของคนเสื้อแดง
“ยุคก่อน เราเห็นสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แต่การเคลื่อนไหวตอนนี้แลนด์สเคปของสื่อทุกระดับ ทั้งแกนนำ ผู้เข้าร่วม รวมถึงฝ่ายต่อต้านการเคลื่อนไหว ทุกคนกลายเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ ดังนั้นในแง่นี้ มีการใช้สื่อที่เป็นเนื้อเดียวกับผู้ชุมนุมไปแล้ว และตอนนี้ ทุกคนเป็นแกนนำทั้งหมด แม้เมื่อมีแกนนำบางส่วนโดนจับกุม พวกเขาก็จะยังชุมนุมต่อไปและมีแกนนำปรากฏขึ้นใหม่เรื่อยๆ” ผศ.ดร.กนกรัตน์ ระบุ
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ในยุคก่อนนี้สื่อสารมวลชนถูกมองว่ามีอำนาจมาก เป็นการสื่อสารแบบแนวดิ่ง แต่ตอนนี้ ทุกคนสามารถส่งสารได้ในแบบของตนเอง
ผศ.ดร.กนกรัตน์ ตอบว่า ก่อนหน้านี้ เราเคยเอ่ยถึงคนที่เป็น ดิจิทัล เนทีฟ (Digital Native) แต่เราไม่เคยเห็นเขาตัวเป็นๆ เราเคยแต่พูดถึงเรื่องนี้ ว่าตัวตนของเขาในสังคมจริงๆ เป็นอย่างไร “แต่ครั้งนี้คือการปรากฏตัวของ ดิจิทัล เนทีฟ พวกเขาเปรียบเหมือนยักษ์นอกตะเกียง เหล่านี้คือยักษ์นอกตะเกียง เขามาสเตอร์( Master ) สื่อในมือเขาจริงๆ สิ่งแรกที่เด็กเหล่านี้รู้จักคือการเรียนรู้โลกผ่านโทรศัพท์มือถือ รุ่นดิฉันยังเป็นยักษ์ในตะเกียง อีกไม่นาน หลังวิกฤติโควิด การเรียนออนไลน์ก็จะกลายเป็นนอร์ม (Norm ) ใหม่ เด็กเหล่านี้อยู่กับสื่อมหาศาล สิ่งที่เขาต้องทำเป็นประจำคือการคัดกรองสื่อ เขาได้เรียนรู้ข้อมูลที่หลากหลายต่างจากในเจนเนอเรชั่นรุ่นปู่รุ่นย่าที่รับสื่อทางเดียว" ผศ.ดร.กนกรัตน์ระบุ
ด้าน ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวว่า การสื่อสารเป็นเครื่องมือทางหนึ่ง เราเห็นตั้งแต่ยุคที่สื่อถูกกุมไว้ด้วยอำนาจของรัฐ เช่นเหตุการณ์เดือนตุลาคมในอดีต สื่อถูกกุมอำนาจ แต่ยุคนี้ คนทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ถ้าเรามองเป็นภาพรวม อำนาจรัฐไม่สามารถกุมข้อมูลข่าวสารตรงนี้ได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวถึงกระบวนทัศน์ของสังคมไทยที่มีต่อเด็ก สังคมไทยมองว่าเด็กเป็นทรัพย์สินของผู้ใหญ่ ของพ่อแม่ จึงเกิดตรรกะที่คนเจนเนอเรชั่นรุ่นพ่อแม่อาจหยิบยกมาใช้กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของเด็กๆ ว่าไม่รักพ่อ ไม่รักแม่เหรอ แต่สำหรับเด็กๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว เขาไม่ได้มองแค่ตัวเอง แต่เขาเชื่อมโยงตัวเขาเข้ากับสังคม
“เด็กเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสังคม ดังนั้น ทำไมเขาจึงรู้สึกว่า เขาต้องทำอะไรกับปัญหาเรื่องโลกร้อน เช่นเดียวกัน เรื่องการเมือง เมื่อเขามองต่างกันกับผู้ใหญ่ ควรจะคุยกันอย่างไร” ผศ.ดร.มรรยาทระบุ
ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่าในความแตกต่างหลากหลายเราต้องหาทางให้คนในสังคมคุยกันให้ได้ ความแตกต่างเหล่านี้ เราจะไม่คุยกันจริงๆ หรือเปล่า ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่เขาเป็นลูกหลานเรา เราจะไม่คุยกับเขาจริงๆ หรือเปล่า จะผลักเขาออกไปหรือเปล่า ความขัดแย้งตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในตอนนี้ เรายังอยู่ในความขัดแย้ง ยังมีคนเขียนบทความว่า ถ้านักเรียนไม่พอใจก็ออกไปจากโรงเรียน ทั้งที่ต้นทุนในการหันหน้ามาคุยกัน มีราคาถูกกว่าการขัดแย้งทำร้ายกัน เราควรฉลาดกว่านั้น ต้นทุนความขัดแย้งมันสูงกว่าต้นทุนของการยอมรับซึ่งกันและกัน
ตอนนี้ ต้นทุนสูงขึ้น เราไม่สามารถขจัดพวกเขา เราไม่สามารถไล่เขาออกจากโรงเรียนได้ ไม่สามารถไล่เขาออกจากประเทศได้ เราควรสนใจสิ่งที่เขาคิดอย่างจริงจัง ควรเปิดใจยอมรับเยาวชน ขณะเดียวกันเยาวชนก็ต้องเปิดใจให้รุ่นพ่อแม่ที่อาจเปรียบเสมือนยักษ์ที่เคยอยู่ในตะเกียงมาก่อน บางคนออกมาจากตะเกียงแล้ว ก็ยังอยากกลับไปอยู่ในตะเกียงเพราะอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย
ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่านักสื่อสารมวลชน หรือแม้แต่นักรัฐศาสตร์อย่างตน ต้องสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ ทำอย่างไร ให้เขาเข้าใจเยาวชน และสื่อสารให้เยาวชนเข้าใจผู้ที่เขาไม่ได้สนใจหรือไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวว่าเพราะอะไร และจริงๆ แล้วความเห็นที่แตกต่างนั้นมีความหลากหลายอย่างยิ่ง แม้แต่กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเสื้อเหลือง ก็มีทั้งผู้ที่เป็นเสรีนิยมและมีผู้ที่เขาเห็นด้วยกับหลายอย่างที่เด็กนักเรียนเรียกร้อง เช่น ประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นไม่ยอมรับเผด็จการ ดังนั้น คนเหล่านี้ควรเป็นพันธมิตรของเด็กรุ่นนี้
ผู้ดำเนินรายการถามว่า สื่อทำหน้าที่อะไรบ้าง และทำหรือยังและสื่อทุกวันนี้ติดกับดักของความเป็นกลางหรือไม่
ผศ.ดร.กนกรัตน์ ตอบว่า ยากมาก เป็นคำถามที่ชี้นำมาก เพราะกำลังพูดถึงสื่อที่เป็น บิสเนส มีเดีย (Business Media) คือ สื่อกระแสหลัก ไม่ได้พูดถึงคนธรรมดา เราถามว่าสื่อแบบนั้นทำอะไรบ้าง ปัญหาสำคัญคือ สื่อทุกฝ่ายถูกเซ็นเซอร์ด้วยประเด็นเรื่องความเป็นกลาง สื่อที่อยากเสนออะไรที่หลากหลายก็ไม่กล้าเสนอ เพราะกลัวไม่เป็นกลาง ทั้งที่สื่อมีสิทธิ์ในการเลือกข้าง และคุณต้องชัดเจนว่าเลือกเช่นนั้นเพราะอะไร
ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่าเมื่อเกิดกรณี 10 ข้อเรียกร้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต สมาคมผู้สื่อข่าวฯ มีการเชิญ บรรณาธิการข่าวไปคุยกัน ว่าจะไม่พูดรายละเอียด 10 ข้อนั้นใช่ไหม หารือกันว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร สุดท้ายก็ไม่มีใครกล้าอ่านเรื่องนี้ มีไม่กี่สื่อที่กล้านำเสนอ
ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวว่าสื่ออาจมองว่าถ้าเขาเสนอข่าวเกี่ยวกับ 10 ข้อเรียกร้อง เขาอาจมองว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่เขาไม่มองว่ายิ่งปิด อาจจะยิ่งสร้างความขัดแย้งอีกแบบหนึ่ง เพราะไม่เปิดโอกาสที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้
“ทุกวันนี้ สื่อก็เป็นธุรกิจ อะไรที่มันเพลย์เซฟได้ก็เซฟ เพราะมีบทเรียนมาว่าอะไรที่ไม่เพลย์เซฟก็จอดำ เพราะ กสทช. จะเร็วมากถ้าเป็นเรื่องการเมืองหรือเป็นข้อมูลข่าวสาร ทุกคนต้องพยายามเซฟตัวเอง เพราะจอดำน่ากลัว เป็นมูลค่ามหาศาลที่ต้องสูญเสียไป ทุกคนก็คิดถึงตัวเอง กรณีกระแสลุงพลเกิดขึ้น เพราะเขาไม่กล้าแตะข่าวการเมือง หลีกไปเรื่องลุงพลร้องเพลง ลุงพลทำอะไรๆ นั่นเพราะเขาพยายามที่จะเซฟตัวเอง”ผศ.ดร.มรรยาทระบุ และกล่าวว่านี่คือกรณีเดียวกับช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคมในอดีต เพราะยุคนั้น สื่อก็ไม่กล้านำเสนอ แต่มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งโด่งดังมากในยุคนั้น เพราะในขณะที่สื่อไม่กล้านำเสนอประเด็นทางการเมือง แต่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้นำเสนอนิยายกำลังภายใน คนอ่านกันเยอะมาก
“สื่อมวลชนควรเป็นพื้นที่แห่งการเปิด เพื่อรับฟังกันจริงๆ เราคาดหวังกับสื่อสาธารณะ เราคาดว่าไทยพีบีเอส ก็น่าจะทำอะไรได้อยู่ เป็นสื่อสาธารณะแล้วถ้าไม่ทำแบบนี้ คือถ้าทำได้จะเป็นมิติใหม่” ผศ.ดร.มรรยาทระบุ
ผู้ฟังในวงเสวนารายหนึ่งเสนอว่าสังคมไทยไม่ถูกปลูกฝังว่าการดีเบต การโต้เถียงหรือการคุยกันด้วยเหตุผลเป็นสิ่งจำเป็น การรับฟังและยอมรับว่ามีความแตกต่างหลากหลายในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ
อ่านประกอบ
(มีคลิป) นร.ชุมนุมเรียกร้องหยุดคุกคาม-‘ณัฏฐพล’ร่วมดีเบต เชื่อครูเข้าใจ'ชูสามนิ้ว-โบว์ขาว'
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร : ยังมองไม่เห็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหาร
จอน อึ๊งภากรณ์ : กรณี 'ประชาชนปลดแอก' เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่อาจคาดเดาได้
ไขปรากฏการณ์ 'ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า' ระบาดโรงเรียนมัธยมทั่วปท.
ศธ.มีหนังสือด่วนถึงสถานศึกษา ให้ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ-รับฟังความคิดเห็นนักเรียน
ด่าทอ-ตบตี-เข้าห้องปค.! นร. 'ชูสามนิ้ว' หน้าก.ศึกษา เรียกร้อง รมว.แก้ปัญหาถูกคุกคาม
การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ ปชต. แกนนำปราศรัย 3ข้อเรียกร้อง 2จุดยืน 1ความฝัน
ปรากฎการณ์ ‘ธรรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ถึงปฏิกริยาของรัฐบาล - ส.ว.
อ่านนัยประกาศ 'ร.ร.ราชินี' ปรากฎการณ์ชิงพื้นที่ต่อรองสิทธิเสรีภาพ 'นร.-ครู-ศิษย์เก่า'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/