“…ถ้านักเรียนไปชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาฯ แล้ว ผมก็เชื่อว่าจะมีนักศึกษาไปที่หน้ากระทรวง อว. ถ้าถึงจุดที่เขาประเมินว่าเขาสามารถจัดชุมนุมใหญ่ได้ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม ก็อาจจัดรำลึก 6 ต.ค. 2519 ด้วย แต่เผอิญ ช่วง 6 ต.ค. ของปีนี้ เป็นช่วงสอบ ก็อาจนำมาสู่การสไตรค์ ไม่เข้าห้องสอบ…ข่าวลือรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว แต่รัฐประหารจะเกิดขึ้นไหม ผมว่ายากมาก เพราะมันจะต้องมีเงื่อนไขที่รุนแรงมาก ต้องไม่น้อยกว่าเมื่อวันที่ 22 พค 2557…รัฐบาลจะไม่มีการใช้กำลังปราบปรามอะไรกับกลุ่มนี้ เพราะไม่ได้มีอาวุธ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมือที่สามที่ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน…”
......................................
ภาพโดย @Mszcnx
สืบเนื่องจากเกิดกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนมัธยมทั่วประเทศผ่านการชูสามนิ้ว ติดโบว์ขาว ชูกระดาษเปล่า คู่ขนานกับแฟลชม็อบในหลายพื้นที่ตามต่างจังหวัดรวมทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังคงมีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา
( อ่านประกอบ : ไขปรากฏการณ์ 'ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า' ระบาดโรงเรียนมัธยมทั่วปท. , การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ ปชต. แกนนำปราศรัย 3ข้อเรียกร้อง 2จุดยืน 1ความฝัน )
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษา-นักเรียนมัธยม รวมทั้งวิเคราะห์ข้อเรียกร้องในประเด็นหนึ่งความฝันของประชาชนปลดแอกและ 10 ข้อเรียกร้องของเวทีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ในประเด็นร่วมเรื่องการลดทอนพระราชอำนาจ ซึ่งนักวิชาการรายนี้เห็นว่าควรนำมาสู่การพูดคุยอย่างจริงจังในรัฐสภาโดยสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อประเด็นดังกล่าว พร้อมเทียบเคียงหลักการ Democratic parliamentary democracy โดยเห็นว่าข้อเรียกร้องเรื่องการลดทอนพระราชอำนาจนั้นสามารถทำได้ แต่ไม่ควรล้อเลียนหรือด้อยค่าสถาบันฯ ส่วนกระแสข่าวลือว่าอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่ายังไม่มีเงื่อนไขใดที่นำไปสู่การรัฐประหาร ขณะเดียวกันก็มีความห่วงกังวลต่อการสร้างสถานการณ์โดยมือที่สาม และมีบางข้อควรตระหนักถึงการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 14 ปีการรัฐประหารโดยโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น คมช.หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร
เนื้อหารายละเอียดการพูดคุย มีดังต่อไปนี้
@ มองว่าการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในแฟลชม็อบทั่วประเทศ รวมทั้งการชุมนุมโดยประชาชนปลดแอก การชุมนุมเหล่านี้จะจบลงอย่างไร ?
ศ.ดร.ไชยันต์ : เนื่องจาก พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ห้ามพักค้างอ้างแรม เพราะฉะนั้น การที่ไม่ได้เป็นการชุมนุมที่จะไปทำให้การสัญจรลำบากเพื่อเป็นพลังกดดันรัฐบาล ก็ไม่มีแรงกดดันสู้ นปช.(กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กปปส.(กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) หรือพันธมิตรฯ (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) มันจะไม่ได้พลังกดดันแบบนั้น แต่ถ้าคุณฝ่าฝืน พ.ร.บ. ก็มีปัญหาคือผิดกฎหมายแต่ผมว่ารัฐบาลจะไม่มีการใช้กำลังปราบปรามอะไรกับกลุ่มนี้ เพราะไม่ได้มีอาวุธ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมือที่สามที่ไม่รู้เป็นใครมาจากไหนที่อาจจะทำร้ายผู้ชุมนุม ทำร้ายแกนนำ หรือแม้กระทั่งทำร้ายฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อสร้างสถานการณ์ก็เป็นไปได้
วิธีป้องกันง่ายๆ เลย ประการแรกคือต้องเช็คกล้องวงจรปิดว่าทำงานได้ แล้วก็ประกาศไปให้สาธารณชนรับทราบว่ากล้องวงจรปิดทุกอัน ในทุกการชุมนุมในแต่ละจังหวัด ใช้งานได้ แล้วต้องประกาศให้ทราบ แล้วต้องเช็คทุกระยะ เพราะวิธีการนี้ จะทำให้คนที่จะเป็นมือที่สามจะต้องคิด เป็นการป้องปราม ไม่ให้เขาย่ามใจ
ประการที่ 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคอยดูแลความปลอดภัยของแกนนำ ประกาศว่าไม่ได้ไปคุกคาม แต่ประกาศว่าไปป้องกันเพื่อไม่ให้มีการลอบทำร้าย ถ้าทำแบบนี้แล้ว โอกาสหรือชนวนเหตุที่จะเกิดความรุนแรงก็น้อยลง แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็มีเสมอ สื่อเองก็ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรจะไม่ไปปลุกเร้าอารมณ์ของความเกลียดชังขึ้นมา
@ ถ้ามีความรุนแรง เนื่องจากมีการสร้างสถานการณ์เกิดขึ้น จะเปิดทางให้เกิดการรัฐประหารหรือไม่ ?
ศ.ดร.ไชยันต์ : ข่าวลือเกิดขึ้นแล้ว แต่รัฐประหารจะเกิดขึ้นไหม ผมว่ายากมาก เพราะมันจะต้องมีเงื่อนไขที่รุนแรงมาก ขนาดที่คงจะต้องไม่น้อยกว่าการรัฐประหารเมื่อวันที 22 พ.ค. 2557 คือ เงื่อนไขการรัฐประหารมันจะต้องยากไปเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ต่างไปจากทุกครั้ง เพราะมีผู้ชุมนุมสองฝ่าย ขณะที่รัฐประหารก่อนหน้านั้นประชาชนกับรัฐบาลเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน รักษาความสงบไม่ได้ ก็ต้องรัฐประหารหรือรัฐประหารบางครั้งเพราะเข้าข้างประชาชน ก็ว่ากันไป หรือว่าเกิดความไม่สงบจากการที่ประชาชนประท้วงรัฐบาล แต่ปี 2549 เป็นม็อบสองฝ่าย ส่วนปี 2557 รุนแรงมากกว่าปี 2549 หลายเท่า ดังนั้น ในอนาคต เงื่อนไขมันต้องไม่ต่ำกว่าปี 2557 ซึ่งเงื่อนไขที่จะนำไปสู่จุดนั้น ยังมองไม่เห็น ไม่มีกระทั่งกลุ่มตรงข้ามที่ออกมาชุมนุมอย่างพอฟัดพอเหวี่ยง แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มจงรักภักดีตามต่างจังหวัดบ้าง แต่ไม่ได้มาประกาศกร้าวรุนแรง ผมว่าโอกาสเกิดรัฐประหารมีน้อยและเชื่อว่าจากจุดยืนประมุขของรัฐ ก็คงไม่อยากให้เกิดรัฐประหาร
@ นักเรียนมัธยมทั่วประเทศ ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว ชูกระดาษเปล่า สะท้อนอะไร ?
ศ.ดร. ไชยันต์ : ในวัยของเยาวชน เป็นวัยที่ค่อนข้างมีเสรีภาพ ไม่อยากจะอยู่ในกรอบระเบียบอะไรนะครับ ซึ่งสมัยผมเด็กๆ หรือที่ผมอยู่ในช่วงวัยนั้นก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ผมว่าก็เป็นทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่จะหยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมา หรือมีประเด็นทางการเมืองอะไรที่ไปกระทบหรือว่าทำให้เขาต้องใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงออก มันก็ขึ้นอยู่กับประเด็นทางการเมืองในแต่ละช่วงวัย แต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ก็คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิดประหลาดอะไร เพราะสมัย 14 ตุลาคม 2516 ก็มีนักเรียนที่เข้าร่วมเรียกร้อง
@ เป็นกระแสต่อเนื่องมาจากการชุมนุมของประชาชนปลดแอกและแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศหรือไม่ ?
ศ.ดร. ไชยันต์ : มองได้ครับ ถ้าเราย้อนไปดูกระแสต่อต้านรัฐประหาร ประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ออกมาชัดเจน ในสมัย 19 กันยายน 2549 ตอนนั้นมีคุณลุมนวมทอง ไพรวัลย์ ที่เขาไม่พอใจการรัฐประหาร คุณลุงเป็นคนขับรถแท็กซี่ เขาก็ขับรถชนรถถัง คุณลุงนวมทองเป็นคนที่เขาได้ประโยชน์จากนโยบายคุณทักษิณที่ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็ผิดหวังกับรัฐประหารที่ขับไล่คุณทักษิณไป ทีนี้ เมื่อถึงคราวรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ถ้าเราจำได้ กลุ่มคนที่ออกมาต้านรัฐประหารคือเยาวชนที่มานั่งกินแซนด์วิช แล้วก็ประท้วง อ่านหนังสือ 1984 สังเกตว่าวัยลดลงมาแล้ว แต่การประท้วงของเยาวชนในครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการที่เขาได้ประโยชน์จากนโยบายคุณยิ่งลักษณ์ แต่เขาอาจจะประท้วงด้วยกระแส ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ของเขา
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ประมาณปี 2552-2553 มีกระแสนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหาร ก็คือกลุ่มคณะนิติราษฎร์ และนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย เขาก็จะขับเคลื่อนทางความคิด แล้วก็ส่งเสริมนักศึกษา แล้วนักศึกษาก็มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็อาจมีต่อเนื่องไปถึง ม.ปลาย ก็อาจมีการฟักตัวของความคิดตั้งแต่ช่วง หลัง 2552-2553 เรื่อยมา กระทั่ง ปี 2557 เมื่อมีการทำรัฐประหารก็ทำให้เห็นว่ารัฐประหารทำลายประชาธิปไตยแล้วมันก็จะส่งผลอีก 5 ปีต่อมา เพราะการรัฐประหารที่ คสช. บอกว่าจะปฏิรูปประเทศ มันก็ไม่ได้เกิดผลชัดเจนต่อเยาวชนเท่าไหร่
@ การเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมที่ชุมนุมเรียกร้องหน้ากระทรวงศึกษาฯ เป็นการยกระดับไหม ?
ศ.ดร. ไชยันต์ : แน่นอน การไปเรียกร้องที่หน้ากระทรวงศึกษาฯ ก็ตรงประเด็น เรื่องระบบการศึกษาก็ต้องไปร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาฯ ถือว่ายกระดับไหม ก็มองได้ เพราะว่าหลังจากการชุมนุมของประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 ส.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมเขาก็ให้เวลารัฐบาลในการจะตอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็บอกว่าเขาจะกลับมาช่วงเดือนตุลาคม ดังนั้น ทิ้งนานไปอารมณ์มันก็หายไป
ถ้ายกระดับหรือเลี้ยงกระแส เช่น ถ้านักเรียนไปหน้ากระทรวงศึกษาฯแล้ว ผมก็เชื่อว่าจะมีนักศึกษาไปที่หน้ากระทรวง อว.(กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)
ถ้าถึงจุดหนึ่ง เดือน ก.ย.-ต.ค. ถ้าเขาประเมินว่าเขาสามารถจัดชุมนุมใหญ่ได้ ในเดือน ต.ค. ปิดเทอม เขาก็อาจจะเลี้ยงกระแสไปเรื่อย ๆ พอปิดเทอมนักศึกษาจากต่างจังหวัดสอบเสร็จ ก็สามารถเข้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ได้ อาจจัดรำลึก 6 ต.ค. 2519 ด้วย
เผอิญ ช่วง 6 ต.ค. ของปีนี้เป็นช่วงสอบก็อาจนำมาสู่การสไตรค์ ไม่เข้าห้องสอบ ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการศึกษามหาวิทยาลัยหมดเลย คือถ้าคนไม่เข้าห้องสอบน้อยก็ถือว่าขาดสอบ แต่ถ้าคนไม่เข้าห้องสอบเป็นจำนวนมากๆ ก็หมายความว่า ทำการสอบไม่ได้ ประเมินผลไม่ได้ แล้วจะเรียนเทอมหน้าอย่างไร ขณะที่เทอมนี้ยังไม่ได้สอบ มันก็จะกลายเป็นการประท้วงไม่เข้าห้องสอบ ไม่เข้าห้องเรียนยาวนาน กรณีที่หากผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ ก็อาจจะใช้วิธีการนี้
ในช่วง 6 ต.ค. 19 ก็มีการพยายามสไตรค์ ไม่เข้าห้องสอบเพื่อไปชุมนุมเหมือนกัน
การสไตรค์เป็นวิธีการปกติของการประท้วงนะ เช่น หากเป็นแรงงานก็นัดหยุดงาน ของนักศึกษาก็สไตรค์โดยไม่เข้าห้องสอบ ประท้วงไม่เรียน ไม่สอบ ทำให้ระบบเกิดปัญหามากและนำมาซึ่งความปวดหัวของบรรดาผู้ปกครอง เป็นการกดดันของนักศึกษา เป็นเรื่องของนิสิต นักศึกษาที่เขาจะใช้สิทธิเสรีภาพในการที่จะประท้วงหรือสไตรค์ก็เป็นเรื่องของเขา จะทำอย่างไร ถ้าเขาสไตรค์หรือไม่เข้าห้องสอบเราจะทำอะไรได้ นี่คือภาวะชะงักงัน ก็เหมือนกับเวลา กปปส. ชัตดาวน์ มันก็ชะงักงัน สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายสารพัด เราจะไปทำอะไรได้
@ มองอย่างไรต่อการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 14 ปี การรัฐประหารโดย คมช.
ศ.ดร.ไชยันต์ : การชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ อาจจะขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองฝ่ายเพื่อไทยจะเปิดไฟเขียวให้ประชาชนฝ่ายเขาเข้ามาร่วมรำลึกการรัฐประหารพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณหรือเปล่า ถ้าเขาไฟเขียวมา คนก็จะเยอะ แล้วมันก็จะไม่ใช่แค่การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา มันจะมีเรื่องของการที่เขาจะเทคโอเวอร์ คือ ถ้าประชาชนที่ไม่ใช่นักศึกษามาเยอะ แล้วการชุมนุมนี้เป็นของใคร แล้วมันจะทำให้ประเด็นในการเรียกร้องเปลี่ยนไปไหม เขาอาจจะได้คนเยอะ แต่อาจเป็นความสับสนวุ่นวาย ว่าใช่นักศึกษาไหม และการเรียกร้องคืออะไรกันแน่ หรือเป้าหมายคือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยดึงคนที่เคยสูญเสียในอดีตกลับมาทั้งหมดหรือเปล่า
คือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ มันก็คือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของการรัฐประหาร แต่ 19 ก.ย.2549 หลังการรัฐประหาร มีรัฐธรรมนูญ 2550
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงสั้น ๆ ไม่สืบทอดอำนาจ ถ้าคุณนำเหตุการณ์ 19 กันยา 2549 มาโยง ดังนั้น เป้าหมายของคุณคือต่อต้านกองทัพหรือเปล่า คุณต้องแยกว่ารัฐประหารครั้งนั้น ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ถ้าจะต่อต้านรัฐประหารก็ต้องโยงไปในอดีตเยอะแยะ เช่นรัฐประหารของพระยาพหลฯ ปี 2476 คุณยอมรับได้ เพราะเป็นคณะราษฎรหรือเปล่า (หมายเหตุ- การรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา) ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครทำรัฐประหารหรือเปล่า ถ้าเป็นประเด็นนี้ก็จะยุ่งมาก จะมีคนโต้แย้ง มีฝ่ายต่อต้านขึ้นมา ซึ่งผมว่าให้เป็นไปตามธรรมชาติของนักศึกษาน่ะดีแล้ว อย่าได้ไปดีลกับนักการเมืองเลย
ภาพจาก posttoday
@ ข้อเรียกร้องหนึ่งความฝันของประชาชนปลดแอก ควรทำฉันทามติหรือทำประชาพิจารณ์กับประเด็นนี้ไหม ?
ศ.ดร.ไชยันต์ : พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 ดังนั้น ประเด็นไม่ใช่ว่ากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นคือในมุมของประชาชนปลดแอกอาจมองได้ว่าพระมหากษัตริย์มีขอบข่ายพระราชอำนาจที่มากเกินไปสำหรับพวกเขา เขาต้องการลดทอนพระราชอำนาจ ในทางวิชาการจะพบว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีจุดอ่อนเนื่องจากกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่ได้ออกเอง แต่ออกโดยรัฐสภานั้น หากออกกฎหมายให้พระราชอำนาจมีมากขึ้น ก็ยังถือว่าอยู่ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ดี
ดังนั้น นักวิชาการตะวันตกเขาจึงบอกว่า ต้องมีความชัดเจนมากกว่าการที่จะเรียกระบอบนี้ว่าระบอบที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ควรเน้นว่า Democratic parliamentary democracy คือระบอบพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง บริสุทธิ์ ยุติธรรม รัฐสภาต้องมาจากความหลากหลาย ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกส่วน ดังนั้นรัฐสภาจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระมหากษัตริย์ก็จะทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่สภากำหนด เพื่อลดทอนอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังที่จะกดดันสภาให้ออกกฎหมายตามที่พระมหากษัตริย์ริเริ่มโดยไม่เปิดเผย
เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ก็เป็นไปได้ ที่ประชาชนปลดแอก มองว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย มีอำนาจเหนือสภาและทำให้สภาออกกฎหมายตามที่พระมหากษัตริย์ต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ปัญหานี้คือต้องสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรมีความเป็นอิสระและมีความกล้าหาญพอ ถ้าหากเห็นว่ากฎหมายตัวใดที่จะไปเพิ่มพระราชอำนาจอย่างไม่สมเหตุสมผล และส่งผลต่อสถาบันฯ เอง เพราะเกิดข้อครหาและไม่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป ก็ต้องปฏิเสธที่จะลงมติหรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับนั้น จะไปโทษที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ต้องโทษที่สภาฯ สภาฯต้องยืนหยัด
อย่างเช่น ในกรณี พ.ร.ก.โอนกำลังพลและงบประมาณฯ ที่พรรคอนาคตใหม่เขายืนยันว่าไม่เห็นด้วย (หมายเหตุ-พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 )
กรณีนี้ ผู้ที่เขาคิดว่ากฎหมายนี้เป็นการเพิ่มพระราชอำนาจ เขาก็ไม่เห็นด้วย ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เหลือคือเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย ตกลงจุดยืนของคุณเป็นอย่างไร ถ้าจุดยืนของคุณเป็นอย่างนี้ ประชาชนไม่ชอบ คราวหน้า ถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งคราวหน้าก็ต้องชัดเจนว่าพรรคไหนมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ปฏิรูปประเทศแล้ว นโยบายต่อสถาบันฯ ต้องชัดเจน คือต้องมีสถาบันกษัตริย์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่แล้ว แต่หมายถึงนโยบายลดทอนพระราชอำนาจจะทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเขาได้ไปเลือก ไม่ใช่ให้เยาวชนออกมาเรียกร้องเป็นด่านหน้า พรรคการเมืองก็ต้องยืนหยัด คือพรรคการเมืองต้องชัดเจน คุณต้องรวบรวมข้อเรียกร้องแล้วสรุปว่าจุดยืนคุณเป็นอย่างไร
@ รัฐบาลควรทำอย่างไรต่อข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอก หรือแม้กระทั่งข้อเรียกร้องจากเวทีธรรมศาสตร์ ?
ศ.ดร.ไชยันต์ : คือตอนนี้มีกระแสว่ารัฐบาลขอเวลาว่าใช้เวลาใน 2 ปี เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะต้องทำประชามติ, เลือก สสร. แบบนี้ประชาชนปลดแอกรอได้ไหม แต่สำหรับเยาวชนปลดแอกอาจต้องการให้เวลาหดสั้นลง จบการสืบทอดอำนาจโดยเร็ว แต่ถ้าหากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไปอีก 3 ปี จะรับได้ไหม ถ้ารับได้เรื่องก็จบ แต่ถ้ารับไม่ได้ ประชาชนปลดแอกจะมีแนวทางกดดันรัฐบาลอย่างไรต่อ ก็ต้องดูว่าเขาจะต่อรองอะไรกันอย่างไร แต่ทางที่ดีผมว่าก็พยายามอย่าไปแตะเรื่องการล้อเลียนหรือด้อยค่าสถาบันฯ แต่การเรียกร้องเรื่องลดทอนพระราชอำนาจก็เดินหน้าไป ต้องให้เหตุผลด้วยว่า ทำไมคุณต้องการลดทอน เรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าคนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถาบันฯ ความไม่มั่นคงเกี่ยวกับสถาบันฯ ก็เกิดขึ้น
รัฐสภา หรือปาลีเมนท์ (parliament) คือสถานที่ที่เรื่องซึ่งไปพูดที่อื่นไม่ได้คุณสามารถพูดที่นี่ได้ ถ้าคุณตัดเอกสิทธิ์ที่มีตรงนี้ออกไป ในที่สุด เรื่องนี้มันไปอยู่บนท้องถนนแล้วมันจะยุ่ง มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์รัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน
สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. แม้กระทั่งข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้น ก็ไม่ใช่การล้มสถาบันฯ แต่วิธีการนำเสนอของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น เป็นวิธีการที่ด้อยค่าสถาบันฯ แต่เนื้อหาของข้อเสนอนี้ ไม่ถือเป็นการล้มสถาบันฯ แต่เป็นข้อเรียกร้องให้มีการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเหตุผลว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจไม่ควรมีมากขนาดนั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องรับเข้าไปพิจารณาว่าตกลงแล้ว พระราชบัญญัติหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมเหตุสมผลที่จะลดทอนพระราชอำนาจตามข้อเรียกร้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียกร้องประเด็นนี้หรือเปล่า
ถ้าสภาฯ ไม่เห็นด้วย ก็ควรมีเหตุผลอธิบาย ส่วนนักศึกษาที่เรียกร้อง ก็ต้องอธิบายด้วยว่าทำไมถึงคิดว่าพระราชอำนาจที่มีอยู่ขณะนี้มีมากไป
….
เป็นข้อเสนอแนะที่เปิดกว้างทางความคิดและสื่อถึงความห่วงใยในหลายประเด็น อาทิ การผูกโยงวันชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตรงกับวันรัฐประหาร 19 กันยา 2549 , ควรเฝ้าระวังการสร้างสถานการณ์โดยมือที่สาม รวมถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการลดทอนพระราชอำนาจที่รัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรควรหารือเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา พรรคการเมืองควรแสดงจุดยืนว่าจะหาทางออกอย่างไร ขณะเดียวกันผู้ที่เรียกร้องประเด็นนี้ ก็ไม่ควรด้อยค่า ล้อเลียนหรือดูหมิ่นแต่ต้องยืนอยู่บนหลักการและเหตุผล คือเสียงสะท้อนจากนักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้นี้ ถึงหลายภาคส่วนไม่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุม รัฐบาล รัฐสภาหรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ภาพ ศ.ดร.ไชยันต์ จาก posttoday
อ่านประกอบ :
จอน อึ๊งภากรณ์ : กรณี 'ประชาชนปลดแอก' เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่อาจคาดเดาได้
อ่านนัยประกาศ 'ร.ร.ราชินี' ปรากฎการณ์ชิงพื้นที่ต่อรองสิทธิเสรีภาพ 'นร.-ครู-ศิษย์เก่า'
ด่าทอ-ตบตี-เข้าห้องปค.! นร. 'ชูสามนิ้ว' หน้าก.ศึกษา เรียกร้อง รมว.แก้ปัญหาถูกคุกคาม
ศธ.มีหนังสือด่วนถึงสถานศึกษา ให้ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ-รับฟังความคิดเห็นนักเรียน
ปรากฎการณ์ ‘ธรรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ถึงปฏิกริยาของรัฐบาล - ส.ว.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage