“…เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดายาก มันเป็นสิ่งที่ทดสอบทุกฝ่ายในสังคมไทย ผมเชื่อว่า ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทย ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เคยเป็นฝ่ายที่ก่อความรุนแรง แต่เป็นฝ่ายที่รับผลจากความรุนแรงทุกครั้ง ไม่ว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ถึงขนาดมีการจับคนมาแขวนคอ มีการจับคนมาเผานั่งยาง สิ่งเหล่านี้ ไม่น่าเชื่อว่ามันเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เราก็รู้ว่าความรุนแรงเหล่านี้มันมาจากที่ไหนบ้าง เราก็หวังว่าความรุนแรงเหล่านี้ แบบที่เคยเกิดในอดีตหรือในยุค 2535 หรือในยุค 2553 เราหวังว่าความรุนแรงแบบนั้น จะไม่เกิดในอนาคต…”
......................................
ยังคงส่งแรงสะท้อนที่ควรติดตาม สำหรับการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก นับแต่ภายหลังการชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน นอกจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 2 จุดยืน และ 1 ความฝันแล้ว ยังมีการปราศรัยจากตัวแทนหลากหลายกลุ่มในหลายประเด็นปัญหา อาทิ กลุ่มที่เรียกตนเองว่านักเรียนเลว กลุ่มคณะผู้หญิงปลดแอก (Women for Freedom and Democracy) ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน จาก 3 ภูมิภาค
ทว่า นอกจากบรรยากาศและประเด็นการเรียกร้องของผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีปรากฏการณ์เล็กๆ ที่น่าสนใจ คือกิจกรรมการรณรงค์การล่ารายชื่อ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ภายใต้ชื่อ 'ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ' ที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในการชุมนุมวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งภายในวันเดียว iLaw รายงานว่ามีผู้ลงชื่อเกิน 10,000 รายชื่อในวันเดียว ซึ่งหากรวมรายชื่อนับแต่เริ่มกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่เริ่มกิจกรรม ถึง วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา รวบรวมได้แล้วถึง 20,000 รายชื่อ
ด้วยกระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน กอปรกับการรณรงค์เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผู้ให้ความสนใจร่วมลงชื่อจำนวนมากในระยะเวลาไม่นาน ย่อมสะท้อนได้ถึงสิ่งที่คนส่วนหนึ่งในสังคมต้องการส่งเสียงถึงรัฐบาลขณะนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isrsnew.org) มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อร่วมมองปรากฏการณ์ดังกล่าว รวมถึงคาดเดาสถานการณ์ในภายภาคหน้าหลังการเรียกร้องของประชาชนปลดแอก มุมมองที่มีต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล รวมทั้งประเด็นการข่มขู่คุกคามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่ติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
@ หลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ถนนราชดำเนินและการชุมนุมแฟลชม็อบที่ปรากฏขึ้นทั่วประเทศ คิดว่ารัฐบาลควรมีทีท่าอย่างไรต่อข้อเรียกร้อง ?
จอน : ผมคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลที่สืบต่ออำนาจจากคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ) โดยอาศัยรัฐธรรมนูญของ คสช. เพื่อคงอำนาจไว้ อาศัย สว. แต่งตั้งที่ คสช. แต่งตั้ง เพื่อเข้ามาสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย
เมื่อเห็นแล้วว่าประชาชนทั่วประเทศกำลังเริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน รัฐบาลควรจะรีบลาออก ในความเห็นผม ผมอยากเรียกร้องด้วยว่า สว. แต่งตั้งก็ควรจะลาออก อาจจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ที่แม้ว่ายังเป็นรัฐธรรมนูญเดิม แต่ก็อยากให้ ส.ส. มาแก้รัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว จนกว่าในอนาคตจะมี สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเห็น มันก็จะคล้ายหลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติในเดือนพฤษภาคมปี 2535 ที่ทุกฝ่ายเห็นว่าประเทศไทย ควรจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้น เพื่อไม่ให้มีนายกฯ คนนอก ก็ทำนองเดียวกัน
@ คุณมองว่าสถานการณ์อาจจะเหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35 ?
จอน : ต้องแก้เป็นขั้นๆ แต่ว่าที่สำคัญคือปัญหาใหญ่คือ คสช. ยังอยู่ แม้จะสลายชื่อ คสช. แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีอำนาจ ยังอยู่ในอำนาจ ถ้ามองเห็นแล้วว่าประชาชนไม่เอา ก็ควรจะออกไปเพื่ออนาคตของประเทศไทย เพื่อประชาชน เพื่อการอยู่ร่วมกันของประชาชนอย่างมีสุข ก็จำเป็นต้องออก ถ้าไม่ออก ผมก็เห็นว่าเหตุการณ์ก็จะนำไปสู่การที่ต้องออกอยู่ดี แต่ผมไม่อยากเห็นความรุนแรง ไม่อยากเห็นการเสียเลือดเนื้อ อยากเห็นการแก้ปัญหาในทางที่ไม่รุนแรง แต่เกิดการณ์เปลี่ยนแปลงที่ประชาชนต้องการได้โดยเร็ว
@ ในการชุมนุมที่ผ่านมา ไอลอว์ตั้งโต๊ะรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อร่างรัฐธรรมนูญ คุณได้ติดตามไหมว่ามีความคืบหน้าอย่างไร และมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้จริงไหม ?
จอน : สิ่งที่ไอลอว์กำลังทำคือการพยายามคลี่คลายสถานการณ์ พูดง่ายๆ ว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ ในการชุมนุมไม่ใช่ข้อเรียกร้องของไอลอว์นะ แต่ที่ตรงกันคือ ไอลอว์มีวัตถุประสงค์ต่อการที่อยากเห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ไอลอว์เองไม่ได้กำหนดว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตจะต้องเป็นอย่างไร แต่ว่าต้องการปลดล็อครัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนทุกส่วนสามารถถกเถียงกันได้ ว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่แบบไหน
เพราะฉะนั้น การล่ารายชื่อในปัจจุบัน 50,000 รายชื่อนั้น ก็เพื่อที่จะยกเลิกส่วนที่เป็นเผด็จการที่สุดในระบบปัจจุบันนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตย เช่นยกเลิก สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เปลี่ยนเป็น สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้น และในขณะเดียวกัน ปิดกั้นไม่ให้เกิด นายกฯ คนนอก และเปิดโอกาสให้ในอนาคต มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้มีหน้าที่ที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นี่คือสิ่งที่ไอลอว์ทำ
@ จำนวนผู้ร่วมลงชื่อเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีมากขึ้นในระยะเวลาไม่นาน มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร ?
จอน : คาดไม่ถึง เราเคยทำเรื่องของการเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. กว่าจะได้ 14,000 รายชื่อนั้นใช้เวลาประมาณปีนึง และยากมากด้วย แต่ตอนนี้ปรากฏว่าการล่ารายชื่อเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายในอาทิตย์เดียวได้หนึ่งหมื่นรายชื่อ แสดงว่าสังคมเรียกร้องมากเลย เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
@ มองอย่างไรกรณีกับนักศึกษาและประชาชนรวม 15 รายที่ร่วมชุมนุมถูกหมายจับในข้อหาต่าง ๆ รวมถึงกรณีการคุกคามนิสิต นักเรียนนักศึกษา ประชาชน คุณและไอลอว์ประเมินอย่างไรบ้าง ?
จอน : เป็นห่วงมาก เพราะว่าเกิดการข่มขู่คุกคามและละเมิดสิทธิของนักเรียน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ รวมทั้งนักกิจกรรมทางสังคมที่เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ ยิ่งห่างจากกรุงเทพฯ ยิ่งมีการคุกคามมากขึ้น มีลักษณะที่พบว่าในหลายพื้นที่ มีบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าไปที่บ้านของนักเรียนนิสิต นักศึกษา ไปถ่ายรูปในบ้าน โดยไม่มีหมายค้น เข้าไปถ่ายรูปในบ้าน ไปซักถามคนในบ้าน ขอดูบัตรประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิอย่างมากและมีลักษณะเหมือนเป็นการข่มขู่คุกคาม
เมื่อคนที่โดนพฤติกรรมดังกล่าวข่มขู่ เขาขอดูบัตรของคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ คนนอกเครื่องแบบก็ไม่ให้ดูบัตรเจ้าหน้าที่ นี่ถือเป็นเป็นการละเมิดอย่างรุนแรง แต่คิดว่าเป็นนโยบายของฝ่ายความมั่นคงในประเทศไทยที่จะทำแบบนี้ เพื่อพยายามที่จะสร้างความกลัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เรียกร้องความเข้มแข็งจากผู้ที่เผชิญการคุกคามพอสมควร ที่ไอลอว์พอช่วยได้ ที่ทำอยู่คือติดตามเก็บข้อมูลและพยายามเผยแพร่เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่ามีพฤติกรรมที่ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
@ มีอะไรอยากฝากถึงคนในสังคมที่อาจยังไม่เข้าใจการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในการชุมนุมเรียกร้องที่เกิดขึ้น ?
จอน : ผมคิดว่าการที่นักศึกษาขึ้นมาเรียกร้องในหลายเรื่อง ทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างบางส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย การเรียกร้องเป็นเรื่องของประชาชนอยู่แล้วแต่ปรากฏว่ามี สว. แต่งตั้งหลายคน นำขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ ใส่ร้ายนิสิต นักศึกษา บางเรื่อง ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงแต่ประการใด แล้วก็เป็นการยุยงให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้สังคมที่ไม่เข้าใจเกิดความเกลียดชัง การที่สังคมในส่วนที่ไม่เข้าใจเกิดความเกลียดชังต่อคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องการปฏิรูปสังคม ผมคิดว่า สังคมควรจะรู้ทันและเข้าใจ ในสิ่งเหล่านี้
@ มองว่าเหตุการณ์นี้ จะนำไปสู่ความรุนแรงไหม จากกระแสที่มีหลายฝ่ายในสังคมออกมาแสดงความกังวลว่ากลัวเหตุการณ์จะรุนแรงเหมือน 6 ตุลาคม 2519 ?
จอน : คือเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดายาก มันเป็นสิ่งที่ทดสอบทุกฝ่ายในสังคมไทย ผมเชื่อว่า ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทย ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เคยเป็นฝ่ายที่ก่อความรุนแรง แต่เป็นฝ่ายที่รับผลจากความรุนแรงทุกครั้ง ไม่ว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ถึงขนาดมีการจับคนมาแขวนคอ มีการจับคนมาเผานั่งยาง สิ่งเหล่านี้ ไม่น่าเชื่อว่ามันเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เราก็รู้ว่าความรุนแรงเหล่านี้มันมาจากที่ไหนบ้าง เราก็หวังว่าความรุนแรงเหล่านี้ แบบที่เคยเกิดในอดีตหรือในยุค 2535 หรือในยุค 2553 เราหวังว่าความรุนแรงแบบนั้น จะไม่เกิดในอนาคต
คือมุมมอง ความเห็น และความห่วงกังวลของจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.iLaw และเจ้าของรางวัลแมกไซไซสาขาบริการรัฐกิจประจำปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ซึ่งเป็นรางวัลแมกไซไซสาขาเดียวกันกับที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นบิดาเคยได้รับเมื่อปี พ.ศ. 2508
ทั้งนี้ คือ มุมมองของจอนในส่วนที่ว่า "ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะจบอย่างไร" นับว่าสอดคล้องกับความเห็นของ พิภพ ธงไชย นักการศึกษาทางเลือก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่ให้สัมภาษณ์อิศราก่อนหน้านี้ ในประเด็นการเรียกร้องของนักเรียนผ่านสัญลักษณ์การชูสามนิ้ว โดยพิภพมองถึงปรากฎการณ์การเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในห้วงเวลานี้ว่า "ไม่รู้จะจบอย่างไร"
อาจเป็นคำถามที่ทั้งสังคมต่างกำลังรอคอยคำตอบอยู่เช่นเดียวกัน เป็นคำตอบที่ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะจบลงอย่างไร?
ภาพจอน Hfocus
อ่านประกอบ :
ไขปรากฏการณ์ 'ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า' ระบาดโรงเรียนมัธยมทั่วปท.
การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ ปชต. แกนนำปราศรัย 3ข้อเรียกร้อง 2จุดยืน 1ความฝัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage