“...เชื่อว่าพวกเราสมาชิกทั้ง 2 สภามีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไปไกลมาก ทำให้ข้อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติส่วนใหญ่ต้องเสียไป และสุ่มเสี่ยงจะเป็นการจุดชนวนความรุนแรงอย่างถึงที่สุดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 อันจะเป็นการสร้างบาดแผลลีกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป...” นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวขณะใช้สิทธิหารือในที่ประชุมวุฒิสภา
...................................................
‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยอมรับ “รู้สึกไม่สบายใจ” หลังถูกถามถึงการติดตามการชุมนุมของนักศึกษา ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’
เป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เมื่อช่วงเย็นวันนี้ที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา
พ่วงด้วยข้อเสนอ 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่ง ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวแต่อย่างใด
วันเดียวกันนี้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ยังให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงความพร้อมในการขจัดเวทีรับฟังความเห็นนักศึกษา โดยระบุว่า จะเริ่มมีการจัดเวทีตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.เป็นต้นไป โดยจะจัดหลายพื้นที่และหลายภูมิภาคทั่วประเทศ
เมื่อถูกถามอีกครั้งว่าได้ติดตามการชุมนุมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า “ผมเป็นนายกฯ ไม่ติดตามได้อย่างไร ติดตามทุกเรื่อง ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิ แต่การชุมนุมที่เกินเลยมากๆ ขอถามสื่อ สื่อว่าอย่างไร”
"การทำแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร กฎหมายอยู่ตรงไหน แล้วอย่าบอกว่าเอากฎหมายไปกดทับ มันไม่ใช่ เพราะถ้าละเมิดทุกคนก็ต้องถูกลงโทษ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็เสียหาย เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย ไม่ทำงานก็ถูกฟ้องร้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร เพราะฉะนั้นสถาบันต่างๆ ต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบกันบ้าง ไม่ใช่มาลงที่นายกฯ ทั้งหมดต้องช่วยกัน ประเทศชาติเป็นของใคร เป็นของทุกคน และวันนี้ทุกคนทราบกันดีระหว่างปัญหาประเทศชาติอยู่ตรงไหน หลายอย่างที่เรียกร้องมามันใช่ปัญหาที่ทำได้วันเดียว หรือ 2 วัน หรือเดือนหนึ่งไหม มันกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ หลักคิดอย่างนั้นมันไม่ได้ รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ในฐานะผู้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ โพสต์ข้อความผ่าน Prinya Thaewanarumitkul ชี้แจงถึงการชุมนุมที่มีการปราศรัยหรือแสดงออก นอกเหนือจากประเด็นการเคลื่อนไหวที่แจ้งไว้ก่อนหน้านี้
“แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพึงระวังในเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องที่อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม และแม้ว่าเนื้อหาหลักของการชุมนุมจะเป็นไปตามขอบเขตดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะเลยขอบเขตไป ผมในฐานะรองอธิการบดีผู้อนุญาต ผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในเบื้องต้นผมขออภัย และขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น” นายปริญญา กล่าว
ขณะที่ในการประชุมวุฒิสภา มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดย ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ เสนอให้รัฐสภาใช้มาตรา 165 เปิดเวทีหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ‘6 ตุลาฯ ภาคสอง’
“เชื่อว่าพวกเราสมาชิกทั้ง 2 สภามีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไปไกลมาก ทำให้ข้อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติส่วนใหญ่ต้องเสียไป และสุ่มเสี่ยงจะเป็นการจุดชนวนความรุนแรงอย่างถึงที่สุดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 อันจะเป็นการสร้างบาดแผลลีกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป” นายคำนูณ กล่าว
ขณะที่ ‘สมชาย แสวงการ’ เห็นว่า เนื้อหาการชุมนุมเกินเลยเกินกว่าที่จะยอมรับได้ เป็นการชักจูงสังคมไทยเข้าสู่ความขัดแย้ง และเชื่อว่าเกินกว่าที่คนไทย 70 ล้านคนจะรับได้ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเอาผิดโดยเร็ว
“ต้องใช้ไม้แข็งดำเนินการกับหัวโจก เสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สอบเส้นทางการเงินที่สนับสนุนการชุมนุม เมื่อวานนี้ชัดเจนว่ามีการใช้จอแอลอีดี มูลค่าหลายแสนบาท ฉายสิ่งที่ไม่บังควร และต้องดำเนินการจัดการสื่อสารทางโซเชียลต่อผู้กระทำผิดโดยเร็ว ส่วนตำรวจต้องถอนประกัน นายอานนท์ นำภา และนายไมค์ ระยอง (ภานุพงศ์ จาดนอก) เพราะผิดเงื่อนไขการประกัน และขอให้อธิการบดีทุกแห่ง รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะเมื่อวานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดีออกมาขอโทษไม่เพียงพอ เหตุการณ์ต่อไปจากนี้ ในฐานะผู้บริหารต้องร่วมรับผิดชอบด้วย” นายสมชาย กล่าว
ขณะที่ช่วงเวลาหลังจากนี้ ยังมีการนัดชุมนุมอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ 12 ส.ค.ที่สวนลุมพินี , 14 ส.ค.ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มประชาชนปลดแอกในวันที่ 16 ส.ค.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้น ท่ามกลางการความกังวลจากหลายฝ่ายว่า กงล้อประวัติศาสตร์กำลังขับเคลื่อน-หมุนซ้ำรอยเดิมหรือไม่
ที่มาภาพจาก : แนวหน้า
อ่านประกอบ :
'คำนูณ' เสนอรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปหาทางออกประเทศ ป้องเหตุเกิด '6 ตุลาฯภาคสอง'
คำชี้แจง ปริญญา น้อมรับผิด กรณีการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage