'ศ.ดร.ไชยันต์' อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประเมินการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ 19 ก.ย. ชี้ขึ้นอยู่กับ ‘เพื่อไทย’ ไฟเขียวให้มวลชนร่วมรำลึกการรัฐประหารไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณหรือไม่ หวั่นประเด็นในการเรียกร้องเปลี่ยน ขอให้เป็นไปตามธรรมชาตินักศึกษาดีแล้ว อย่าดีลกับนักการเมือง-แนะตรวจเช็คกล้องวงจรปิดทุกจุด ทุกระยะ ป้องปรามมือที่สาม-หวั่นช่วงสอบในเดือน ต.ค. นักศึกษาอาจประท้วงโดย ‘สไตรค์’ ไม่เข้าห้องสอบ เพื่อรำลึก 6 ต.ค.2519
.......................................
สืบเนื่องจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระบุผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กนัดชุมนุมครั้งใหญ่ในวันเสาร์ที่ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่อาจสื่อถึงการครบรอบ 14 ปีรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น คมช.หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของพ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประเมินถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19 ก.ย.ว่า ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองฝ่ายเพื่อไทยจะเปิดไฟเขียวหรืออนุญาตให้ประชาชนฝ่ายพรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วมรำลึกการรัฐประหารพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณหรือไม่
“ถ้าพรรคไฟเขียวหรืออนุญาต คนก็จะเยอะ แล้วก็จะไม่ใช่แค่การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา แต่อาจจะมีการจะเทคโอเวอร์ ถ้าประชาชนที่ไม่ใช่นักศึกษามาเยอะ แล้วการชุมนุมนี้เป็นของใคร จะทำให้ประเด็นในการเรียกร้องเปลี่ยนไปหรือไม่ ในแง่ของการชุมนุมอาจจะได้คนเยอะ แต่อาจเป็นความสับสนวุ่นวายว่าใช่นักศึกษาหรือไม่ และการเรียกร้องคืออะไรกันแน่ หรือเป้าหมายคือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยดึงคนที่เคยสูญเสียในอดีตกลับมาทั้งหมดหรือเปล่า" ศ.ดร.ไชยันต์ระบุ
ศ.ดร.ไชยันต์ ยังระบุด้วยว่า “หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 มีรัฐธรรมนูญ 2550 พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ อยู่ในช่วงสั้น ๆ ไม่สืบทอดอำนาจ ถ้าคุณนำเหตุการณ์ 19 กันยา 2549 มาโยง ดังนั้น เป้าหมายของคุณคือต่อต้านกองทัพหรือเปล่า คุณต้องแยกว่ารัฐประหารครั้งนั้นไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ถ้าจะต่อต้านรัฐประหารก็ต้องโยงไปในอดีตเยอะแยะ เช่นรัฐประหารของพระยาพหลฯ ปี 2476 คุณยอมรับได้ เพราะเป็นคณะราษฎรหรือเปล่า ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครทำรัฐประหารหรือเปล่า ถ้าเป็นประเด็นนี้ก็จะยุ่งมาก จะมีคนโต้แย้ง มีฝ่ายต่อต้านขึ้นมา ซึ่งผมว่าให้เป็นไปตามธรรมชาติของนักศึกษาน่ะดีแล้ว อย่าได้ไปดีลกับนักการเมืองเลย” ศ.ดร.ไชยันต์ระบุ
เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักศึกษาและนักเรียนมัธยมทั่วประเทศ ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า หลังจากการชุมนุมของประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 ส.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมให้เวลารัฐบาลในการตอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าจะกลับมาช่วงเดือนตุลาคม ดังนั้น หากทิ้งนานไปอารมณ์การชุมนุมเรียกร้องก็หายไป จึงอาจยกระดับหรือเลี้ยงกระแส เช่น หากมีกลุ่มนักเรียนมัธยมไปเรียกร้องหน้ากระทรวงศึกษาธิการแล้ว ตนก็เชื่อว่าหลังจากนี้อาจจะมีนักศึกษาไปที่หน้ากระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม )
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อถึงช่วงปิดเทอม หากนักศึกษาจากต่างจังหวัดสอบเสร็จ ก็สามารถเข้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งอาจมีการจัดรำลึกครบรอบเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
“เผอิญ ช่วง 6 ต.ค. ของปีนี้ ก็เป็นช่วงสอบ อาจนำมาสู่การสไตรค์ ไม่เข้าห้องสอบ ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการศึกษามหาวิทยาลัยหมดเลย คือถ้าคนไม่เข้าห้องสอบน้อยก็ถือว่าขาดสอบ แต่ถ้าคนไม่เข้าห้องสอบเป็นจำนวนมากๆ ก็หมายความว่า ทำการสอบไม่ได้ ประเมินผลไม่ได้ แล้วจะเรียนเทอมหน้าอย่างไร ขณะที่เทอมนี้ยังไม่ได้สอบ มันก็จะกลายเป็นการประท้วงไม่เข้าห้องสอบ ไม่เข้าห้องเรียนยาวนาน กรณีที่หากผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาโดยส่วนใหญ่ ก็อาจจะใช้วิธีการนี้” ศ.ดร.ไชยันต์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วง 6 ต.ค. 19 ก็มีการพยายามสไตรค์ ไม่เข้าห้องสอบเพื่อไปชุมนุมเช่นเดียวกัน ซึ่งการสไตรค์เป็นวิธีการปกติของการประท้วง เช่น หากเป็นแรงงานก็นัดหยุดงาน เป็นนักศึกษาก็สไตรค์ โดยไม่เข้าห้องสอบ ประท้วงไม่เรียน ไม่สอบ ทำให้ระบบเกิดปัญหามากและนำมาซึ่งความปวดหัวของบรรดาผู้ปกครอง
“เป็นการกดดันของนักศึกษา เป็นเรื่องของนิสิต นักศึกษาที่เขาจะใช้สิทธิเสรีภาพในการที่จะประท้วงหรือสไตรค์ เป็นเรื่องของเขา จะทำอย่างไรถ้าเขาสไตรค์ เขาไม่เข้าห้องสอบเราจะทำอะไรได้ นี่คือภาวะชะงักงัน ก็เหมือนกับเวลา กปปส. ชัตดาวน์ ก็ชะงักงัน สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายสารพัด เราจะไปทำอะไรได้” ศ.ดร.ไชยันต์ระบุ
นักวิชาการรายนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่มีการใช้กำลังปราบปรามอะไรกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะไม่ได้มีอาวุธ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมือที่สามที่ไม่รู้เป็นใครมาจากไหนที่อาจจะทำร้ายผู้ชุมนุม ทำร้ายแกนนำ หรือแม้กระทั่งทำร้ายฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อสร้างสถานการณ์ก็เป็นไปได้ วิธีง่ายๆ ในการป้องปรามคือ คือต้องเช็คกล้องวงจรปิดว่าทำงานได้ แล้วประกาศให้สาธารณชนรับทราบว่ากล้องวงจรปิดทุกอันในทุกการชุมนุมในแต่ละจังหวัด ใช้งานได้ และต้องตรวจเช็คทุกระยะ วิธีการนี้จะทำให้คนที่จะเป็นมือที่สามต้องหยุดคิด เป็นการป้องปรามไม่ให้เขาย่ามใจ
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคอยดูแลความปลอดภัยของแกนนำ ประกาศว่าไม่ได้ไปคุกคาม แต่ประกาศว่าไปป้องกันเพื่อไม่ให้มีการลอบทำร้าย ถ้าทำแบบนี้แล้ว โอกาสหรือชนวนเหตุที่จะเกิดความรุนแรงก็น้อยลง แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็มีเสมอ สื่อเองก็ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรจะไม่ไปปลุกเร้าอารมณ์ของความเกลียดชังขึ้นมา
เมื่อถามถึงกรณีที่นักเรียนมัธยมทั่วประเทศแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว ชูกระดาษเปล่า ศ.ดร. ไชยันต์ กล่าวว่า ในวัยของเยาวชน เป็นวัยที่ค่อนข้างมีเสรีภาพ ไม่อยากจะอยู่ในกรอบระเบียบอะไร ซึ่งสมัยตนเด็กๆ หรืออยู่ในช่วงวัยนั้นก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน
“ผมว่าก็เป็นทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่จะหยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมา หรือมีประเด็นทางการเมืองอะไรที่ไปกระทบหรือทำให้เขาต้องใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงออก มันก็ขึ้นอยู่กับประเด็นทางการเมืองในแต่ละช่วงวัย แต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิดประหลาดอะไร เพราะในยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 ก็มีนักเรียนที่เข้าร่วมเรียกร้องเช่นกัน” นักวิชาการรายนี้ระบุ
ภาพ workpoint, tu.ac.th
อ่านประกอบ :
ไขปรากฏการณ์ 'ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า' ระบาดโรงเรียนมัธยมทั่วปท.
การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ ปชต. แกนนำปราศรัย 3ข้อเรียกร้อง 2จุดยืน 1ความฝัน
จอน อึ๊งภากรณ์ : กรณี 'ประชาชนปลดแอก' เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่อาจคาดเดาได้
ปรากฎการณ์ ‘ธรรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ถึงปฏิกริยาของรัฐบาล - ส.ว.
ด่าทอ-ตบตี-เข้าห้องปค.! นร. 'ชูสามนิ้ว' หน้าก.ศึกษา เรียกร้อง รมว.แก้ปัญหาถูกคุกคาม
อ่านนัยประกาศ 'ร.ร.ราชินี' ปรากฎการณ์ชิงพื้นที่ต่อรองสิทธิเสรีภาพ 'นร.-ครู-ศิษย์เก่า'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage