"...จริงๆ ก็ควรมองประกาศห้ามของโรงเรียนไปในแง่ที่ว่าไม่อยากให้มีการแสดงออกทางการเมือง เพราะหากมีกลุ่มอื่นมาอีกก็วุ่นวายมาก แต่ถ้านักเรียนยอมรับได้ว่าใครจะยกมือชูสามนิ้วหรือไม่ยกมือก็ไม่เป็นไร คบกันได้ อันนั้นก็โอเค การใช้เสรีภาพในแบบประชาธิปไตยต้องมีจิตใจที่อดทนอดกลั้น...การไม่ปฏิญาณนั้นก็หมายความว่า เขาไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ เขาก็ตรงไปตรงมา..."
.................................
การออกประกาศของโรงเรียนราชินีหรือหนังสือที่มีถึงผู้ปกครองนักเรียนพร้อมใบตอบรับ เมื่อเย็นวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา นำมาสู่ปฏิกิริยาหลากหลายจากสังคม
ในจำนวนนั้น คือ ท่าทีจากนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่แสดงออกด้วยการฉีกประกาศของโรงเรียนแล้วโปรยลงมาจากอาคารเรียน
ขณะที่ ตัวแทนศิษย์เก่าและปัจจุบันได้เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารโรงเรียนเนื่องด้วยกังวลต่อประกาศดังกล่าว ที่เนื้อหาค่อนข้างมีใจความส่วนที่กล่าวหานักเรียนอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ หากไล่เลียงลำดับเหตุการณ์การออกประกาศ ร.ร.ราชินี จะพบว่ามีจุดเชื่อมโยงมาจากปรากฎการณ์ ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาวของนักเรียนโรงเรียนมัธยม ที่เคยนำเสนอไปแล้ว โดยจุดเชื่อมสำคัญคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียน และความเห็นต่างของครูในโรงเรียน รวมไปถึงปรากฎการณแย่งชิงพื้นที่ต่อรองสิทธิเสรีภาพของผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย
@ ปรากฏการณ์ชูสามนิ้วในรั้วมัธยมทั่วประเทศ-สะท้อน ร.ร.ราชินี
ในขณะที่ปรากฏการณ์เด็กนักเรียนมัธยมชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว ชูกระดาษเปล่าในรั้วโรงเรียน ยังคงแพร่หลายอย่างต่อเนื่องไปทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมกับมีรายงานถึงกระแสต่อต้านจากครูในหลายโรงเรียน รวมไปถึงมีการออกคำสั่งห้ามอ้างว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ให้แสดงออกทางการเมือง อาทิ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. มีประกาศของโรงเรียนบดินทรเดชา-สิงห์ สิงหเสนี-นนทบุรี ออกประกาศเรื่อง มาตรการควบคุมพื้นที่ ระบุว่าโรงเรียนไม่ส่งเสริมกิจกรรมใดๆ ที่ส่อเจตนาให้เกิดความขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตยในโรงเรียนแห่งรัฐ ต่อมา เย็นวันที่ 19 ส.ค.มีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาหลายสถาบันที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยตัวแทนนักเรียนเรียกร้องให้ครูยุติการคุกคามต่อนักเรียน หลังมีรายงานว่านักเรียนถูกครูกระทำรุนแรงด้วยกายและวาจา จากกรณีที่นักเรียนชูสามนิ้วและแสดงสัญลักษณ์ผูกโบว์ขาวซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมือง
( อ่านประกอบ : ไขปรากฏการณ์ 'ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า' ระบาดโรงเรียนมัธยมทั่วปท., ด่าทอ-ตบตี-เข้าห้องปค.! นร. 'ชูสามนิ้ว' หน้าก.ศึกษา เรียกร้อง รมว.แก้ปัญหาถูกคุกคาม )
วันที่ 20 ส.ค.2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้สำนักงานปลัด ศธ.ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศ ร.ร.ราชินี สวนทาง ศธ.-ศิษย์เก่าไม่เห็นด้วย ชี้กล่าวหาเด็กร้ายแรงแม้สำนักงานปลัด ศธ. มีหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาคำนึงถึงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา
( อ่านประกอบ : ศธ.มีหนังสือด่วนถึงสถานศึกษา ให้ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ-รับฟังความคิดเห็นนักเรียน )
ทว่า ในช่วงเย็นวันที่ 21 ส.ค.2563 มีประกาศของโรงเรียนราชินีหรือหนังสือถึงผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ได้เรียกความสนใจจากสังคม เนื่องด้วยเป็นคำสั่งห้ามนักเรียนแสดงออกทางการเมือง และมีประเด็นที่ระบุถึงการก้าวล่วงสถาบัน รวมทั้งระบุในตอนท้ายว่าหากผู้ปกครองคนใดไม่พอใจเรื่องที่โรงเรียนแจ้งนี้ โรงเรียนยอมรับ “สิทธิ์ของผู้ปกครอง” ที่จะนำนักเรียนลาออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น
@ ปฏิกิริยาต่อประกาศ ร.ร.ราชินี
ในเย็นวันเดียวกัน ( 21 ส.ค.) มีภาพเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียว่ามีนักเรียนฉีกประกาศดังกล่าวแล้วโปรยทิ้งลงมาจากอาคารเรียน ต่อมา ช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.63 ที่บริเวณโรงเรียนราชินี ตัวแทนศิษย์เก่าโรงเรียนราชินีจำนวนหนึ่งรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าโรงเรียนราชินีทั้งที่ปากคลองตลาดและโรงเรียนราชินีบนที่ศรีย่าน เพื่อนำจดหมายเปิดผนึก เรื่องความกังวลต่อประกาศโรงเรียนราชินี ยื่นต่อผู้บริหารพร้อมรวบรวมรายชื่อศิษย์เก่าและปัจจุบันจำนวน 999 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว
ใจความตอนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกระบุว่าสถานศึกษาต้องคุ้มครองนักเรียนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
แต่ทางโรงเรียนกลับกล่าวหานักเรียนว่า “...ก้าวล่วงสถาบันหลักของประเทศ...” ทั้งที่นักเรียนไม่ได้กระทำการใดอันอาจกล่าวได้ว่าเป็นการก้าวล่วง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาอันร้ายแรง
ดังนั้น โรงเรียนจึงควรตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
(อ่านประกอบ : ศิษย์เก่า 'ร.ร.ราชินี' เตรียมยื่นจม.เปิดผนึก-ไม่สบายใจ ร.ร.กล่าวหา นร.ก้าวล่วงสถาบันฯ )
สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าในการยื่นหนังสือดังกล่าว โรงเรียนไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวในโรงเรียน และตัวแทนศิษย์เก่าซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่าไม่ได้คาดหวังว่าประกาศจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ได้พูดคุยหารือในทุกประเด็นแล้วตามรายละเอียดข้างต้น ยืนยันไม่ได้ขัดแย้ง เป็นเพียงการพูดคุยในฐานะศิษย์และครู
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้โทรศัพท์สอบถามโรงเรียนราชินีถึงกรณีการมายื่นหนังสือของศิษย์เก่า เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.มีศิษย์เก่ามายื่นหนังสือจริง เมื่อผู้สื่อข่าวแจ้งว่าต้องการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการที่ลงนามในประกาศ คือ นางเรืองศิริ สิงหเดช เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่มาโดยละเอียดของการออกประกาศดังกล่าว เจ้าหน้าที่ระบุว่า ขอให้ทำหนังสือติดต่อมาอย่างเป็นทางการ
จากนั้น ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถามโรงเรียนราชินีบน และแจ้งความประสงค์ต้องการขอสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีบนคือ ดร.เย็นฤทัย จงถนอม เพื่อขอสัมภาษณ์กรณีประกาศของโรงเรียนราชินี และการที่มีศิษย์เก่ามายื่นจดหมายเปิดผนึก เจ้าหน้าที่ได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้สื่อข่าวไว้ และแจ้งว่าจะติดต่อกลับ ทว่า ผู้สื่อข่าวไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด
@ ที่มาของประกาศ ร.ร.ราชินี-ปฏิกิริยาต่อการชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว กล่าวปฏิญาณไม่ครบ ?
ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้รับคำอธิบายโดยละเอียดจากโรงเรียนถึงที่มา สาเหตุของการออกประกาศดังกล่าว จึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ถึงการนัดหมายของนักเรียนที่มีการอ้างว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนราชินีนั้น เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่และมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การนัดหมายแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่มีข้อมูลปรากฏ คือชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว และกล่าวคำปฏิญาณไม่ครบ
สำหรับ คำปฏิญาณของนักเรียนโรงเรียนราชินี ที่ต้องกล่าวหลังเคารพธงชาติในตอนเช้า มีใจความระบุว่า
"พวกเราเป็นไทยอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีชาติ มีศาสนา พระมหากษัตริย์ซึ่งบรรพบุรุษของเรา เอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ เราต้องสละชีพเพื่อชาติ เราต้องบำรุงศาสนา เราต้องรักษาพระมหากษัตริย์ เรานักเรียนจะต้องประพฤติตน อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เรานักเรียนจักต้องไม่ทำตนให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น "
@ มุมมองนักวิชาการรัฐศาตร์ต่อประกาศ ร.ร.ราชินี และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการตีความต่อประกาศของโรงเรียนราชินี รวมถึงมุมมองต่อการแสดงออกของนักเรียน ตามข้อมูลที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียว่ามีการนัดหมายของนักเรียนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการชูสามนิ้ว ติดโบว์ขาว และกล่าวคำปฏิญาณไม่ครบ ว่าเหล่านี้ มองว่าเป็นการก้าวล่วงสถาบันฯ ตามประกาศของโรงเรียนหรือไม่ สิ่งที่โรงเรียนและครูควรปฏิบัติต่อกรณีที่เด็กแสดงออกดังกล่าว รวมถึงการที่เด็กกล่าวคำปฏิญาณไม่ครบนั้น ครูควรมีท่าทีอย่างไร การพูดคุยด้วยเหตุผล รับฟังเสียงสะท้อนของเด็กนับว่าสำคัญและจำเป็นเพียงใด ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ภาพจาก posttoday
@ ประกาศโรงเรียนราชินี แม้สะท้อนแนวคิดอนุรักษ์นิยมแต่ก็เพื่อต้องการให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง
เมื่อถามว่าประกาศของโรงเรียนราชินี สะท้อนแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือไม่ ศ.ดร.ไชยันต์ตอบว่า "แน่นอนครับ สะท้อนแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่ขณะเดียวกัน ถ้าให้มองไปในอนาคต ในภาพกว้างๆ การให้มีการแสดงออกทางการเมือง ถ้าให้กลุ่มหนึ่งแสดงออกทางการเมืองได้ ก็จะมีกลุ่มอื่นๆ ต่อๆ มา เป็นเรื่องยากที่เราจะยกระดับจิตใจได้ในระดับที่ว่ายอมรับได้ถ้าเพื่อนที่ยืนข้างๆ เราไม่ได้แสดงออกทางสัญลักษณ์เช่นเดียวกับเรา อาจระแวดระวังกัน ระแวงกัน ดังนั้น การห้ามไม่ให้แสดงออกทางการเมืองในโรงเรียนมันไม่ใช่เหตุผลทางอนุรักษ์นิยมเพียงอย่างเดียว มันเป็นเหตุผลที่ว่า ต้องการให้โรงเรียนปลอดการเมือง เป็นที่ๆ คนมาเรียนหนังสือ ถ้าจะแสดงออก ก็แสดงออกก่อนเข้าเรียน จะชูนิ้ว หรือไม่ชูนิ้ว หรืออะไรก็ตาม ผมว่า จริงๆ ก็ควรมองประกาศห้ามของโรงเรียนไปในแง่ที่ว่าไม่อยากให้มีการแสดงออกทางการเมือง เพราะหากมีกลุ่มอื่นมาอีกก็วุ่นวายมาก แต่ถ้านักเรียนยอมรับได้ว่า ใครจะยกมือชูสามนิ้วหรือไม่ยกมือก็ไม่เป็นไร คบกันได้ อันนั้น ก็โอเค การใช้เสรีภาพในแบบประชาธิปไตยต้องมีจิตใจที่อดทนอดกลั้น"
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า ตนไม่รู้เจตนารมณ์อันแท้จริงของโรงเรียน สิ่งที่เขาเขียนมาเขาไม่ต้องการให้มีการชุมนุมทางการเมืองเพราะเขาเป็นอนุรักษ์นิยมหรือไม่ "ซึ่งเราอาจตีความได้ว่าเป็นอนุรักษ์นิยม เพราะตั้งขึ้นมาโดยเจ้านายแล้วก็มีจารีตประเพณีที่ก็รู้อยู่แล้วว่ามีจุดยืนที่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน เพราะฉะนั้น ผมตีความประกาศของโรงเรียนไปในทางที่จะเป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่าจะตีความเพียงเพราะว่าเป็นอนุรักษ์นิยม ประกาศของเขา ผมขยายความให้เขานะว่าถ้าผมเป็นผู้บริหาร ผมก็อาจจะบอกนักเรียนว่าอย่าเพิ่งแสดงออกไหม ไปแสดงออกที่อื่นกัน เดี๋ยวมันจะยุ่ง แต่ไม่ได้ห้ามถ้าหากจะร้องเรียนอะไรแต่ว่าไม่ใช่ว่าจะต้องมาชูนิ้ว เพราะวันหลัง ถ้าคนที่เขาไม่ชอบ เขารวมตัวกันได้ แล้วเขามาบอกว่าเขาไม่ต้องการ ถ้าคุณมีใจที่มองเห็นความงดงามของประชาธิปไตยก็ดี แต่ในแง่หนึ่งก็อาจขัดแย้งกัน แล้วโรงเรียนที่มีสภาวะคนสองกลุ่มขัดแย้งกัน การจะเรียนด้วยกัน ทำงานกลุ่ม ทำรายงานด้วยกัน มันจะไม่เหมือนเดิม" นักวิชาการรายนี้ระบุ
@ ประเด็นที่โรงเรียนกล่าวหาว่านักเรียนก้าวล่วงสถาบัน เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินไป
เมื่อถามถึงกรณีที่ศิษย์เก่ายื่นจดหมายเปิดผนึก มีใจความตอนหนึ่งระบุว่าข้อกล่าวหาของโรงเรียนที่ว่านักเรียนก้าวล่วงสถาบันฯ เป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินไป ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่าเห็นด้วยที่ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวร้ายแรง
"ผมเห็นด้วยกับศิษย์เก่าเพราะการชูสามนิ้วไม่ใช่การก้าวล่วงสถาบัน การชูสามนิ้ว ความเป็นมาคือการต่อต้านรัฐประหาร โดยมีที่มาจากภาพยนตร์เรื่องเดอะฮังเกอร์เกมส์ (The Hunger Games )แล้วต่อมาก็เป็นการให้ความหมายเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นคำขวัญในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งสามคำนี้ ไม่จำเป็นต้องถูกโยงเข้ากับการปฏิวัติฝรั่งเศสเสมอไป แต่สามคำนี้ อาจจะเชื่อมโยงกับแนวคิดยุคเสรีนิยมได้ ไม่จำเป็นต้องโค่นล้มสถาบัน อย่าได้ไปยัดเยียด การที่ประกาศของโรงเรียนราชินีจะถือว่าการชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาวของนักเรียนเป็นการก้าวล่วงสถาบันนี่ จะไปตีความนักเรียนแบบนั้นไม่ได้เลย"
@ กรณีเด็กนักเรียนไม่กล่าวคำปฏิญาณ เป็นการแสดงออกที่ตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่าในประกาศอาจไม่ได้ระบุชัด แต่บอกกว้างๆ ว่า ในโรงเรียนมีนักเรียนก้าวล่วงสถาบัน แต่ในโซเชียลมีเดีย มีการเผยแพร่การนัดหมายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนที่มีข้อมูลอ้างกันว่าเป็นของนักเรียนโรงเรียนราชินี นัดกันที่จะไม่กล่าวถ้อยความบางถ้อยความในคำปฏิญาณ เป็นไปได้ไหมว่า การที่เด็กไม่ปฏิญาณตน จะถูกมองว่าเด็กก้าวล่วงสถาบัน จึงทำให้เกิดประกาศนั้นออกมา
ศ.ดร.ไชยันต์ ตอบว่า "การไม่ปฏิญาณนั้นก็หมายความว่า เขาไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ เขาก็ตรงไปตรงมา มันก็ดีกว่าคนที่ปฏิญาณ แต่ไม่เคยที่จะรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์หรอก คนที่ปฏิญาณ ถวายสัตย์ ไปเรื่อยเปื่อย แต่ไม่เคยคิดจะจงรักภักดีต่อสถาบันฯ หรือว่าเคารพสถาบันฯ ก็มีเยอะแยะไป เพราะฉะนั้น ต้องไปถามเหตุผลเขาว่า เหตุผลเขาคืออะไร การจะไปฟันธงว่าเขาก้าวล่วงนั้น ไม่ได้ ที่ควรทำคือ ครูต้องไปถามเขาสิ ว่าทำไมเขาไม่ปฏิญาณ"
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า ครูควรให้นักเรียนอธิบายเหตุผลมาว่าทำไมไม่ปฏิญาณ ทั้งที่ปฏิญาณมาตลอดก่อนหน้านี้ ทำไมครั้งนี้ถึงปฎิญาณไม่ได้ และการจะเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ามีคำปฏิญาณแบบนี้ แล้วมาบัดนี้ ด้วยเหตุผลอะไร ไหนลองบอกมาซิ แล้วก็รวบรวมเหตุผลเหล่านี้ไปให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเหตุผลที่นักเรียนไม่ปฏิญาณ เพราะอะไร
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่ากรณีนี้ก็อาจจะสอดคล้องกับกระแสที่ว่า "คนรุ่นใหม่เขาอยากไหว้ใครเขาก็ไหว้ ถ้าเขาไม่เคารพใคร เขาก็ไม่เคารพ เขาจะไหว้ หรือเคารพคนที่เขาเคารพ เขาก็ตรงไปตรงมา"
"คือถ้านักเรียนเขาอธิบายแบบนั้น แล้วครูล่ะ ครูมีเหตุผลพอที่จะอธิบายเขาไหม ถ้าครูยังตอบไม่ได้เลย ถ้าครูไม่มีเหตุผลที่จะแย้งเขา แล้วเอาแต่บอกว่าไม่ได้ นี่มันผิดระเบียบ อ้าว! นี่ก็เผด็จการแล้วสิ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนเขาก็สมัครใจที่จะปฏิญาณ เขาก็รู้สึกว่าเขาเต็มใจ หรือเขาอาจจะลืมคิดไปว่าที่ผ่านมาเขาไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ตอนนี้เขาเริ่มคิดแล้ว เขาเริ่มคิดอย่างจริงจัง และเป็นเรื่องดีที่เขาจะคิดอย่างจริงจังในเรื่องนี้ ก็ต้องชวนเขาคิดจริงจังในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความสะอาด เรื่องเกี่ยวกับสิทธิของเขาในการข้ามถนน ข้ามทางม้าลาย ถ้าข้ามไม่ได้ ทำไมปล่อยให้คนขับรถไปอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็ยืนเฉยๆ ดังนั้น ผู้ที่เป็นครูต้องรอบรู้ มีหลักที่จะคุย มีความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ" นักวิชาการรายนี้ระบุ
ภาพจาก sanook.com
@ กรณีโรงเรียนยอมรับ “สิทธิ์ของผู้ปกครอง” ที่จะนำนักเรียนลาออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น
ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่ามีหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งก็ยืนยันแบบนี้มาโดยตอด "เช่นโรงเรียนที่ผมเคยอยู่ เวลาผู้ปกครองรู้สึกว่าทำไมให้การบ้านเยอะเกินไป ทำไมครูตีแรง โรงเรียนก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมานานแล้ว ถึงโรงเรียนไม่บอกตรงๆ แต่ก็บอกเป็นนัย มีหลายโรงเรียนก็เป็นที่รับรู้มาโดยตลอดว่าถ้าคุณไม่พอใจ คุณมาเอาลูกคุณออกไปได้ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน"
นักวิชาการรายนี้ระบุว่า กรณีโรงเรียนเอกชน เขาบอกได้ว่า คุณไม่ได้เข้ามาด้วยระบบโควต้าของโรงเรียนรัฐ ดังนั้น ถ้าคุณไม่พอใจ Culture หรือวัฒนธรรมของเรา คุณก็ไปสิ "คือเขาก็มีสิทธิ์พูดแบบนี้แหละ เขาไม่ได้ไล่ออกกลางคัน ถ้าผู้ปกครองพานักเรียนลาออก ก็ต้องลาออกตอนจบปีการศึกษา แล้วก็เตรียมหาโรงเรียนใหม่ นี่คือสิ่งที่เขาทำได้ โรงเรียนเอกชน ถ้าโรงเรียนเขาไม่ง้อ เรื่องค่าเล่าเรียนเขาก็ไม่ห่วงว่าลูกค้าเขาจะตก แต่ถ้าโรงเรียนยึดนโยบายแบบนี้ แล้วถ้าวันหนึ่งไม่มีคนมาสมัครเรียน เขาก็จะมีปัญหาเองนะ เพราะโรงเรียนก็มีความเสี่ยงของเขาอยู่ ถ้าคนลาออกไปเยอะๆ โรงเรียนก็ต้องปิด เพราะไม่มีคนมาเรียน ดังนั้น มันเป็นพื้นที่ของการต่อรองของสิทธิเสรีภาพของทั้งสองฝ่าย"ศ.ดร.ไชยันต์ระบุ
……
เหล่านี้คือความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้ ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากคำประกาศของโรงเรียนราชินี
โรงเรียนราชินีในอดีต ภาพจากเว็บไซต์โรงเรียนราชินี
@ ความเป็นมาของโรงเรียนราชินี
สำหรับประวัติความเป็นมาโดยสังเขปของ ร.ร.ราชินี (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ร.ร. ) ระบุว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินีเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2447 ณ ตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และถนนจักรเพชร ตำบลปากคลองตลาด ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ทรงจ้างครูมาจากประเทศญี่ปุ่น 3 คน ให้สอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปัก และการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ครูทั้งสามคนนี้อยู่ประจำโรงเรียน คนหนึ่งชื่อ มิสยาซูอิ เททสุ(YASUI TETSU) สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เป็นอาจารย์ใหญ่ และได้ทรงจ้างสตรีไทยมาเป็นครูสอนภาษาไทยและการตัดเย็บเสื้อผ้าอีกคนหนึ่ง
โรงเรียนราชินีในอดีต ภาพจากเว็บไซต์โรงเรียนราชินี
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในโรงเรียน ตลอดจนเงินเดือนครู
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงรับพระราชภารกิจแทนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พระยาสุรินทราชา - นกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และให้สอนวิชาภูมิศาสตร์ในชั้นใหญ่เพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่ง
ปีพุทธศักราช 2449 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนราชินีได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่สุนันทาลัยปีพุทธศักราช 2460 โรงเรียนได้เปิดชั้นมัธยมวิสามัญขึ้นสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาวาดเขียน มีครูชาวต่างประเทศ ที่สำเร็จวิชาเหล่านี้มาสอนร่วมกับครูไทย และในปีนี้โรงเรียนได้รับใบรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ
ปีพุทธศักราช 2472 สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้น ได้ย้ายชั้นมัธยมวิสามัญศึกษาจากโรงเรียนราชินีไปเรียนที่โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนราชินีจึงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 เป็นชั้นสูงสุด ต่อมาได้ตั้งแผนกวิสามัญการเรือนขึ้น ซึ่งได้ยุบเลิกไปในปีพุทธศักราช2486 และได้เริ่มเปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นในปีพุทธศักราช 2489
โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การดำเนินกิจการของโรงเรียน การสอน การวัดผลการศึกษา เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการทุกประการ
ปีพุทธศักราช 2550 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน ให้เปลี่ยนเรียกตำแหน่งครูใหญ่เป็นผู้อำนวยการ ทางโรงเรียนจึงกำหนดใช้คำว่าผู้อำนวยการ ในการติดต่องานกับทางราชการและบุคคลภายนอก ส่วนการบริหารภายในโรงเรียนยังคงใช้คำว่าครูใหญ่
โรงเรียนราชินีเป็นโรงเรียนแรกที่ได้จัดการเรียนการสอนวิชายุวกาชาดขึ้นและดำรงมาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่จะมีการสวมเครื่องแบบเมื่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน โรงเรียนราชินีมีการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 2 ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
ในระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษานั้นจะมีทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย
ทว่า นอกจากประวัติความเป็นมาอันยาวนานแล้ว ในกระแสสังคมที่เต็มไปด้วยการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โรงเรียนแห่งนี้จะดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสธารปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยท่าทีเช่นไร เป็นสิ่งที่สังคมย่อมให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากมีประกาศหรือหนังสือถึงผู้ปกครองนักเรียนกรณีห้ามการแสดงออกทางการเมืองแล้ว นับจากนี้ จะมีประกาศใดๆ จากทางโรงเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ออกมาอีกหรือไม่ หากยังมีนักเรียนในโรงเรียนยังยืนยันที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage