กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% หลังประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงหลายมิติ คาดใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ห่วงสภาพคล่องระบบการเงินโลกสูง-เงินดอลลาร์อ่อน กดดันค่าเงินบาท แนะรัฐฟื้นฟู-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-เพิ่มการจ้างงาน
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไทยและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้
ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน
คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาโน้มแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ สรอ. คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่พระเอกแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาต่ำมากเป็นประวัติการณ์แล้ว และต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ดังนั้น ปัจจัยที่ควรมุ่งเน้นจึงเป็นเรื่องการจ้างงาน การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ซึ่งต้องมีการประสานนโยบายทั้งมาตรการการคลัง นโยบายการเงินที่ต้องผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง นโยบายสินเชื่อ และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยนั้น จากข้อมูลล่าสุดเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากข้อมูลไตรมาส 2 ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้ครั้งที่แล้ว แต่ต้องรอดูว่าข้อมูลจีดีพีของสภาพัฒน์ที่จะแถลงกลางเดือนนี้จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัวหลังมีการผ่อนคลายมาตรการในประเทศ และเศรษฐกิจโลกมีกิจกรรมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ความเสี่ยงยังมีมาจากหลายๆมิติ
นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกนง.ยังได้หารือกันว่า หลังจากเกิดโควิด-19 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว มีการดำเนินนโยบายการเงิน และมีการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินโลกสูงมาก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์หลายตัว รวมถึงทองคำ มีระดับราคาที่สูงขึ้นมาก ขณะเดียวกัน สภาพคล่องในระบบการเงินที่สูงขึ้นมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นช่วงๆว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามากดดันค่าเงินบาทได้
“ด้วยสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่สูงมาก ทำให้เงินไหลเข้ามาในภูมิภาค โดยเข้ามาเป็นระลอกๆ แต่จะเข้ามาแต่ละประเทศมากน้อยต่างกันตามปัจจัยของแต่ละประเทศ อย่างเศรษฐกิจเอเชียตอนนี้ดูเหมือนจะดีว่าเศรษฐกิจลาตินอเมริกา เพราะยังมีโควิด-19 สูงอยู่ ดังนั้น เงินทุนอาจเลือกมาเอเชียมากกว่าละตินอเมริกา บางทีก็เข้ามาเกาะกองทุนอิงดัชนีฯ” นายทิตนันทิ์กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาไม่ดี และการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับตร้าเงินต่างๆ ทั้งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม และกลุ่มประเทศในเอเชีย ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนที่เศรษฐกิจไทยติดลบมาก
“คณะกรรมการฯ มีความเป็นห่วง และให้ติดตามดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในช่วงหลังของปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดแม้ว่าจะเกินดุลอยู่ แต่เกินดุลน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้น แรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะน้อยลง ซึ่งมีสาเหตุจากรายรับจากการท่องเที่ยว ดุลบริการแทบไม่มีเลย และราคาน้ำมันที่ลดลง” นายทิตนันทิ์กล่าว
นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่ กนง.เป็นห่วงเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น ว่า โดยรวมแล้วเสถียรภาพระบบการเงินยังดีอยู่ แต่มีความเปราะบางมากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ และกระทบต่อระบบสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม การที่สถาบันการเงินมีเงินกองทุนฯที่มั่นคง และมีการกันสำรองไว้สูงพอสมควร
“ก่อนโควิดหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูงอยู่แล้ว พอภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเจอผลกระทบจากโควิด ทำให้หลายจุดมีเปราะบาง ฉะนั้น จุดที่ต้องเข้ามาไปแก้ปัญหา โดยเฉพาะภาคครัวเรือน คือ ต้องดูแลเรื่องจ้างงาน ดุแลให้เขามีการพัฒนาทักษะ เพื่อให้เขาปรับตัวและไปได้ต่อ ส่วนผลกระทบจากการผิดนัดชำระมีมากเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะผลักดันเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกได้เท่าไหร่ ถ้าเราทำได้มาก ผลกระทบต่อสถาบันการเงินก็น้อยลง” นายทิตนันทิ์กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจก.ค.ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3-ธุรกิจห่วงโควิดระบาดระลอก 2
จีดีพีไตรมาส 2 ลบหนักสุด! ธปท.คาดหดตัว 13%-เบาใจศก.ฟื้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่แน่นอนสูง
จับจ่ายหด-ยังลดชม.ทำงาน! ธปท.เผยผลสำรวจธุรกิจเดือนก.ค. หลังคลายล็อกเฟส 5
ครม.ตั้ง ‘เศรษฐพุฒิ’ นั่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่-‘บิ๊กตู่’ ยันไม่ก้าวล่วงอำนาจธปท.
ธปท.พบนักวิเคราะห์! ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3-เชื่อโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/