ธปท.ประเมินจีดีพีไตรมาส 2/63 จะติดลบ 12-13% หดตัวมากสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังห่วงตลาดแรงงานต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกเป็นปี
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระหว่างการแถลงรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน มิ.ย.63 โดยระบุว่า ธปท.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 มีแนวโน้มว่าจะหดตัวลึกที่ระดับ 12-13% แต่ไม่น่าจะหดตัวเกิน 15% และถือเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจไทยที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ไตรมาส 2/41 ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัว 12.5%
“เดิมเรามองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 จะติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่จากข้อมูลล่าสุดดูเหมือนว่าจะดีกว่าที่เรามองไว้ แต่ต้องรอลุ้น โดยสภาพัฒน์ฯ จะประกาศตัวในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าว่าจะติดลบเท่าไหร่ แต่ ณ ตอนนี้ เรายังมองว่าติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักต้นๆ ซึ่งเมื่อเราเห็นตัวเลขจริงไตรมาส 2/63 แล้ว เราจะนำมาใช้ทำประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในเดือนก.ย. ถ้าตัวเลขดีกว่าคาดไว้ ก็เป็นไปได้ที่เราจะปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีให้หดตัวน้อยลง” นายดอนกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายดอน ระบุว่า สิ่งที่ธปท.กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเดือนส.ค.-ก.ย. จะเป็นช่วงเวลาตัดสิน เพราะในขณะที่หลายประเทศพยายามควบคุมการระบาด และหลีกเลี่ยงไม่กลับไปล็อกดาวน์อีก แต่หากการระบาดรุนแรงและต้องนำไปสู่การล็อกดาวน์ขนาดใหญ่อีกครั้ง เศรษฐกิจจะกระทบหนักทั้งไทยและต่างประเทศ เราคงต้องปรับลดจีดีพีให้หดตัวลงกว่าเดิมอีก
นายดอน กล่าวด้วยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มหดตัวน้อยลง แต่ในแง่ของการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลอย่าเพิ่งการ์ดตก เพราะหนทางข้างหน้ายังยาวไกล และความไม่แน่นอนยังมีสูง ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุอะไรก็ได้ ดังนั้น เงินที่รัฐบาลมีอยู่ต้องใช้ให้ถูกจุดและทันการณ์ และในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้าย รัฐบาลต้องพร้อมมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามา
นายดอน กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.63 ว่า ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่ ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่ในส่วนของตลาดแรงงาน จำนวนผู้ว่างงานยังเพิ่มสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
“เศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. แต่ยังเป็นการหดตัวในระดับสูง และเมื่อมองไปข้างหน้า เราคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวน้อยลงเรื่อยๆ แต่กว่ากลับมาเป็นปกติได้ เท่าที่เราประมาณการไว้จะต้องรอไปจนถึงปี 65 อย่างไรก็ตาม เราเห็นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ก็ทำให้สบายใจขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยไม่น่าจะลงต่อแล้ว แต่ในระยะข้างหน้ายังมีท้าทายพอสมควร” นายดอนกล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 24.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวลดลงที่ 18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับการหดตัว 29.0% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นตามการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า
“การส่งออกรวมเดือนมิ.ย. แย่กว่าเดือนที่แล้ว และเป็นภาพที่ทำให้หลายคนตกใจว่า ทำไมการส่งออกไทยยังหดตัวลึก แต่ถ้าแยกหมวดการส่งออกทองคำ ซึ่งเป็นตัวบิดเบือนการขยายตัวของการส่งออก จะเห็นการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำจากเดือนพ.ค.ที่ติดลบ 29% มาเดือนมิ.ย.การส่งออกติดลบ 18.4% หดตัวน้อยลง 10% ซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติก็ถือว่าแย่ แต่ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นกว่าก่อนหน้านี้” นายดอนกล่าว
อย่างไรก็ดี อัตราการหดตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง สะท้อนรายได้ของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ แต่เมื่อมองไปข้างหน้าการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีคำสั่งซื้อล่วงหน้า (PMI) ในต่างประเทศ และผลสำรวจคำสั่งซื้อสินค้าของผู้ส่งออก (BSI Export Order) ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ดีเท่ากับก่อนเกิดโควิด
ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวดเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ แต่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง สอดคล้องกับปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังคงอ่อนแอ
“ปัจจัยที่จะมาสนับสนุนกำลังซื้อภาคเอกชนยังอ่อนแอมาก ส่วนหนึ่งมาจากตลาดแรงงานที่เปราะบาง เมื่อมองไปข้างหน้าตลาดแรงงานต้องใช้เวลาฟื้นตัวเป็นปี หรืออาจยาวไปถึงปลายปีหน้า เพราะตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรง ขณะที่รายได้ของเกษตรกร แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังหดตัว 1.9% ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้จะกระเตื้องขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการบริโภคในระยะต่อไป” นายดอนกล่าว
ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น ทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ และการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 18.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน ส่วนหนี่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันของปีก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายประจำขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางเพื่อซ่อมบำรุงถนนเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่อง แม้จะติดลบน้อยลงจากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบเล็กน้อย สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ สำหรับตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์จากการขายสุทธิตราสารหนี้และการถอนเงินฝากในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และด้านหนี้สินจากการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้
“เงินทุนเคลื่อนย้ายยังไหลเข้าสุทธิ ซึ่งในด้านทรัพย์สิน นักลงทุนไทยมีการนำสินทรัพย์เข้าประเทศ เนื่องจากลดการถือครองตราสารและเงินฝากในต่างประเทศ ส่วนในด้านหนี้สิน พบว่าเดือนมิ.ย.เป็นเดือนแรกในรอบหลายเดือน ที่มีการเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไซส์ที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เงินบาทในเดือนก.ค.ไม่แข็งค่ามากนัก เพราะมีเหตุการณ์โควิดที่ระยอง และความไม่แน่นอนของทีมเศรษฐกิจ ส่วนตลาดตราสารทุนยังเป็นลบอยู่” นายดอนกล่าว
อ่านประกอบ :
จับจ่ายหด-ยังลดชม.ทำงาน! ธปท.เผยผลสำรวจธุรกิจเดือนก.ค. หลังคลายล็อกเฟส 5
ครม.ตั้ง ‘เศรษฐพุฒิ’ นั่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่-‘บิ๊กตู่’ ยันไม่ก้าวล่วงอำนาจธปท.
ธปท.พบนักวิเคราะห์! ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3-เชื่อโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/