'วิรไท' ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาส 3 เชื่อโรคโควิด-19 ไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย พร้อมชู 5 แนวทางรับมือวิกฤติ เตรียมดึง 'บสย.' เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน ด้าน ‘เมธี’ ระบุ 'กนง.' สั่งศึกษาผลกระทบหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำลงกว่านี้ แต่มองนโยบายดอกเบี้ย 0% เป็นไปได้ยาก
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนานักวิเคราะห์ (Analyst meeting) โดยระบุว่า แม้ว่าล่าสุด ธปท. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นติดลบ 8.1% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และหากควบคุมไม่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยได้ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคลี่คลาย และค่อยๆฟื้นตัวกลับมา
“ลักษณะของโรคระบาด จะกลับมาได้เป็นระยะๆ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของเราจะสามารถควบคุมการระบาดได้ ทำให้การออกมาตรการแรงๆและเป็นระยะเวลานานๆ อาจไม่จำเป็น ส่วนคนไทย ธุรกิจไทยเอง ก็เรียนรู้เรื่องการปรับตัว และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก ดังนั้น เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจคลี่คลาย ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยไตรมาส 2 ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว” นายวิรไทกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิรไท ระบุว่า หากเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในประเทศไทยอีก ธปท.มีเครื่องมือที่พร้อมใช้สำหรับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทีมงานของธปท.กำลังพิจารณา และมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้แต่ละกลุ่มเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
@‘วิรไท’ เผย 5 แนวทางรับมือวิฤตโควิด
นายวิรไท กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการวิกฤตการณ์โควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ไว้เป็น 5 ประเด็น ได้แก่ 1.วิกฤติที่เกิดขึ้นในรอบนี้มีผลกระทบกว้างไกลมาก และไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่งที่จะสามารถจัดการกับวิกฤติรอบนี้ได้ ดังนั้น การประสานนโยบายต่างๆจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น นโยบายด้านสินเชื่อ และนโยบายด้านอุปทาน เป็นต้น
“นโยบายการคลังจะเป็นพระเอกในช่วงแรก เพราะวิกฤติรอบนี้ ทำให้คนขาดรายได้ กิจกรรมเศรษฐกิจชะงักงัน จึงต้องเติมรายได้ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของนโยบายการคลัง ส่วนนโยบายเงิน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน จะเป็นนโยบายที่ช่วยเสริมเพื่อทำให้เกิดการปรับตัว ไม่ให้เกิดการสะดุดหยุดลง ดังนั้น การจัดการกับวิกฤติรอบนี้จึงเรื่องของการประสานนโยบาย และจัดลำดับความสำคัญของนโยบายให้เหมาะสม” นายวิรไทกล่าว
2.ในด้านการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ต้องทำให้กลไกของระบบการเงินและตลาดการเงินที่สำคัญๆทำงานและหน้าที่ต่อไปได้ ที่สำคัญเราต้องรักษาความเข้มแข็งระบบสถาบันการเงินเอาไว้ต่อไป และจะเห็นได้ว่า ธปท. ให้ความสำคัญกับการทำนโยบายล่วงหน้า โดยไม่รอให้เกิดปัญหาจนกระทบเป็นลูกโซ่ แล้วค่อยไปตามจัดการปัญหาทีหลัง ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงมากกับทุกฝ่าย ทั้งสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้ออม และต้นทุนของภาครัฐ
“เราเข้าสู่วิกฤติรอบนี้ด้วยระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในเรื่องของเงินกองทุนฯ และสภาพคล่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้ามารับหน้าที่ในการช่วยดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้ แต่ในการให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ที่นั้น จะต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบย้อนกลับไปที่สถาบันการเงิน และทำให้ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเมื่อเราเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจต้องฟื้นตัว” นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท ย้ำว่า มาตรการหลายอย่างที่ธปท.ทำมาในช่วงที่ผ่านมานั้น จะเน้นลักษะการทำล่วงหน้า เพื่อรักษาให้ระบบสถาบันการเงินเข้มแข็ง และทำให้ตลาดการเงินสามารถทำหน้าที่ได้ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะการทำนโยบายเชิงป้องกันในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ระบบการเงินว่า มีกลไกในการรองรับเวลาที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด หรืออาจมีการระบาดเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา
“หากสร้างความมั่นใจให้ตลาดการเงินได้ จะทำให้ตลาดการเงินทำหน้าที่ของตัวเองได้ และช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงได้ ซึ่งธปท.ได้ดำเนินการหลายๆมาตรการ เช่น การตั้งกองทุน Mutual Fund Liquidity Facility (MFLF) การจัดตั้งกองทุน Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 BSF ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดการเงินและระบบการเงินได้” นายวิรไทกล่าว
3.แม้ว่าธปท.จะประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 8.1% แต่ธปท.เชื่อว่าเราได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และหากเราช่วยกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยอีก กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะคลี่คลายและค่อยๆฟื้นตัวกลับมาได้ ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วว่าในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ต่อช่วงต้นไตรมาสที่ 3 กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแล้ว ดังนั้น เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หากเรายังรักษาไม่ให้มีการระบาดเกิดขึ้นอีก
4.เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว น้ำหนักของนโยบายเศรษฐกิจต้องปรับจากการเยียวยาไปสู่การฟื้นฟู ซึ่งในช่วงนี้การเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงยังต้องมีอยู่ แต่การให้น้ำหนักจะต้องมาอยู่ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะโลกใหม่หลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม โดยเราต้องปรับเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร เช่น ทุน แรงงาน จากภาคเศรษฐกิจที่กำลังการผลิตส่วนเกิน ปรับไปสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด พร้อมๆกับการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก
“การจ้างงานเป็นหัวใจที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมา ทำให้กำลังซื้อกลับมา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการด้านอุปทาน ควรให้น้ำหนักไปที่การจ้างงาน การรีสกิล ทำให้คนที่ตกงานหรือคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ก้าวไปสู่โลกเศรษฐกิจหลังโควิดได้ ทั้งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ และเศรษฐกิจภาคชนบท เพราะจะมีแรงงานที่กลับไปในภาคชนบทและไม่สามารถกลับไปทำงานในเมืองใหญ่ได้ โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีกำลังผลิตส่วนเกินมาก” นายวิรไทกล่าว
5.ไทยยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงในตลาดการเงินต่อเนื่องไปอีกระยะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระบบการเงินโลกสูงมาก เพราะธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลักได้ออกนโยบายเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของตลาดการเงิน และมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างเร็ว จึงทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่าตลาดการเงินและสภาพเศรษฐกิจจริง เริ่มมีลักษณะ ‘Divergent (แตกต่าง)’ มากขึ้น เพราะในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงยังมีปัจจัยพื้นฐานที่หดตัวทั่วโลก และมีความน่ากังวล แต่ในแง่ของตลาดการเงิน จะเห็นว่าราคาสินทรัพย์หลายๆตัวที่ปรับตัวสูงขึ้นในระดับสูง และราคาสินทรัพย์เหล่านี้จะลดลงได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น การระบาดที่กลับมารุนแรงในบางประเทศ
นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการและนักลงทุน ต้องให้ความสำคัญกับการระมัดระวังในเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน
@หนุนสถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี
นายวิรไท กล่าวถึงมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนต.ค.นี้ ว่า ธปท.ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในการดูแลเอสเอ็มอี และสถาบันการเงินเองได้เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด อย่างไรก็ดี มาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เอสเอ็มอีในระยะต่อไปนั้น จะไม่มีการประกาศเป็นการทั่วไปแล้ว เพราะอาจสร้างผลข้างเคียงได้ และมีลูกหนี้จำนวนมากมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อยู่
“ทุกคนจะตกหน้าผากันหมดหรือไม่เมื่อหมดมาตรการ ผมคิดว่าไม่ เพราะสถาบันการเงินที่เราพูดคุยกันต่อเนื่อง เรียกว่าคุยกับรายอาทิตย์เลย โดยมีการตามลูกหนี้กลุ่มต่างๆอย่างไรบ้าง และมีการดำเนินมาตรการในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งสถาบันการเงินเองก็ไม่ต้องการให้เกิดสภาวะเอ็นพีแอลกระโดดขึ้นสูงเหมือนกัน หรือลูกหนี้มีภาระหนี้ที่กระโดดขึ้นไปเร็ว” นายวิรไทกล่าว
ส่วนแนวโน้มอัตราว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 สวนทางกับเศรษฐกิจที่ถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 นั้น นายวิรไท กล่าวว่า เรื่องการว่างงาน เป็นเรื่องที่ธปท.เป็นห่วงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะขณะนี้มีหลายภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการจะยังไม่กลับมา ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ยังมีการผลิตส่วนเกินอยู่ และจะไม่กลับมาเท่าเดิม รวมทั้งผู้ประกอบการจะใช้ระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น
“การส่งเสริมให้การเกิดการสร้างงานจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ และไม่ใช่แค่ปัญหาช่วงสั้นๆเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะคนที่จบใหม่ในปีนี้ จะเข้าสู่ตลาดแรงงานค่อนข้างยาก และหากเขาว่างงาน ไม่ได้ทำอะไร 1-2 ปี ก็จะมีผลกระทบในระยะยาว จึงต้องมีการสร้างตลาดแรงงาน ไปพร้อมๆกับการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการแรงงานสมัยใหม่” นายวิรไทกล่าว
@จ่อดึงบสย.ค้ำประกันซอฟท์โลนธปท.
นายวิรไท กล่าวถึงการปล่อยเงินกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาทของธปท.ว่า ในช่วงการเยียวยาผลกระทบโควิดนั้น ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินปล่อยซอฟท์โลนไปแล้ว 1.03 แสนล้านบาท ส่วนซอฟท์โลนที่ยังเหลืออยู่อีกเกือบ 4 แสนล้านบาท จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเงินให้กับภาคธุรกิจ ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการทยอยเปิดประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งธปท. ธนาคารออมสิน ร่วมกับสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบแล้ว 2.4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้เงินซอฟท์โลนให้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินได้มีข้อเสนอแนะมายังธปท.หลายวิธี เช่น การให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามามีส่วนร่วมในการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเรื่องนี้ธปท.จะต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังก่อน และภายใต้พ.ร.ก.ซอฟท์โลนก็ได้กำหนดเรื่องนี้เอาไว้ด้วย
ส่วนการสนับสนุนสภาพคล่องให้ธุรกิจผ่านกองทุน BSF ซึ่งมีวงเงิน 4 แสนล้านบาท นั้น ล่าสุดยังไม่มีเอกชนรายใดขอใช้เงินจากกองทุนนี้เลย เนื่องจากเอกชนสามารถระดมทุนได้ในตลาดเงิน หรือขอกู้เงินแบงก์ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของธปท.ที่บอกว่า เราต้องการเป็นแหล่งเงินแหล่งสุดท้ายที่จะมาช่วยเติมเต็มในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง แต่หากมีคนมาขอใช้เงินจากกองทุนนี้ เราจะเปิดเผยรายชื่อและวงเงินที่ได้รับ ผ่านเว็บไซต์เช่นเดียวกับการขอซอฟท์โลน
@ ‘เมธี’ เผยกนง.สั่งศึกษาผลกระทบหากดอกเบี้ยนโยบายต่ำลงอีก
ขณะที่นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ตอบคำถามนักวิเคราะห์เกี่ยวกับโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0% ว่า ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0% คงเกิดขึ้นได้ยาก และการลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการส่งผ่านที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กนง. มอบหมายให้ธปท.ไปศึกษาว่า หากอัตราดอกเบี้ยต่ำลงไปกว่านี้จะมีผลอย่างไรต่อระบบสถาบันการเงิน ผู้ออม และระบบเศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไร
ส่วนแนวโน้มที่ธปท.จะนำเครื่องมือ yield curve control หรือการกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาว มาใช้หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ธปท.ก็มีการศึกษา รวมทั้งศึกษาเครื่องมือต่างๆ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ธปท.ต้องมีเครื่องมือครบถ้วน
สำหรับคำถามที่ว่าธปท.จะมีการใช้มาตราการคิวอีหรือไม่ นายเมธี กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบการเงินเป็นจำนวนมาก แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ธปท.ก็เพียงแต่ดูดซับสภาพคล่องให้น้อยเท่านั้น
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าทำคิวอีแล้วเศรษฐกิจจะฟื้น คือ ตอนนี้ในตลาดการเงิน หรือในแบงก์เอง เขาก็บ่นว่า เงินไหลเข้ามาเยอะ และสินเชื่อที่ออกไปก็มีไม่เท่าไหร่ ซึ่งสภาพคล่องที่มันท่วม ถ้าเราเอาไปปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าปล่อยสภาพคล่องไป แล้วเงินก็ไปกองอยู่ในตลาดการเงิน พวกที่มีสภาพคล่องก็เอาเงินมาลงทุนกับแบงก์ชาติ เราจึงจำเป็นต้องทำให้สภาพคล่องเหมาะสม” นายเมธีกล่าว
นายเมธี ยังกล่าวด้วยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับผู้ค้าทอง ธนาคาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงเกี่ยวกับการวางระบบการซื้อขายและส่งออกทองคำให้อยู่รูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไม่ให้รายได้จากการส่งออกทองคำ ไปสร้างแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนของไทย
@ห่วงโควิดระลอก 2 ฉุดเศรษฐกิจฟื้นช้ากว่าที่คาด
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า แม้ว่าไตรมาสที่ 2 น่าจะถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้เรายังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายเรื่อง เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะเดิมเราคาดว่าเศรษฐกิจโลกได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดได้ หากมีการระบาดระลอก 2 ซึ่งทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีก
ส่วนในเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินนั้น หากมีการผิดนัดชำระหนี้ขนาดใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ก็ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจโลกได้
“ถ้ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า ที่เราเห็นว่าเศรษฐกิจโลกไตรมาส 2 ต่ำสุดแล้วนั้น อาจจะยังไม่ถึงจุดต่ำสุดก็ได้” นายดอนกล่าว
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ในปีนี้ กนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง และจะเห็นได้ว่า กนง.ดำเนินนโยบายเชิงรุกในการดูแลผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กนง.มองว่าเศรษฐกิจโลกและไทยยังมีความเสี่ยงสูง จึงจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการจัดการกับกำลังผลิจส่วนเกิน เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%
เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3! ไทยว่างงาน 7 ล้านคน หลังโควิด จีนประเทศเดียวฉุด ศก.ไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/