เผยมติที่ประชุม ก.พ.อ. สั่งขยายเวลาบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์ตั้ง 'ผศ.-รศ.-ศ.' ใหม่ออกไป 2 ปี หลังโดนกระแสคัดค้าน พร้อมให้ฝ่ายอนุฯ วิชาการสร้างความเข้าใจรับฟังข้อท้วงติง-เสนอแนะให้กว้างขวางขึ้นเพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมก่อนด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีเกิดการคัดค้านประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ค้ารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบให้คณาจารย์ที่เตรียมตัวยื่นขอตําแหน่งทางวิชาการในเกณฑ์เดิมได้รับความเดือดร้อน ว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ ก.พ.อ. เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ค้ารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยในระหว่างนี้หากอาจารย์รายใด จะส่งผลงานวิชาการสามารถเลือกส่งได้ทั้งตามหลักเกณฑ์ ปี 60 หรือ ปี 63
นอกจากนี้ที่ประชุม ก.พ.อ.ยังเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการวิชาการสื่อสารสร้างความเข้าใจและรับฟังข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะให้กว้างขวางเพื่อการปรับปรุงประกาศ ก.พ.อ. ฉบับดังกล่าวต่อไปด้วย
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ เกศนี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ทำหนังสือถึง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อคัดค้านประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ค้ารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดจากประกาศ ก.พ.อ. ฉบับดังกล่าว 5 ประการ อาทิ ประกาศ ก.พ.อ. ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ไม่มีบทเฉพาะกาลที่กําหนดระยะเวลาให้คณาจารย์สามารถเตรียมตัวจัดทําผลงาน และวางแผนในการยื่นขอตําแหน่งทาง วิชาการ จึงเกิดผลกระทบให้คณาจารย์ที่เตรียมตัวยื่นขอตําแหน่งทางวิชาการในเกณฑ์เดิมได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ การกําหนดหลักเกณฑ์จำนวน และระดับคุณภาพของผลงานทางวิชาการในการขอตําแหน่งทางวิชาการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยการเพิ่มจํานวนและระดับคุณภาพผลงานมากกว่าเดิมนั้น ทําให้ลดแรงจูงในการยื่นเสนอขอตําแหน่งทางวิชาการและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคณาจารย์ให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการโดยเฉพาะในระดับรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์
นอกจากนี้ อธิการบดีมธ. ยังได้เสนอข้อเสนอเร่งด่วนที่สุด เห็นควรชะลอการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว โดยให้แก้ไข บทเฉพาะกาล ขยายระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้คณาจารย์ได้มีโอกาสตรียมตัว และวางแผนในการยื่นขอตําแหน่ง ทางวิชาการได้ และเห็นควรตั้งคณะทํางานซึ่งเป็นตัวแทนจากคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อพิจารณายกร่างหรือปรับปรุงจากประกาศ ก.พ.อ. พ.ศ. 2560 ฉบับเดิม ที่ใช้อยู่ เป็นหลัก โดยให้คณาจารย์ได้รับรู้โดยทั่วกัน และได้รับการยอมรับจากคณาจารย์ก่อนบังคับใช้จริงโดยทั่วกันต่อไปด้วย
(อ่านประกอบ : ขอชะลอบังคับใช้ 3 ปี ให้เตรียมตัว! มธ. ยื่น 'สุวิทย์' ค้านหลักเกณฑ์ตั้ง 'ผศ.-รศ.-ศ.' ใหม่)
อ่านประกอบ :
แพร่หลักเกณฑ์ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ฉบับใหม่
ชำแหละหลักเกณฑ์แต่งตั้ง ผศ.-รศ.-ศ.ฉบับใหม่พัฒนาหรือทำลายคุณภาพวิชาการ?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage