"...จากหลักเกณฑ์ที่ประกาศไม่ได้ช่วยให้คณาจารย์ผลิตผลงานวิชาการเป็นไปอย่างที่คาดหวังได้แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามจะทำให้คนมีความรู้ความสามารถไม่อยากสมัครมาเป็นอาจารย์และที่เป็นอาจารย์อยู่อยากออกไปทำอาชีพอื่นมากกว่า เพราะเสียกำลังใจไม่เห็นโอกาสในความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างสิ้นเชิง เพราะหลักเกณฑ์ที่ประกาศไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการพัฒนาอาจารย์ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันสูงมากตามศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในบริบททั้งกายภาพและวิชาการอีกด้วย..."
หมายเหตุ-รศ ธีระ สินเดชารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนบทความเรื่อง “ข้อสรุปความแตกต่างระหว่างประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผศ. รศ. และ ศ. ปี 2563 กับประกาศฯ เดิม ปี 2560 โดยวิเคราะห์ผลดีผลเสียของประกาศทั้งสองฉบับ (อ่านประกอบ : แพร่หลักเกณฑ์ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ฉบับใหม่)
1) ประกาศใหม่นี้เขียนเหตุผลที่มาเพื่อให้เป็นช่องทางในการพัฒนาคุณภาพวิชาการและนวัตกรรมของประเทศ แก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน ตลอดจนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่นานาชาติและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (หน้า 20, ความนำ ย่อหน้าที่ 1 บรรทัดที่ 1-5)
ปัญหา: จากหลักเกณฑ์ที่ประกาศไม่ได้ช่วยให้คณาจารย์ผลิตผลงานวิชาการเป็นไปอย่างที่คาดหวังได้แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามจะทำให้คนมีความรู้ความสามารถไม่อยากสมัครมาเป็นอาจารย์และที่เป็นอาจารย์อยู่อยากออกไปทำอาชีพอื่นมากกว่า เพราะเสียกำลังใจไม่เห็นโอกาสในความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างสิ้นเชิง เพราะหลักเกณฑ์ที่ประกาศไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการพัฒนาอาจารย์ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันสูงมากตามศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในบริบททั้งกายภาพและวิชาการอีกด้วย
ข้อเสนอ: ยกเลิกประกาศ ปี 2563 ดังกล่าว กลับไปใช้ประกาศเดิม ปี 2560 หรือก่อนหน้านั้น
2) ประกาศใหม่นี้เขียนไว้ชัดว่า "สภาสถาบันอุดมศึกษาอาจกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพันธกิจและนโบายการพัฒนาอาจารย์ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาได้ ***แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่ ก.พ.อ. กำหนด***" (หน้า 20, ความนำ ย่อหน้าที่ 2 บรรทัดที่ 5-8)
ปัญหา: เกิดคำถามใหญ่ที่หลายคนหลายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ/อยู่ในกำกับซึ่งมี พ.ร.บ. ของตนเองจะต้องปฎิบัติตามประกาศ ก.พ.อ เช่นนี้หรือไม่???
จะมีปัญหาไหมหากข้อบังคับหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยไม่ได้สูงมากตามประกาศ ก.พ.อ .ใหม่นี้ และอีกคำถามสำคัญ เมื่อสภาฯ เห็นควรแต่งตั้งให้เป็น ศ. ต้องผ่าน ก.พ.อ. กลั่นกรองก่อนเสนอ รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้า ก.พ.อ. จะไม่ผ่านเรื่องเพราะหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ต่ำกว่าประกาศของ ก.พ.อ. หรือไม่ อย่างไร???
ข้อเสนอ: แก้ไขในประกาศ เขียนให้ชัดเจนว่า ประกาศ ก.พ.อ. ไม่ได้มีผลบังคับใช้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับ จะมีผลบังคับโดยตรงเฉพาะกับมหาวิทยาลัยส่วนราชการ ราชมงคล ราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น
3) ประกาศใหม่มีผลบังคับใช้ทันทีนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศในราชกิจจาฯ (หน้า 20, ข้อ 2)
ปัญหา: ไม่มีระยะเวลาให้คณาจารย์ที่วางแผนการขอตำแหน่งฯ ได้ตั้งตัวและเตรียมผลงาน เพราะบทเฉพาะกาลที่มีอนุโลมให้เฉพาะผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเท่านั้น
ข้อเสนอ: หากจะบังคับใช้จริง ต้องให้เวลาวางแผนและจัดทำผลงานอย่างน้อย 3 ปี ออกเป็นบทเฉพาะกาลเพิ่มเติมย้อนหลังถึงวันที่ประกาศนี้บังคับใช้ แต่ควรยกเลิกมากกว่า
4) ประกาศใหม่นี้ให้ผู้ขอแสดงเอกสารหลักฐานที่ใช้ประเมินผลการสอนที่ผลิตขึ้นตามภาระงานสอน (หน้า 22, ย่อหน้าที่ 2 บรรทัดที่ 3-5) เพื่อให้ ก.พ.ว ประเมินผลการสอน (หน้า 31, ข้อ 6.1.2 และ หน้า 47, ข้อ 2) โดยมีตัวอย่างเอกสารหลักฐานใน 2 รูปแบบ (หน้า 47-48) ซึ่งดูราวกับว่า เอกสารประกอบการสอนและเอกสารคำสอนจะต้องมียื่นมาประกอบการพิจารณาทั้งที่เดิมยกเลิกไปแล้ว
ปัญหา: ก.พ.ว. จะพิจารณาผลการสอนของผู้ขอฯ อย่างไร ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด เป็นแต่เพียงแนวปฏิบัติที่มีให้กับต้นสังกัดของผู้ขอฯ แบบฟอร์มไม่ปรากฎให้ ก.พ.ว. ให้ความเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบต่อผลประเมินการสอนจากต้นสังกัด และรูปแบบเอกสารหลักฐาน ผู้ขอฯ ต้องมีภาระมากขึ้นในการจัดทำเพื่อใช้ขอ ผศ. และ รศ. และไม่สามารถนำมาใช้ประกอบเป็นผลงานอย่างหนึ่งอย่างใดในการขอกำหนดตำแหน่งฯ ได้เลย
ข้อเสนอ: ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ต้องให้ ก.พ.ว. พิจารณาผลประเมินการสอน และยกเลิกการแสดงเอกสารหลักฐานการประเมินผลการสอน ให้ต้นสังกัดพิจารณาผลประเมินการสอนตามธรรมชาติและบริบทการเรียนการสอนของแต่ละต้นสังกัดด้วยตัวเอง
5) ประกาศใหม่นี้เปลี่ยนระดับและเกณฑ์การประเมินคุณภาพของผลงานจากเดิมที่มี 3 ระดับ (ดี/ดีมาก/ดีเด่น) เป็น 4 ระดับ (B/B+/A/A+ หรือเทียบได้กับ ดี/ดีมาก/ดีเด่น/ดีเลิศ) (หน้า 21-30, ข้อ 5 และคำอธิบายเกณฑ์ในแต่ละระดับตั้งแต่หน้า 51 เป็นต้นไป)
ปัญหา: ระดับที่เพิ่มขึ้นและเกณฑ์ในการประเมินได้เพิ่มระดับความยากในการประเมินเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ตำแหน่งวิชาการแต่เดิม เช่น รศ. แต่เดิม วิธีที่ 1 (ยื่นผลงาน 2 ประเภท) ผ่านระดับ "ดี" แต่เกณฑ์ใหม่ต้องได้ "B+/ดีมาก" แต่เดิม วิธีที่ 2 (ยื่นผลงานประเภทเดียว) ผ่านระดับ "ดีมาก" แต่เกณฑ์ใหม่ต้องได้ "A/ดีเด่น" อย่างน้อย 2 ใน 3 เรื่อง และ ศ แต่เดิม วิธีที่ 1 (ยื่นผลงาน 2 ประเภท) ผ่านระดับ "ดีมาก" เกณฑ์ใหม่ต้องได้ "A/ดีเด่น" แต่เดิม วิธีที่ 2 (ยื่นผลงานประเภทเดียว) ผ่านเกณฑ์ "ดีเด่น" แต่เกณฑ์ใหม่ต้องได้ "A+/ดีเลิศ" อย่างน้อย 2 ใน 5 เรื่อง วิธีพิเศษก็เพิ่มระดับขึ้นไปเช่นกัน ตั้งแต่ตำแหน่ง รศ. ถึง ศ.
ข้อเสนอ: ให้ใช้ระดับและเกณฑ์แบบเดิม
6) ประกาศใหม่นี้ระบุให้ผู้ขอฯ ตำแหน่งฯ รศ. งานวิจัยต้องเผยแพร่ใน tci1 อย่างน้อย ขณะที่ ศ งานวิจัยต้องนานาชาติเท่านั้น เปรียบเทียบกับประกาศเกณฑ์เดิม เฉพาะ ศ. เท่านั้นที่มีการกำหนดให้เป็นนานาชาติ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์อนุโลม tci1 (หน้า 24 ย่อหน้าที่ 2 และ 4, หน้า 26-29 ข้อ 5.3)
ปัญหา: ผลประเมินรอบ 4 ของ tci มีวารสารที่อยู่ tier 1 ไม่ถึง 150 วารสารทั้งประเทศ พื้นที่ในทางวิชาการที่จะเผยแพร่ผ่านเกณฑ์ที่ยังมีข้อคำถามและสงสัยมากมายของ tci ได้เพิ่มโอกาสในการผลิตผลงานเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะตรงไหน? ยิ่งในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ข้อจำกัดในบางสาขาวิชาที่ต้องตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับนับถือ เช่น ภาษาไทย ศิลปกรรม วรรณคดี จะหาพื้นที่ได้ที่ไหนในการขอกำหนดตำแหน่งฯ ศ
ข้อเสนอ: กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมยังมีความเหมาะสมกว่า
7) ในประกาศนี้ได้เพิ่มจำนวนชิ้นงานสำหรับการขอกำหนดตำแหน่ง ศ. ของสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เปรียบเทียบกับเกณฑ์เดิม ศ วิธีที่ 1 ใช้งานวิจัย 2 ชิ้น และ ตำรา/หนังสือ 2 เล่ม แต่เกณฑ์ใหม่ต้องใช้ งานวิจัย 3 ชิ้น และ ตำรา/หนังสือ 2 เล่ม (หน้า 28 วิธีที่ 1)
ปัญหา: เกณฑ์เดิมเพิ่งใช้มาได้ 1 ปีกับอีกไม่ถึง 8 เดือน เพิ่มจำนวนชิ้นงานเช่นนี้มีวัตถุประสงค์ใดหากมิใช่เป็นการเพิ่มภาระการต้องทำผลงานเพิ่มของผู้ขอโดยไม่จำเป็น
ข้อเสนอ: ใช้เกณฑ์เดิม
8) ประกาศใหม่นี้มีการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมในผลงานทุกประเภทโดยตัดการแสดงส่วนร่วมในผลงานที่เดิมให้ระบุเป็น "ร้อยละ" ออกไป แต่ให้ใช้ดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินตามสถานะของผู้ขอฯ ที่มีในผลงานนั้น ๆ แทน (หน้า 21-30, ข้อ 5 คำอธิบายสถานะการมีส่วนร่วมฯ หน้า 41-42 และแบบฟอร์มฯ หน้า 43-44) โดยแบ่งออกเป็น 3 สถานะ ได้แก่ ชื่อแรก (first author) มีส่วนสำคัญ (contributor) และคนหลัก (corresponding author)
ปัญหา: เดิมบังคับเฉพาะงานวิจัยที่ต้องเป็นชื่อแรกหรือไม่ก็เป็นคนหลัก แต่ประกาศใหม่นี้บังคับไปถึงผลงานวิชาการลักษณะอื่นทุกประเภท ผลงานรับใช้สังคม ตำรา/หนังสือ จะต้องมีชื่อแรกอย่างน้อยกี่ชิ้นงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มข้อจำกัดในการนำผลงานมาใช้ขอกำหนดตำแหน่งวิชาการโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนในประกาศด้านหน้าเขียนให้ใช้เฉพาะชื่อแรก แต่ประกาศแนบท้ายให้ใช้ผลงานที่ผู้ขอมีส่วนสำคัญร่วมด้วยได้ ตกลงใช้ได้หรือไม่ อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่อาศัยดุลยพินิจประกอบกับอัตวิสัยของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันนั้น ในการพิจารณาโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมและกลางได้อย่างไร
ข้อเสนอ: ยกเลิกชื่อแรก/ชื่อร่วม/ชื่อหลักในผลงานที่ผู้ขอฯ ยื่นเข้่ามา กลับมาใช้สัดส่วนแทน และให้พิจารณาผลงานหลายชิ้นประกอบที่เกี่ยวเนื่องกัน นับรวมชิ้นผลงานต่าง ๆ เหล่านั้นแล้วพิจารณาในภาพรวมโดยกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมในการพิจารณาตามระดับตำแหน่งวิชาการที่ขอกำหนดมา เช่น ผศ. และ รศ. รวมกัน 50% นับ 1 ชิ้น ศ ต้องไม่น้อยกว่า 50% ทุกชิ้น เป็นต้น จะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ร่วมกันและก่อให้เกิดสังคมวิชาการที่ร่วมกันผลิตผลงานที่ตรงตามเจตนารมณ์ของสถาบันอุดมศึกษา
9) ประกาศใหม่นี้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ผลงานทุกประเภทจะต้องเป็นผลงานหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวิชาการเดิม..." ทั้งนี้ อนุโลมให้ใช้ผลงานเก่าได้แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี และยื่นได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของงานทั้งหมดที่ยื่นมาและต้องผ่านเกณฑ์ด้วยผลงานใหม่ไม่น้อยกว่า 2 เรื่อง ทั้ง รศ และ ศ (หน้า 25 ย่อหน้าที่ 3-4 และหน้า 29 ย่อหน้าที่ 4-5)
ปัญหา: เป็นการจำกัดสิทธิ์ของผู้ขอฯ การพิจารณาควรให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณามากกว่า การตัดสิทธิ์การยื่นผลงานของผู้ขอฯ เช่นนี้ นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่า การอนุโลมที่ว่าเป็นเฉพาะกรณีสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์หรือไม่? และเฉพาะการขอวิธีที่ 2 เท่านั้นหรือไม่? อย่างไร ในประกาศไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน
ข้อเสนอ: เป็นสิทธิ์ของผู้ขอฯ และเป็นการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ จึงควรยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว
10) ประกาศใหม่นี้ได้เพิ่มวิธีพิจารณาแต่งตั้งในตำแหน่ง รศ และ ศ วิธีที่ 3 ซึ่งไม่ต้องตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (readers) ในการพิจารณา หากผู้ขอฯ มีผลงานที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ งานวิจัยเผยแพร่ใน scopus, citation, h-index และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยได้รับทุนภายนอก สำหรับ รศ และ ศ ซึ่งมีจำนวนชิ้น/ครั้ง/ค่าคะแนน/โครงการต่างกันออกไปตามสาขาที่แบ่งแยกไว้ (วิทย์ฯกับสังคมฯ) ในบางสาขาวิชาเท่านั้น (หน้า 25-26 และ 29-30, วิธีที่ 3)
ปัญหา: แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการเปิดทางเลือกที่ไม่เป็นจริงเช่นนี้ให้กับผู้ขอฯ ด้วยจำนวนชิ้น/รายการ/ครั้ง/โครงการไม่น้อยกว่า ใน scopus 5/10 ชิ้น, ได้รับการอ้างอิง 150/200/500/1,000 รายการ, h-index = 4/8/15 และเป็นหัวหน้าโครงการรับทุนภายนอก 5/10 โครงการตามแต่ตำแหน่งและสาขาที่ยื่นขอ
นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า ทำไมต้องกำหนดเป็น scopus/h-index อย่างเดียว และการรับทุนภายนอกโดยกำหนดว่าต้องเป็นหัวหน้าโครงการเท่านั้นจะได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยอื่นให้มาร่วมงานได้อย่างไร?
ข้อเสนอ: โดยแนวคิดที่ไม่มี readers ประเมินน่าจะดี แต่หลักเกณฑ์ที่กำหนดไม่สมเหตุสมผลและเป็นไปได้ยากมาก ยิ่งสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ไม่ใช่สาขาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ยิ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน จำเป็นต้องทบทวน นอกจากนี้ ควรพิจารณากำหนดวิธีเช่นนี้กับตำแหน่ง ผศ ด้วย
11) ประกาศใหม่นี้ระบุจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (readers) ในการแต่งตั้งได้ 3-5 คน จากแต่เดิมระบุไว้เพียง 3 คนสำหรับวิธีปกติและ 5 คนสำหรับวิธีพิเศษ (หน้า 31, ข้อ 6.1.3 (2)) และระบุไว้ชัดเจนว่า "...จะต้องไม่ใช่บุคลากรและไม่เคยเป็นบุคลากรในสังกัดสถาบันฯ นั้น..." ความหมายคือ อาจารย์เกษียณเป็น reader ไม่ได้ เว้นแต่มีความจำเป็นต้องตั้งให้ตั้งได้ไม่เกิน 1 คน (หน้า 31, ย่อหน้า 4 และ 6)
ปัญหา: ระบุจำนวนไว้เป็นช่วงเช่นนี้ หากประธานสาขา (คณะกรรมการ ก.พ.ว.) พิจารณาเห็นควรมี 4 คนแล้วผลผ่านไม่ผ่านอย่างละครึ่ง จะสรุปอย่างไร หรือให้มี 5 คน การติดต่อทาบทาม การอ่านพิจารณา ขอผลประเมินคืน และนัดหมายประชุมจะยิ่งมีความล่าช้าแม้จะมีความจำเป็นต้องตั้งมากกว่า 3 ก็ตาม แต่ 3 คนน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับวิธีปกติ
บ่อยครั้งที่ในบัญชีรายชื่อฯ ไม่มีคนตรงสาขา หรือมีตรงสาขาแต่หลายครั้งมักปฏิเสธการอ่าน เราจำเป็นต้องขอ อาจารย์ที่เกษียณมาอ่านให้และมีมากกว่า 1 ราย ข้อจำกัดนี้จะเป็นปัญหาในการหาผู้อ่านประเมิน
ข้อเสนอ: ให้เป็นอิสระโดย ก.พ.ว. พิจารณาตามความจำเป็นอยู่แล้ว ไม่ควรกำหนดเช่นนี้
12) ประกาศใหม่นี้ระบุว่า ขั้นตอนการอนุมัติ "...ภายหลังสภาฯ มีมติเห็นควรแต่งตั้งแล้ว จะต้องส่งเรื่องไปให้ ก.พ.อ. พิจารณาการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมทั้งสาระความถูกต้องเหมาะสมของการพิจารณา โดยจะแจ้งให้สภาฯ ทราบและปฏิบัติตามนั้น" (หน้า 32, ข้อ 6.1.4)
ปัญหา: อำนาจในการแต่งตั้งไม่ใช่สภาฯ แต่เป็น ก.พ.อ. ที่จะพิจารณา สภาฯ เพียงช่วย ก.พ.อ. ดำเนินการเท่านั้น
ข้อเสนอ: ให้ ก.พ.อ. ดำเนินการเองทั้งกระบวนการทุกขั้นตอนทุกรายทุกคนหรือไม่ก็ให้อำนาจกับสภาฯ ในการแต่งตั้งเอง โดย ก.พ.อ. เพียงรับทราบ
13) ประกาศนี้ระบุว่า 1 ในกรณีต้องยื่นขอวิธีพิเศษคือ "การเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในศาสตร์ที่แตกต่างจากเดิม" (หน้า 33 ข้อ 7 ย่อหน้าที่ 2 บรรทัดสุดท้าย)
ปัญหา: จำกัดความสนใจของ อาจารย์ผู้ขอฯ ที่อาจมีความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้ทำงานวิชาการมากขึ้นอาจพบความสนใจในศาสตร์สาขาที่แตกต่างจากเดิม
ข้อเสนอ: ควรให้ใช้วิธีปกติ การพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไปตามผลงานและตำแหน่งที่ขอกำหนดมาอยู่แล้ว
14) ประกาศใหม่นี้ระบุว่า ผลประเมินที่เคยผ่านเดิมจะใช้ผลเดิมได้ เว้นแต่ readers เห็นว่าล้่าสมัยจะไม่ใช้ผลประเมินเดิมก็ได้ ในทางกลับกัน หากผลประเมินเดิมไม่ผ่านแต่ภายหลังมีการนำไปใช้ประโยชน์หรืออ้างอิงแพร่หลาย สามารถยื่นกลับมาพิจารณาได้ (หน้า 34, ข้อ 9)
ปัญหา: ไม่เป็นธรรมกับผู้ขอฯ ด้วยผลประเมินครั้งที่ยื่นก่อนหน้าผ่านแล้ว ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไรนานเพียงไหนด้วยผลที่เคยประเมินในชิ้นนั้น ๆ ผู้ขอไม่ควรเสียสิทธิ์การประเมินผ่านแต่เดิมด้วยเหตุเวลาผ่านไป
ข้อเสนอ: ให้ใช้ผลประเมินเดิมได้ไม่มีข้อกำหนดหรือจำกัดเรื่องเวลาและไม่ควรใช้ดุลยพินิจของ reader ใหม่อีกครั้ง
15) ประกาศใหม่นี้มีข้อดีที่ควรแก่การเห็นพ้องด้วยดังนี้
15.1) ยกเลิกเรื่อง "อนุสาขาวิชา" ไป
15.2) ปรับแบบฟอร์มที่ต้องการเพิ่มเติมมา (แต่ยังไม่สมบูรณ์และครบถ้วน)
15.3) มีการสรุปประโยชน์ของการนำผลงานแต่ละชิ้นไปใช้โดยประธานสาขาเป็นผู้สรุปจากความเห็นของ readers
16) มีประเด็นที่ยังไม่ชัดไม่แน่ใจด้วยสงสัยว่าจะพิมพ์ผิด เช่น
16.1) หน้า 27 วิธีที่ 2 (3) น่าจะเป็นตำรา/หนังสือมากกว่า
16.2) หน้า 75 คุณภาพระดับ A บรรทัดที่ 3 น่าจะเป็น "ระดับชาติ" เป็นต้น
17) ตามที่มีข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตำแหน่งวิชาการให้ "ง่ายขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้น ปลดล็อกข้อจำกัด ตอบโจทย์ประเทศ ฯลฯ"
ประกาศฉบับนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย จึงเห็นควรให้มีการทบทวน พิจารณายกเลิก
อีกทั้งประกาศฉบับเดิมที่ใช้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 นั่นถึงวันนี้ยังใช้ไม่ถึง 1 ปี 8 เดือน
หากไม่ได้หลักเกณฑ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิมเช่นนี้ ขอเสนอให้ใช้หลักเกณฑ์ตามเดิมแม้จะแย่แต่ไม่แย่เท่ากันกับที่ประกาศใหม่นี้ครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก freepik