อธิการ มธ. ทำหนังสือยื่น รมว.กระทรวง อว.ค้านประกาศ กก ขรก.อุดมศึกษากำหนดวิธีแต่งตั้งตั้งศาสตราจารย์ปี 2563 ชี้ปัญหาหลักเกณฑ์ลดแรงจูงใจอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอชะลอเวลาบังคับใช้ 3 ปีให้เตรียมตัว-แนะตั้งตัวแทนคณาจารย์แก้ไขข้อบังคับปี 60 ก่อนบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ เกศนี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ทำหนังสือถึง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อคัดค้านประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ค้ารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป
เนื่องจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดจากประกาศ ก.พ.อ. ฉบับดังกล่าว 5 ประการ ดังนี้
1. ประกาศ ก.พ.อ. ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ วันที่ 24 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลที่กําหนดระยะเวลาให้คณาจารย์สามารถเตรียมตัวจัดทําผลงาน และวางแผนในการยื่นขอตําแหน่งทาง วิชาการ จึงเกิดผลกระทบให้คณาจารย์ที่เตรียมตัวยื่นขอตําแหน่งทางวิชาการในเกณฑ์เดิมได้รับความเดือดร้อน
2. การกําหนดหลักเกณฑ์จำนวน และระดับคุณภาพของผลงานทางวิชาการในการขอตําแหน่งทางวิชาการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยการเพิ่มจํานวนและระดับคุณภาพผลงานมากกว่าเดิมนั้น ทําให้ลดแรงจูงในการยื่นเสนอขอตําแหน่งทางวิชาการและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคณาจารย์ให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการโดยเฉพาะในระดับรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์
3. การจํากัดการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับรองศาสตราจารย์ ซึ่งกําหนดว่า การตีพิมพ์เผยแพร่ ผลงานวิจัยต้องอยู่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติที่ ก.พ.อ. กําหนด หรือ TCI กลุ่ม 1 เท่านั้น ระดับศาสตราจารย์ต้องเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติที่ ก.พ.อ. กําหนด ทําให้การ เผยแพร่ในที่ประชุมทางวิชาการ ซึ่งมี Proceedings หรือการเผยแพร่ในหนังสือรวมบทความ หรือ Monograph หรือรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ไม่สามารถใช้ในการยื่นขอตําแหน่งอีกต่อไป
4. การยกเลิกสัดส่วนการมีส่วนร่วมที่เป็นร้อยละออกไป และให้ผู้ขอกําหนดตําแหน่งทางวิชาการ ระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยให้เป็นดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตามสถานะของผู้อฯ ซึ่งแบ่ง ออกเป็น 3 สถานะ คือ 1.ผู้ประพันธ์อันดับแรก (First author) 2.ผู้มีส่วนสําคัญทางปัญญา (Essently Intellecture contributor) และ 3.ผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding author) นั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม เป็นภาระหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจเกิดการใช้ดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย ซึ่งกระทบต่อการดําเนินงานของผู้ทรงคุณวุฒิ และเสี่ยงต่อการเป็นข้อพิพาทขัดแย้งจนเกิดเป็น คดีความ
5. การกําหนดให้การเผยแพร่ผลงานวิจัย จะต้องตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ใน ฐานข้อมูลนานาชาติที่ ก.พ.อ. กําหนดนั้น เป็นความไม่เข้าใจความเป็นจริงของสาขาวิชาสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ ซึ่งการเผยแพร่ผลงานบางสาขาวิชามีข้อจากัด คือ ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพในสาขาดังกล่าว อาจไม่จําเป็นต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลในระดับนานาชาติที่ ก.พ.อ. กําหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปโดยความเรียบร้อย จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทั้ง 5 ข้อ ดังกล่าว ดังนี้
1. ข้อเสนอเร่งด่วนที่สุด คือ เห็นควรชะลอการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว โดยให้แก้ไข บทเฉพาะกาล ขยายระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้คณาจารย์ได้มีโอกาสตรียมตัว และวางแผนในการยื่นขอตําแหน่ง ทางวิชาการได้
2. ข้อเสนอเร่งด่วนมาก คือ เห็นควรตั้งคณะทํางานซึ่งเป็นตัวแทนจากคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อพิจารณายกร่างหรือปรับปรุงจากประกาศ ก.พ.อ. พ.ศ. 2560 ฉบับเดิม ที่ใช้อยู่ เป็นหลัก โดยให้คณาจารย์ได้รับรู้โดยทั่วกัน และได้รับการยอมรับจากคณาจารย์ก่อนบังคับใช้จริงโดยทั่วกันต่อไป (ดูหนังสือประกอบ)
อ่านประกอบ :
แพร่หลักเกณฑ์ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ฉบับใหม่
ชำแหละหลักเกณฑ์แต่งตั้ง ผศ.-รศ.-ศ.ฉบับใหม่พัฒนาหรือทำลายคุณภาพวิชาการ?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage