ปตท.เผยผลประกอบการไตรมาส 1/63 ขาดทุน 1,554 ล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 4 ปี 6 เดือน เหตุธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นขาดทุนสต็อกน้ำมันกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท แต่มีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยง 8,470 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 ว่า ปตท.และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 29,321 ล้านบาท ลดลง 30,866 ล้านบาท หรือลดลงมากกว่า 100% และเป็นการขาดทุนตครั้งแรกในรอบ 18 ไตรมาส หรือ 4 ปี 6 เดือน โดยมีสาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานที่ลดลงอย่างมากของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น เนื่องจากขาดทุนสต๊อกน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มปตท.จะมีการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แต่มีการรับรู้กำไรจากอนุพันธ์ทางการเงิน 8,470 ล้านบาท จากช่วงไตรมาส 1/62 ที่ขาดทุน 3,780 ล้านบาท โดยเฉพาะบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีการรับรู้กำไรจากอนุพันธ์ทางการเงินในไตรมาส 1/63 จำนวน 6,983 ล้านบาท จากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า
ขณะที่สถานะการเงินของปตท.และบริษัทย่อย ณ 31 มี.ค.63 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 2,499,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,227 ล้านบาท หรือ 0.6% จาก ณ 31 ธ.ค.62 โดยหลักจากสินทรัพย์สิทธิการใช้ที่เพิ่มขึ้น 70,404 ล้านบาทเนื่องจากเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาเช่า ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 ในขณะที่มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น1,222,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39,303 ล้านบาท หรือ 3.3% โดยหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 46,462 ล้านบาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ประกอบกับกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงจาก 67.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงต้นไตรมาส 1/63 มาอยู่ที่ 23.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงสิ้นไตรมาส 1/63
ปัจจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลประกอบการลดลง จากการขาดทุนสต็อกน้ำมันอยู่ที่ 35,695 ล้านบาทตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากอย่างรวดเร็ว และจากส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์กับวัตถุดิบที่ลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจพลังงาน จึงทำให้ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท. ในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ปตท.เชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือช่วงสถานการณ์วิกฤต ด้วยการบริหารจัดการการทำธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมปรับรูปแบบการดำเนินงานอย่างเหมาะสม
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 483,567 ล้านบาท ลดลง 67,307 ล้านบาท คิดเป็น 12.2% เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสของ 1/2562 และมีกำไรจากการดำเนินงาน EBITDA อยู่ที่ 32,385 ล้านบาท ลดลง 59.8% จากไตรมาส 1/2562 สาเหตุหลักจากผลประกอบการที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ได้รับผลกระทบสูงจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันตามที่กล่าวข้างต้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง เป็นผลจากราคาและปริมาณการขายของโรงแยกก๊าซฯ และราคาขายที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาในกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง ส่วนผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจน้ำมันก็ลดลงจากการขาดทุนของสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปริมาณขายที่ลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันของอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันในการเดินทาง และการขนส่ง
ในขณะที่ การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมกลับมีปัจจัยเชิงบวก จากการเข้าซื้อบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) รวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากรายได้การขายที่เพิ่มขึ้นของบริษัท Murphy Oil Corporation และบริษัท Partex Holding B.V. ของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)
"แม้ปัจจัยภายนอกจะส่งผลให้ผลประกอบการ ปตท. ในช่วงไตรมาสแรกลดลง กลุ่มปตท.มีการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน โดยมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายตามนโยบาย ‘ลด ละ เลื่อน’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตลอดจนบริหารสภาพคล่องทางการเงิน บริหารความเสี่ยงด้านราคา ด้านอุปสงค์ อุปทาน สินค้าคงคลัง และบริหารค่าใช้จ่ายและงบประมาณองค์กรอย่างเคร่งครัด" นายชาญศิลป์ระบุ
นอกจากนั้น ปตท.ยังได้ทำการทดสอบความสามารถการรับวิกฤตและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ (Stress Test) และแผนการบรรเทาผลกระทบ (Mitigation Plans) รวมถึงจัดตั้งทีม PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนและบริหารจัดการภาพรวมของกลุ่ม รับมือช่วงสถานการณ์วิกฤต พร้อมปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่ม ปตท. สามารถเตรียมรับทุกสถานการณ์ในอนาคต
ก่อนหน้านี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 โดยมีกำไรสุทธิ 8,612 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 12,479 ล้านบาท หรือลดลง 30.9% ส่วนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ไตรมาส 1/63 ขาดทุนสุทธิ 8,784 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 6,442 ล้านบาท หรือลดลงมากกว่า 200%
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ไตรมาส 1/63 ขาดทุนสุทธิ 8,904 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 152 ล้านบาท ,บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ไตรมาส 1/63 ขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท จากไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรสุทธิ 4,408 ล้านบาท เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ก่อนอำลาปตท. ‘ชาญศิลป์’ ฟันธง ‘ถ้าพบวัคซีน ราคาน้ำมันในปี 2021 จะอยู่ที่ 40-50 เหรียญ’
เงินทอนอีเว้นท์ 30 ล.! ‘ซีอีโอปตท.’ ยื่น ป.ป.ช.สอบเส้นทางเงิน-ตั้งกก.สอบวินัย 5 จนท.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage