"...ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ราคามันจะค่อยๆขึ้นไปแล้ว เพราะในอนาคตความต้องการใช้ต้องกลับมา โดยในปี 2020 ราคาจะอยู่ที่เฉลี่ย 35-45 เหรียญ จากปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 60 เหรียญ และถ้าพบวัคซีน ราคาน้ำมันในปี 2021 จะไปอยู่ที่ 40-50 เหรียญ ผมคิดอย่างนั้น..."
วิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (9 พ.ค.63) จากที่ลงไปแตะระดับต่ำสุด 15.98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนทิศทางราคาน้ำมันดิบต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสรับฟังมุมมอง ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังนี้
@คาดเจอวัคซีนโควิดดันราคาน้ำมันดิบปีหน้า 40-50 ดอลล์
ชาญศิลป์ กล่าวว่า เดิมทั่วโลกใช้น้ำมันดิบ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ช่วงที่แย่ๆความต้องการใช้ลดลงเหลือ 60-70 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเมื่อตะวันออกกลาง รัสเซีย และอเมริกา ไม่ยอมลดกำลังการผลิตลงมา น้ำมันที่ผลิตได้จึงไม่มีที่เก็บ ทำให้ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เราได้เห็นราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าติดลบ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบ แต่สุดท้ายเมื่อทุกฝ่ายตกลงกันได้ และลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันก็ค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ราคามันจะค่อยๆขึ้นไปแล้ว เพราะในอนาคตความต้องการใช้ต้องกลับมา โดยในปี 2020 ราคาจะอยู่ที่เฉลี่ย 35-45 เหรียญ จากปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 60 เหรียญ และถ้าพบวัคซีน ราคาน้ำมันในปี 2021 จะไปอยู่ที่ 40-50 เหรียญ ผมคิดอย่างนั้น”
สำหรับผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลงที่มีต่อกลุ่มปตท.นั้น ชาญศิลป์ ระบุว่า ปตท.มีธุรกิจอยู่ทั้งหมด 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่กระทบแรงๆ คือ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งจะได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ทั้งจากความต้องการใช้ลดลง และการขาดทุนจากการด้อยค่าของสต็อกสินค้าคงเหลือ (Stock Loss) เพราะราคาน้ำมันลดลงจาก 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
“เมื่อจีนมีปัญหา การผลิตต่างๆก็แย่ลง ปิโตรเคมีเลยแย่ สเปรดแย่หมดเลย อันที่สองเมื่อทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม OECD และในจีน มีการล็อคดาวน์ ห้ามเดินทางข้ามประเทศ ดีมานด์จึงร่วง อย่างน้ำมัน Jet-A1 ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องบินวันนี้หายไปหมดเลย ขณะที่โรงกลั่นฯซึ่งต้องเก็บสต็อกน้ำมันดิบไว้นั้น สมมุติว่า 7 ล้านบาร์เรล ถ้าราคาลงมาเหลือ 30 เหรียญ จาก 60 เหรียญ ก็เท่ากับขาดทุน 200 กว่าล้านเหรียญ หรือขาดทุน 6,000-7,000 ล้านบาท นี่คือ stock loss”
ชาญศิลป์ ระบุว่า แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันทั้งในประเทศที่ลดลง และการส่งออกน้ำมันทำไม่ได้ จะทำให้กลุ่มปตท.ต้องลดกำลังการผลิตโรงกลั่นฯเหลือ 80-85% จากเดิมที่ผลิตเกือบ 100% โดยเฉพาะโรงกลั่นฯเก่าที่มีต้นทุนการผลิตสู้เขาไม่ได้ แต่ยังถือว่าโชคดีที่ดีมานด์ในประเทศ ซึ่งคิดเป็น 80-90% ของการกลั่นทั้งหมด ยังพอมีอยู่และไม่ได้ลดลงต่ำมากนัก ในขณะที่ความต้องการใช้และราคาน้ำมันคาดว่าจะกลับมาในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4
“ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ทั้งไทยออยล์ PTTGC IRPC โดนกันทุกคน แต่เมื่อถึงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ราคาน้ำมันขึ้น เราจะมี stock gain มากขึ้น แต่ไม่ขึ้นเร็ว จะค่อยๆไต่ขึ้น และถ้าไปดูอีกธุรกิจหนึ่ง คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เรามีท่อก๊าซในทะเล 3 เส้น เรามีคลัง LNG วันนี้เราเจรจาในอ่าวให้ลดการผลิตลง แล้วใช้โอกาสนี้นำเข้า LNG ที่มีราคาถูกกว่า และตอนนี้ดีมานด์ไฟฟ้าไม่ค่อยตกเท่าไหร่ ธุรกิจนี้จึงไม่กระทบ เพราะใช้สำหรับไฟฟ้า”
@เพิ่มถือเงินสด-ทบทวนการลงทุนขนาดใหญ่
ส่วนการปรับตัวของกลุ่มปตท.ในการรับมือกับผลกระทบโควิด ชาญศิลป์ กล่าวว่า เราจะถือเงินสดให้มากที่สุด และการลงทุนที่ยังไม่ควรทำก็จะหยุดไว้ก่อน ส่วนทรัพย์สินที่เป็น non proved asset จะมีการเข้าไปจัดการให้เร็วขึ้น ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นหมื่นล้าน เช่น การลงทุนในสหรัฐ การลงทุนพาราไซลีน จะถูกทบทวนใหม่ เพราะการหาเงินกู้ในเวลานี้มีดอกเบี้ยแพง เพราะทุกคนหาเงินกู้กันหมด เราจึงต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้
“ทรัพย์สินบางอย่างที่เคยซื้อไว้ เราขายออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว อย่างที่ดินปลูกปาล์มที่อินโดนีเซียเราไปขายหมดแล้ว ยังดีที่ขายได้ถูกเวลา ถ้าขายตอนนี้ยิ่งแย่ แต่ก็ยังเหลือ oil sand ที่แคนนาดาที่ยังไม่ได้ขาย ส่วนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น เราไม่ได้ไปลงเงินไปเยอะแยะ และเมื่อสำรวจแล้ว ถ้าทำไม่ได้ก็คืนสัมปทาน คืนสิทธิให้เขาไป”
@การใช้น้ำมันหลังโควิดต้องใช้เวลาฟื้นตัวเป็นปี
ชาญศิลป์ ประเมินภาพการใช้น้ำมันในประเทศไทยหลังโควิดว่า การใช้น้ำมันของไทยอาจจะไม่ขึ้นไปถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรลในระยะเวลาอันสั้น และต้องใช้เวลาแล้วเป็นปีก่อนที่การใช้น้ำมันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นั่นเป็นเพราะว่ากว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและทำให้การใช้น้ำมันเครื่องบินจะกลับมาต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้คนตกงานมีอยู่เป็นจำนวนมาก และสิ่งที่เขาต้องการ คือ ปัจจัย 4 ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น เป็นสิ่งที่ตามมาหลังจากเขามีรายได้แล้ว
“คนยังไม่ได้ทำงาน รายได้ที่จะมาใช้จ่ายเรื่องนี้ก็น้อยลง การท่องเที่ยวมันจะหยุดไปช่วงหนึ่ง ซึ่งยาวพอสมควร แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของเรา ยังไงคนก็ต้องใช้น้ำมันไม่ว่าจะเป็นน้ำมันรถยนต์ น้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ แต่ต้องทำให้เขามีอาชีพ มีรายได้ ต้องเปิดให้เดินได้ ถ้าล็อคไปตลอด อย่างนี้เงินกู้เท่าไหร่ก็ไม่พอ”
ชาญศิลป์ ยังมองว่า ด้วยราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบ้าง เพราะทำให้การคืนทุนของแบตเตอรี่ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น แต่โรงกลั่นฯเองก็สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดฝุ่น PM2.5 โดยในปี 65-65 การปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 จะแล้วเสร็จ ในขณะที่การใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ลงอย่างมาก
“ถ้าไม่มีโควิด การใช้น้ำมันจะถึงจุดพีคในอีก 10 ปี แต่เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นอยู่อย่างนี้ ผมว่าจะยิ่งยาวขึ้น อย่างแบตเตอรี่ถามว่าลูกหนึ่งใช้ต้นทุนผลิตเท่าไหร่ และถ้าไปประเทศตะวันออกกลาง เขาไม่มีทรัพยากรอะไรเลย มีแต่น้ำมัน ซึ่งมีราคาถูกกว่าพลังงานทดแทน”
@ปตท.ปรับตัวไลน์ผลิตรับมือความต้องการใช้น้ำมันลด
อย่างไรก็ดี ชาญศิลป์ ระบุว่า แม้ว่าวันนี้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังไม่ถึงจุดพีค แต่ปตท.ได้ปรับปรุงไลน์การผลิตโดยเน้นผลิตสินค้าปิโตรเคมีขั้นสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น เช่น พาราไซลีน ขวดเพชร โพลีเอสเตอร์ การผลิตแพ็คเก็จจิ้ง และพลาสติกไฮเอนสำหรับทางใช้ทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มปตท.ได้เตรียมการล่วงหน้ามา 3-5 ปีแล้ว
“แต่ก่อนเราเอาน้ำมันดิบไปทำน้ำมันก่อน แล้วจึงทำปิโตรเคมี แต่ตอนนี้เราเอาน้ำมันดิบไปทำปิโตรเคมีก่อน แล้วที่เหลือค่อยไปทำน้ำมัน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เราผลิตจากน้ำมันที่มีคอร์บอนสูง จะได้พลาสติกที่แข็งและทน ซึ่งจะนำไปส่วนประกอบของตู้เย็น แอร์ และรถยนต์ เพียงแต่ตอนนี้เราเจอเทรดวอร์ เศรษฐกิจไม่ดี คนต้องใช้รถยนต์เก่าไปก่อน ใช้แอร์เก่าไปก่อน เราเลยโดนหนัก แต่ถ้าเศรษฐกิจดี อันนี้ขายได้แน่”
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ชาญศิลป์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้าตลาดหลักทรัพย์ ว่า เราได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มา 1 เดือนเศษแล้ว ซึ่งยังจะใช้เวลาอีก 5 เดือน แต่หากสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น เราอาจเสนอยืดเวลาไปได้อีก 6 เดือน ทำให้เรามีเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคู่แข่งอาจจะหายไปบางส่วน และเงินในตลาดน่ามีอยู่มาก
“แม้ว่าผมจะเกษียณในวันที่ 12 พ.ค.นี้แล้ว แต่จะไม่มีผลต่อแผนการเข้าตลาดของ OR เพราะเวลาทำงาน เราไม่ได้ทำคนเดียว ผมไม่ใช่ซุปเปอร์แมน และเราได้ไปคุยกับรัฐบาล รองนายกฯ รมว.คลัง และรมว.พลังงานแล้ว รวมทั้งผ่านบอร์ดมา 3-4 ครั้งแล้ว กว่าจะเป็นภาพนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆใครจะมาเปลี่ยนได้”
อ่านประกอบ :
เงินทอนอีเว้นท์ 30 ล.! ‘ซีอีโอปตท.’ ยื่น ป.ป.ช.สอบเส้นทางเงิน-ตั้งกก.สอบวินัย 5 จนท.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage