‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ ซีอีโอ ปตท. ยื่น ป.ป.ช. สอบทุจริต-เส้นทางเงินผู้เกี่ยวข้อง หลังสอบพบข้อมูลเจ้าหน้าที่รับเงินทอนจัดอีเว้นท์ส่วนงานค้าปลีกเมื่อ 7 ปีก่อน สั่งย้าย ตั้งกรรมการสอบวินัย 5 เจ้าหน้าที่แล้ว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ยื่นให้ทางคณะกรรมการป้องกันและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีทางฝ่ายบริหารของ ปตท.พบว่าสอบสวนมีการจ่ายเงินทอนในการจัดอีเว้นท์ในส่วนงานค้าปลีกน้ำมันของบริษัทฯ(ปัจจุบันจัดตั้งเป็นบริษัทพีทีทีโอาร์-PTTOR) มูลค่าในการจัดอีเวนท์ประมาณ 20-30 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีผู้มาร้องเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท.ให้รับทราบแล้ว
นายชาญศิลป์ ระบุเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้บริษัท ปตท. ได้สร้างระบบ Whistleblower (ผู้เป่านกหวีดเตือนทุจริต) เพื่อเป็นเปิดช่องการรับร้องเรียนเรื่องทุจริตภายในองค์กรแล้ว ต่อมาในเดือนมกราคม 2563 มีเอกชนยื่นข้อมูลมาที่ตนเองและยื่นข้อมูลไปที่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ว่า มีคนของปตท.รับเงินทอนจากการจัดอีเว้นท์ของปตท.หลายงานเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นส่วนงานค้าปลีกน้ำมัน แต่ตอนนี้ได้แยกไปเป็นบริษัท OR แล้ว
“อย่างอีเว้นท์โปรโมทสินค้าควรจะเป็น 2 ล้านบาท แต่ใส่ราคาไป 3 ล้านบาท แล้วก็ให้ทอนเงินไปที่คนนั้นคนนี้ ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องนั้น ตอนนี้ไปอยู่ที่ OR เป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการส่วน โดยเราได้ตั้งกรรมการสอบ มีการให้คนภายนอกเข้ามาร่วมด้วย เพื่อหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่จริง และเมื่อเข้าบอร์ดปรากฎว่าค่อนข้างมีมูล เราจึงตั้งกรรมการสอบสวน และตั้งกรรมการสอบวินัย ย้ายคนที่ต้องสงสัยออกไปแขวนไว้ก่อน 5 คน” นายชาญศิลป์ระบุ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกี่ยวพันกับคนภายนอกและมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ปตท.จึงต้องยื่นเรื่องไปยังป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนทางอาญา และตรวจสอบเส้นทางเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ที่มีการอ้างว่าได้เงินมาจากการขายที่ดิน 25 ล้านบาทนั้น เมื่อป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบก็รู้ว่าเงินได้มานั้น ได้มาจากการขายที่ดินจริงหรือไม่ ส่วนที่คนมาให้ข้อมูลนั้น ป.ป.ช.จะกันไว้เป็นพยาน และอาจขยายผลเพิ่มเติมไปยังบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
“ที่เราต้องให้ป.ป.ช.สอบ เพราะเราไม่มีอำนาจรู้บัญชี ธนาคาร การเดินของเงิน ซึ่งเราคิดว่ามันน่ามีประเด็นแบบนี้กับเจ้าอื่นๆด้วย เพราะคนที่มาให้ข้อมูลกับเรามีรายเดียว แต่ยังมีอีก 5-6 ราย ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีเงินทอนแบบนี้หรือไม่ โดยคนที่มาร้องกับเรา เขาเป็นคนที่รับงาน และถูกบอกว่าต้องทอนให้คนนั้น ต้องทอนให้คนนี้ ทำให้เขาอึดอัดมาก เพราะต้องทอนเงินให้ชาวบ้าน แล้วต้องมานั่งเสียภาษี เราจึงขอให้กันเขาเป็นพยาน” นายชาญศิลป์กล่าว
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น 6-7 ปีแล้ว แต่เหตุใดเพิ่งมีผู้มาร้องกับปตท. นายชาญศิลป์ กล่าวว่า “อาจเพราะเป็นผม เขาเชื่อใจผม เขาร้องเข้ามาผ่านผู้ใหญ่ เขามั่นใจว่าผมเก็บไว้ไม่ให้เขาเสียหายได้…และที่ผ่านมาคนที่ทำไปขู่ 5 เจ้า เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นคนมาบอก อีกทั้งยังบอกว่า เดี๋ยวรอย้ายก่อน เดี๋ยวมาใหม่ สบายมาก” นายชาญศิลป์ ระบุว่า “คนที่เคยทำอย่างนี้ จะไปรับใช้ใครเราไม่รู้ แต่ก็ให้ระวังให้ดี และผมเองจะถูกพวกนี้ฟ้องกลับแน่ แต่ไม่เป็นไร”
ส่วนความคืบหน้าคดีทุจริตปลูกปาล์มที่อินโดนีเซียนั้น นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาไต่สวนของป.ป.ช. ส่วนพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมด ปตท.ได้ขายออกไปหมดแล้ว และมีการบันทึกขาดทุนไว้ทั้งหมดแล้ว โดยได้เงินค่าขายที่ดินมาหลักพันล้านบาท จากราคาที่ดินที่ซื้อมาหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งป.ป.ช.ได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้แล้วก็พบหลักฐานว่ามีการจ่ายคอมมิสชั่นอกรีเม้นกันถึง 30-40%
“ผมเข้ามาแก้ตอนหลัง มาตอนขายแล้ว เราไปพบว่ามีการไปซื้อที่ดินที่ทับซ้อนกับป่าสงวนบ้าง เป็นดินพลุบ้าง เป็นที่ดินทับถ่านหินบ้าง บางที่ตั้งอยู่กลางเกาะ ผมเคยลงไปดู ต้องบินจากจาร์กาต้าไปลง 1 คืน แล้วเอารถโฟร์วิลไดร์ขับเข้าไปดอนกลางเกาะอีก เราไปพักเหมือนเขาใหญ่เลย ซื้อที่ดินอย่างนี้มาปลูกปาล์มได้อย่างไร เราไปเจอ เราเห็นค่านายหน้า 30-40% ซื้อไปหลักหมื่นล้านบาท แต่ขายได้หลักพันล้านบาท ซึ่งมีการบันทึกขาดทุนไปแล้ว”นายชาญศิลป์ระบุ
นายชาญศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า องค์กรแบบ ปตท.ต้องมีธรรมภิบาลและมีความโปร่งใส ตนไม่อยากเห็นปตท.เป็นเหมือนกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ล้มเหลว เพราะเรื่อง CG (Corporate Governance) เป็นเรื่องของความมั่นคงเช่นกัน แต่ก็พบว่าที่ผ่านมาปตท.มีการลงทุนที่ผิดพลาดหลายเรื่อง และตนได้พูดในบอร์ดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ว่า สิ่งที่ตนรู้สึกเสียใจที่สุด คือ การต้องมานั่งแก้ปัญหาการทุจริตที่มีอดีตพนักงานร่วมกับบุคคลภายนอกนำเอาสมบัติสาธารณะไปเป็นของตัวเอง
“ถึงแม้จะยังไม่มีการพิพากษา และผลก็ยังไม่ชัดเจน ยังไม่สิ้นสุด แต่บทเรียนเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของ Ethic และ CG ของทั้งกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน” นายชาญศิลป์ ซึ่งจะเกษียณอายุในวันที่ 12 พ.ค.นี้ กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage