เงินเฟ้อทั่วไปเม.ย.63 ติดลบ 2.99% หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน หลังราคาน้ำมันดิ่ง 30.85% ขณะที่ ‘พาณิชย์’ ยันเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าภาวะ 'เงินฝืด' แม้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันแล้ว แนะรัฐผ่อนปรนเปิดตลาดนัด หวังให้ธุรกิจรายเล็กช่องทางค้าขายหารายได้-คนมีพื้นที่จับจ่ายใช้สอย
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย.63 อยู่ที่ 99.75 หดตัว 2.99% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดลง 30.85% ต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน รวมถึงค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าจำเป็นบางรายการลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในช่วงโควิด-19
อย่างไรก็ตาม สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงขยายตัวที่ 1.04% ตามภาวะภัยแล้งและอากาศที่แปรปรวน โดยราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งขยายตัว 7.36% ไข่และผลิตภัณฑ์นมขยายตัว 5.52% เครื่องประกอบอาหารขยายตัว 3.16% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัว 2.32% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำขยายตัว 1.37% เป็นต้น ส่วนผักสดหดตัว 9.58% ผักและผลไม้หดตัว 4.1% และผลไม้สดหดตัว 1.71%
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย.63 จะติดลบเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนมี.ค.63 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.54% แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามนิยามทางวิชาการ ซึ่งระบุว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต้องติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อีกทั้งรายการสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมี 212 รายการ เทียบกับรายการสินค้าที่ราคาลดลง 139 รายการ ขณะที่รายการสินค้าที่ดึงให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ คือ กลุ่มน้ำมัน แต่สินค้าในหมวดอาหารสดยังบวกได้อยู่
“ภาวะเงินฝืดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อราคาสินค้าส่วนใหญ่ลดลง แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยนั้นเกิดขึ้น และเงินเฟ้อยังไม่ติดลบ 3 เดือนขึ้นไป นี่เพิ่งลบเดือนที่ 2 ตอนนี้จึงบอกว่าได้ว่าเรายังไม่มีภาวะเงินฝืด” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนพอสมควร และทำให้อุปสงค์ในภาพรวมลดลง เนื่องจากคนไม่มีสถานที่จับจ่ายใช้สอย หรือมีการใช้เงินน้อยลง เพราะไม่มั่นใจว่าโควิดจะยุติลงเมื่อใด และสถานการณ์ดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อเนื่องต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะถัดไปด้วย ซึ่งสนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2/ุ63 จะติดลบ 2.28%
“โควิดทำให้การจับจ่ายน้อยลง เพราะคนไม่มีที่จับจ่าย หรือคนใช้เงินน้อย ดังนั้น นอกจากมาตรการช่วยเหลือเงิน 5,000 บาทแล้ว สนค.อยากฝากให้ช่วยผู้ประกอบการ SMEs โดยผ่อนปรนการเปิดพื้นที่ต่างๆ เช่น ตลาดนัด เพราะเป็นแหล่งรายได้ของธุรกิจขนาดเล็ก และเป็นพื้นที่จับจ่ายของคน แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารสุข ส่วนเงินเฟ้อปีนี้จะเป็นอย่างไร จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ โดยปีนี้เศรษฐกิจต้องพึ่งพาภายใน” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.63) ขยายตัวได้ที่ 0.44% แต่คาดว่าทั้งปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบติดลบ 0.2 ถึงติดลบ 1% หรือมีค่ากลางติดลบ 0.6% อย่างไรก็ตาม สนค.จะทบทวนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.63 ยังขยายตัวที่ 0.41% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวได้ที่ 0.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage