ผอ.สำนักงบประมาณ เดินหน้าตัด 'งบสัมมนา-ดูงานต่างประเทศ' ทุกกระทรวง ตั้งเป็นงบกลางปี 64 รายการบรรเทาผลกระทบโควิด คาดได้งบเบื้องต้น 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 'องค์กรอิสระ-ส่วนราชการ' 12 แห่ง แห่คืนงบรวมแล้วกว่า 1 พันล้านบาท เผย 'สำนักงานอัยการสูงสุด' ยอมถอยจัดซื้อคอมฯ 50 ล้านบาท ส่วน 'สตง.' ลดเงินสร้างตึกใหม่ 40 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ทุกส่วนราชการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพื่อนำมาไว้เป็นงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น ขณะนี้สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างรอให้แต่ละหน่วยงานส่งรายการการปรับลดงบฯ มายังสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสำนักงบประมาณได้ขอความร่วมมือให้ทุกกระทรวงและส่วนราชการทุกแห่ง ปรับลดงบในส่วนที่มีการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบ 2564 หรือในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.2563 มาไว้เป็นงบกลาง รายการบรรเทาสถานการณ์โควิดก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้งบส่วนนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบปี 64 ให้ครม.พิจารณาในวันที่ 12 พ.ค.นี้
“เราเห็นว่าช่วงไตรสมาแรกที่สถานการณ์โควิดน่าจะเพิ่งคลี่คลาย ส่วนราชการยังคงไม่ได้ไปฝึกอบรมสัมมนาหรือเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จึงเสนอให้เอางบประมาณส่วนนี้มาใส่เป็นงบกลางสำหรับแก้ปัญหาเรื่องโควิด ในช่วงของการฟื้นฟูเยียวยา อย่างไรก็ตาม ถ้าสุดท้ายงบกลางส่วนนี้เราไม่ได้ใช้ เราก็คืนให้ทส่วนราชการได้ภายในหลัง” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับรายละเอียดงบปี 2564 เบื้องต้นสำนักงบประมาณตั้งกรอบวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 99,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบโควิดอีก 40,000 ล้านบาท จะทำให้งบกลางทั้ง 2 รายการ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการจัดสรรของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และครม. รวม 139,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 แบ่งเป็น 3 รายการ ดังนี้
1.รายจ่ายประจำที่ไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา, การฝึกอบรม, การประชาสัมพันธ์, การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าเช่าที่พัก, ค่าพาหนะ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่มีการจ้างออแกไนซ์เซอร์ หรือดำเนินการเอง ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณปรับลดงบลง 25%
2.รายจ่ายลงทุนที่ไม่มีข้อผูกพัน (รายการปีเดียว) เช่น ครุภัณฑ์ทดแทนหรือค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง 50%
3.รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติรับทราบรายการปรับลดงบประมาณประจำปี 2564 ในส่วนขององค์กรอิสระ และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง จำนวน 12 หน่วยงาน รวมวงเงินที่ถูกปรับลด 1,043.74 ล้านบาท ดังนี้
1.สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (บีโอเอ) ปรับลดวงเงิน 13.96 ล้านบาท จากรายจ่ายประจำ 13.71 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 225,000 บาท คงเหลือ 196.77 ล้านบาท
2.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปรับลดวงเงิน 60.27 ล้านบาท จากแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 37.87 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 22.39 ล้านบาท คงเหลือ 1,932.10 ล้านบาท
3.สถาบันพระปกเกล้า ปรับลดวงเงิน 20.96 ล้านบาท จากรายจ่ายประจำ 3.78 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายลงทุนและครุภัณฑ์ 17.18 ล้านบาท คงเหลือ 217.52 ล้านบาท
4.สำนักงานศาลยุติธรรม ปรับลดวงเงิน 157.86 ล้านบาท คงเหลือ 19,894.65 ล้านบาท
5.ศาลปกครอง ปรับลดวงเงิน 28.73 ล้านบาท จากงบดำเนินงาน 11.52 ล้านบาท งบลงทุน 17.20 ล้านบาท คงเหลือ 2,454.71 ล้านบาท
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรับลดวงเงิน 33.80 ล้านบาท จากแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 17.57 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคง 16.23 ล้านบาท คงเหลือ 1,770.70 ล้านบาท
6.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับลดวงเงิน 23.07 ล้านบาท จากงบดำเนินงาน 18.63 ล้านบาท งบลงทุน 4.44 ล้านบาท คงเหลือ 316.17 ล้านบาท
7.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปรับลด 70.27 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายฝึกอบรมและสัมมนา 2.7 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ 27.06 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 462,500 บาท ค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ 40 ล้านบาท คงเหลือ 2,487.52 ล้านบาท
8.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปรับลดวงเงิน 166.72 ล้านบาท จากรายจ่ายประจำ 134.14 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 32.58 ล้านบาท คงเหลือ 2,364.77 ล้านบาท และงบประมาณกองทุน ป.ป.ช. 100 ล้านบาท ขอเสนอไม่ปรับลด โดย ป.ป.ช.เห็นว่า กรอบวงเงินที่ ครม.มีมติเห็นชอบไม่สูงเมื่อเทียบกับคำของบประมาณ
9.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปรับลด 298.51 ล้านบาท จากแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 199.11 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ 99.25 ล้านบาท และแผนงานบูรณาการ แผนงานป้องกัน ปราบปราม การทุจริตและประพฤติมสิชอบ 143,200 บาท คงเหลือ 7,862.64 ล้านบาท ส่วนกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 194.30 ล้านบาท เสนอไม่ปรับลดแต่อย่างใด
10.สำนักงานอัยการสูงสุด ปรับลด 141.71 ล้านบาท จากงานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา 90.87 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ 50.84 ล้านบาท
11.สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรับลด 10.55 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายในการสัมมนาและฝึกอบรม 6.53 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 3.63 ล้านบาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 381,300 บาท คงเหลือ 214.24 ล้านบาท
12.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ปรับลด 40.65 ล้านบาท จากรายจ่ายประจำ 31.51 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 9.14 ล้านบาท คงเหลือ 373.77 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ครม.สั่งรื้องบปี 64 หั่นซื้อครุภัณฑ์ 50% ลดสัมมนา-จัดอีเวนต์-เดินทางตปท. 25%
เคาะจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบฯกว่า 1 แสนล้าน ‘กลาโหม’ โดนหั่นมากสุด 1.7 หมื่นล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage