เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ เยียวยาโควิด-ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1.9 ล้านล้าน เปิดทาง 'คลัง' กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ให้อำนาจธปท.ปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท หากเงินปล่อยกู้เป็นหนี้เสียให้รัฐบาลชดเชย 60-70% ตามเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมตั้งกองทุนพยุงตราสารหนี้เอกชนอีกไม่เกิน 4 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ก. จำนวน 4 ฉบับ และพ.ร.ฏ. 1 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลและหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 โดยสาระสำคัญในกฎหมาย กำหนดให้กระทรวงการคลัง โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสรหนี้ในนามรัฐบาล มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย.2564
โดยเงินกู้ตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นไม่ได้ นอกจากหัวข้อที่กำหนดไว้ ดังนี้ต่อไปนี้
1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยทั้งสองส่วนนี้ กำหนดให้การกู้เงินมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 600,000 ล้านบาท
3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำหนดให้การกู้เงินมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยให้ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน มีกรรมการและเลขานุการ อีกไม่เกิน 13 คน ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยให้รองเลขาธิการ สศช.เป็นเลขานุการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม โดยให้มีอำนาจหน้าที่ กลั่นกรองแผนงานหรือโครงการก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ รวมถึงกำกับดูแลและรายงานความก้าวหน้าต่อ ครม.อย่างน้อยทุก 3 เดือน
(อ่านรายละเอียด : พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563)
2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 โดยสาระสำคัญของพ.ร.ก.ดังกล่าว กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ โดยธปท.จะคิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี และให้ยื่นคำขอกู้ยืมเงินภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ สถาบันการเงินนำเงินกู้ยืมดังกล่าวไปใช้ให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยวงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับวงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต
สำหรับวงเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม และให้คิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนสินเชื่อเพิ่มเติมดังกล่าวไม่เกิน 2% ต่อปี สำหรับระยะเวลา 2 ปีแรก โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.กำหนดให้สถาบันการเงินต้องชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ยที่กู้ยืมตามพ.ร.ก.ดังกล่าว ให้แก่ธปท.ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ โดยกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ให้สถาบันการเงินได้รับการชดเชยความเสียหายตามที่ธปท.กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น
1.ชดเชยความเสียหาย 70% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพ.ร.ก.นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และ2.ชดเชยความเสียหาย 60% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพ.ร.ก.นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำหนดให้ธปท.มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาทหรือลูกหนี้อื่นได้ โดยไม่ให้ถือว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โดยธปท.จะประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชะลอการชำระหนี้ ระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ และวิธีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ชะลอไว้ต่อไป
(อ่านรายละเอียด : พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563)
3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า ‘กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้’ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่
ทั้งนี้ ให้เป็นกองทุนเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่าเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งในระยะเริ่มแรกให้ธปท.เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนแต่ผู้เดียว และให้ธปท.มีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนภายในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาทภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด
ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ 1.เป็นตราสารหนี้ที่ออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด 2.ผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุน
3.เป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ แต่ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกเสนอขายให้แก่กองทุน ประชาชน หรือบุคคลใด ๆ ในคราวเดียวกันที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับต่ำกว่าลงทุนได้ ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวได้กระทำโดยองค์กรที่ธปท.กำหนด และ4. ผู้ออกตราสารหนี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรง อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม ให้ธปท.โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มิใช่ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ได้
สำหรับการเข้าไปลงทุนซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการลงทุนที่มีรองผู้ว่าการธปท.เป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผู้ว่าการธปท.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนหรือด้านการเงินการธนาคาร มีหน้าที่และอำนาจคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ในการดำเนินการของธปท.ตามพ.ร.ก.นี้ ถ้ามีกำไรเกิดขึ้น ให้ธปท.นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธปท.ให้กระทรวงการคลังชดเชยความเสียหายให้แก่ธปท.ในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท
(อ่านรายละเอียด : พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563)
4.พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดยพ.ร.ก.ดังกล่าว กำหนดให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถ ประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่ใช้บังคับแก่การประชุม 4 ลักษณะ
คือ 1.การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา 2.การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล 3.การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ 4.การประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพ.ร.ก.นี้ เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามพ.ร.ก.นี้ เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
(อ่านรายละเอียด : พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563)
5.พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากจำนวนไม่เกิน 5 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2563 ถึงวันที่ 10 ส.ค.2564 จากเดิมที่จะลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจากไม่เกิน 5 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ในวันที่ 11 ส.ค.2563
(อ่านรายละเอียด : พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ.2563)
อ่านประกอบ :
2 อดีตผู้ว่าฯธปท. ประสานเสียง 'วิรไท' : กองทุนหุ้นกู้ดับไฟก่อนลุกลามภาคการเงิน
นวพร เรืองสกุล : ถึงน้องๆ ในธนาคารแห่งประเทศไทย
สภาพคล่องกระจายไม่ทั่วถึง!‘วิรไท’ ย้ำจำเป็นตั้งกองทุนหุ้นกู้-ออกซอฟท์โลนอุ้มเอสเอ็มอี
'แบงก์ชาติ' ตอบ 19 คำถาม ทำไมต้องตั้งกองทุนตลาดหุ้นกู้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage