บอร์ด กสทช.อนุมัติคุณสมบัติผู้ประกอบการ 5 เจ้า เข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ‘ฐากร’ รับผิดคาด ‘DTAC’ เข้าประมูลคลื่น 26 GHz เพียงคลื่นเดียว แต่ยังเชื่อว่าการแข่งขันจะดุเดือด เหตุ ‘AIS-TRUE’ ต้องการเป็นเจ้าตลาด 5G ขณะที่ CAT พร้อมทุ่มประมูล หลังมีเงินหน้าตัก 7-8 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. มีมติรับรองคุณสมบัติผู้ประกอบการ 5 ราย ที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz เพื่อให้บริการระบบ 5G โดยการประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.พ.นี้ ส่วนคลื่น 1800 MHz ไม่มีเอกชนรายใดยื่นประมูล
สำหรับรายละเอียดผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลแต่ละคลื่นนั้น คลื่น 700 MHz มีผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 2.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ3.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
ส่วนคลื่น 2600 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่ AWN , TUC และ CAT ในขณะที่คลื่น 26 GHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ AWN , TUC , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ส่วน CAT ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นนี้ เพราะมีความเกี่ยวกับทางบริษัท TOT ซึ่งอยู่ในระหว่างควบรวมบริษัทกัน
นายฐากร ระบุว่า การที่ DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่น 5G เพียงคลื่นเดียว คือ คลื่น 26 GHz ยอมรับว่าผิดความคาดหมายไปเล็กน้อย เพราะเดิมคาดว่า DTAC จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 2600 MHz ด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมั่นใจว่าการประมูลแข่งขันเคาะราคาคลื่นรอบนี้น่าจะรุนแรงเหมือนเดิม โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz และคลื่น 2600 MHz เพราะผู้ประกอบการต้องการได้คลื่นไปให้มากที่สุด สำหรับให้บริการลูกค้าในระบบ 4G เดิม และระบบ 5G
“ก็ผิดคาดนิดหน่อยที่ DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่นเพียงคลี่นเดียว เพราะเดิมคิดว่า DTAC จะเข้าคลื่น 2600 MHz ด้วย แต่กลับไม่เข้าประมูล อาจเป็นเพราะเงินไม่ค่อยมี เพราะเพิ่งประมูลคลื่น 700 MHz และ1800 MHz ไปเมื่อปีเศษ หรืออาจต้องการไปประมูลคลื่น 3500 MHz รอบหน้าก็ได้ แต่ก็คิดว่าการประมูลรอบนี้ จะมีการแข่งขันราคากันรุนแรง เพราะใบอนุญาตฯที่เอกชนต้องการมีอยู่ไม่มาก และเชื่อว่า AIS TRUE และCAT จะเคาะราคาแข่งขันกันรุนแรง” นายฐากรกล่าว
นายฐากร อธิบายว่า การประมูลคลื่น 700 MHz ที่มีเพียง 3 ใบอนุญาตๆละ 5 MHz รวม 15 MHz นั้น ตนประเมินว่าผู้ประกอบการบางรายอาจต้องการได้คลื่น 15 MHz หรือ 10 MHz เพราะถ้าได้แค่ 5 MHz ถือว่าน้อยเกินไป หากจะนำคลื่นไปให้บริการลูกค้า 4G ที่ความจุเต็มแล้ว ก่อนจะนำคลื่นไปให้บริการลูกค้า 5G ในระยะต่อไป ส่วน CAT เองน่าจะมีความต้องการคลื่น 700 MHz เพื่อไปให้บริการลูกค้า หลังจากคลื่น 800 MHz สิ้นสุดสัมปทานในปี 2568
“วันนี้ CAT มีคลื่น 800 MHz อยู่ และสัมปทานจะหมดในปี 2568 ผมจึงเชื่อว่าเขาอยากได้คลื่น 700 MHz เพื่อนำไปให้บริการลูกค้าต่อเนื่องไป ซึ่งปัจจุบัน DTAC เช่าคลื่นของ CAT โดยเมื่อประมูลคลื่นได้แล้ว CAT สามารถนำคลื่นที่ได้มาให้เช่าต่อ หรือนำไปในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO” นายฐากรกล่าว
ส่วนคลื่น 2600 MHz หากผู้ประกอบการฯจะให้บริการ 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องได้คลื่นไป 100 MHz จากคลื่นทั้งหมดที่นำมาเปิดประมูล 190 MHz จึงเชื่อว่าจะมีเอกชนบางรายสู้ราคาเพื่อให้ได้ใบอนุญาต 100 MHz ส่วนที่เหลืออีก 2 เจ้า หากจะแบ่งกันรายละ 50 MHz และ 40 MHz คงไม่ได้ เพราะจะเปิดให้บริการ 5G ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็ต้องเคาะราคาประมูลเพื่อให้ได้คลื่น 90 MHz ทำให้การแข่งขันยังคงมีความดุเดือด
“ถ้าจะทำ 5G เต็มประสิทธิภาพต้องได้ 100 MHz ซึ่งจะจูงใจลูกค้าให้ย้ายไปใช้ 5G ค่ายเขามากที่สุด และเนื่องจากมีผู้แข่งขัน 3 ราย เขาต้องเคาะราคาหนีกัน เพื่อให้รายที่ 3 ออกไป ส่วน CAT ไม่ต้องห่วง สู้แน่ เพราะรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีนโยบายให้ CAT นำคลื่นไปให้บริการรักษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เขาเองก็มีเงินเยอะ 7-8 หมื่นล้านจากค่าปรับ และท่านรมว.ก็พูดตลอดให้ CAT ทำธุรกิจใหม่ของตัวเองให้ได้” นายฐากรระบุ
สำหรับคลื่น 1800 MHz ที่ไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลนั้น สำนักงาน กสทช. จะนำคลื่นไปประเมินราคาใหม่ ก่อนจะนำไปเปิดประมูลพร้อมกับคลื่น 3500 MHz ที่จะมีการเปิดประมูลในอนาคต
นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนการประมูลคลื่น 26 GHz ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล 4 รายนั้น มองว่าเป็นเพราะ 1.ราคาใบอนุญาตไม่แพง 2.ค่ายใหญ่ที่เข้าประมูล คือ AIS และ TRUE นั้น เขาน่าจะต้องการคลื่น 26 GHz ไปตัวเสริม หากคลื่น 2600 MHz ที่ประมูลได้ไปนั้น มีการใช้งานเต็มความจุแล้ว 3.การที่ DTAC ที่เข้าประมูลคลื่นนี้ เพราะไม่ต้องการให้ตกขบวน 5G มากกว่า ส่วน TOT ก็เชื่อว่าเขาไม่ต้องการตกขบวน 5G เช่นกัน
และ4.กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้คลื่น 26 GHz ใช้เสาสัญญาณร่วมกันได้ เช่น ในพื้นที่ EEC หากมีผู้ชนะประมูลใบอนุญาต 2 ราย กสทช.จะเชิญเข้าผู้ประกอบการเข้ามาหารือ อาทิ หากเสาสัญญามี 10,000 ต้น ก็ให้แบ่งกันกันลงทุนรายละ 5,000 ต้น เมื่อลงทุนแล้ว ก็ให้ใช้เสาร่วมกันเลย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะใช้กับทั้งคลื่น 26 GHz และคลื่น 2600 MHZ ซึ่งทำให้ต้นทุนการลงทุนของผู้ประกอบการถูกลง และไม่มีการตั้งเสาฯซ้ำซ้อนกันด้วย
นายฐากร ยังกล่าวว่า ที่ประชุมกสทช.เห็นชอบแนวทางการประเมินมูลค่าคลื่น 2600 MHz ที่เรียกคืนจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมทั้งค่าเสียโอกาศต่างๆ โดยกสทช.มีมติให้เยียวยาตามผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้สถานการณ์ที่ดีที่สุด คือ อสมท และผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด จะได้รับเงินเยียวยาสูงสุดที่ 6,685.1 ล้านบาท ตามอายุใบอนุญาตมีที่อยู่ 15 ปี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรรมการ กสทช.เห็นไม่ตรงกันว่า ระยะเวลาตามใบอนุญาตควรจะเป็น 15 ปีตามผลการศึกษาของจุฬาฯ หรือ 10 ปีตามแผนแม่บทโทรคมนาคม จึงมอบหมายให้อนุกรรมการฯกฎหมายไปพิจารณาให้ชัดเจนว่าระยะเวลาควรเป็นกี่ปีกันแน่ เช่น หากระยะเวลาลดลงมาเหลือ 10 ปี เงินที่อสมท.จะได้รับจะลดลงจากกรอบวงเงิน 6,685.1 ล้านบาท เหลือ 4,456.6 ล้านบาท แต่หากเหลือ 13.5 ปีตามอนุกรรมการฯเสนอ ก็จะได้เงินกว่า 6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ อนุกรรมการฯกฎหมายจะพิจารณาแนวทางการจ่ายเงินเยียวยาด้วยว่าจะใช้วิธีใด เพราะเดิมอนุกรรมการฯเยียวยาเสนอให้แบ่งเงินเยียวยาระหว่าง อสมท และ เพลย์เวิร์ค เป็น 50 : 50 ไปเลย แต่มีกรรมการบางส่วนไม่เห็นด้วย ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ไปพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การจ่ายเงินเยียวยาให้ อสมท และให้อสมท นำไปจ่ายให้กับทางเพลย์เวิร์คตามสัญญาที่ทำกันไว้ หรือจ่ายตามสัดส่วนที่ กสทช.กำหนด
“มูลค่าคลื่น 2600 MHz จำนวน 190 MHz มีมูลค่าอยู่ที่ 35,378 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นคลื่นที่ อสมท ถืออยู่ 146 MHz คิดเป็นจำนวนเงิน 27,185.2 ล้านบาท เมื่อจุฬาฯประเมินให้ 6,685.1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 24.59% สูงกว่าที่อสมท.เคยคิดว่าจะได้แค่ 10% ของมูลค่าคลื่น โดยเรื่องนี้ถ้าจบได้ก็ถือว่าดี อสมท น่าจะพอใจ โดยเราจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว และหากเป็นไปได้จะเร่งให้เสร็จภายใน 16 ก.พ.นี้” นายฐากรกล่าว
อ่านประกอบ :
มาครบ! 5 ราย ตบเท้ายื่นประมูล 5G ‘ฐากร’ คาดโกยเงินเข้ารัฐ 7 หมื่นล.
'ฐากร' วิเคราะห์ประมูล 5G มั่นใจ 'AIS-TRUE-DTAC' มาครบ 'หากไม่มา...ลูกค้าย้ายค่าย'
สุพจน์ เธียรวุฒิ : ‘5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง’
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/