เอกชน 5 ราย ‘AIS-TRUE-DTAC-TOT-CAT’ ยื่นประมูลคลื่น 5G พร้อมหน้า ‘ฐากร’ คาดประมูลรอบนี้ได้เงินเข้ารัฐ 7 หมื่นล้านบาท มั่นใจเอกชนเปิดบริการ 5G ก่อน ก.ค.นี้แน่นอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้เอกชนยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้บริการ 5G
โดยเมื่อเวลา 11.00 น. บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE นำโดยน.ส.ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ พร้อมหลักประกัน เป็นรายแรก
ผู้แทนบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ กับสำนักงาน กสทช. 4 ก.พ.2563
ฝ่ายสื่อสารองค์กร ทรูมูฟ เอช เผยแพร่เอกสารข่าวอ้างคำพูด นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) มีมติอนุมัติให้ TUC เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามประกาศ กสทช ขณะที่บริษัทได้วิเคราะห์และประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่า การเข้าประมูลครั้งนี้จะสร้างมูลค่าแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ครั้งนี้กำหนดเงื่อนไขการประมูลแบบมัลติแบนด์ และมีปริมาณแบนด์วิธมากพอให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายจะเลือกพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ขณะที่การมีปริมาณแบนด์วิธที่มากขึ้น จะเสริมความแข็งแกร่งและรักษาความเป็นผู้นำตลาดด้านเน็ตเวิร์คของทรูมูฟ เอช ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น และรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งตอกย้ำความเป็นผู้นำ True5G ที่จะร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ” นายสฤษดิ์ระบุ
จากนั้นในเวลา 11.09 น. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT นำโดยนายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการบริษัท ทีโอที ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการบริษัท ทีโอที เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ พร้อมหลักประกัน เป็นรายที่ 2
นายพิพัฒน์ ระบุว่า การเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่สนับสนุนให้บริษัท ทีโอที ในฐานะหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประมูล เพื่อร่วมผลักดันนโยบายของประเทศให้ทันกับการให้บริการและการผลิตสมัยใหม่ โดยเฉพาะการมุ่งให้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการให้บริการสาธารณประโยชน์ต่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล
“การประมูลคลื่นเพื่อให้บริการ 5G ตามแผนธุรกิจของทีโอที จะสนับสนุนภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนดิจิทัล รวมทั้งบริการ 5G ภาครัฐ เพื่อให้เกิดบริการ 5G ภาครัฐบนเครือข่าย 5G เป็นต้น” นายพิพัฒน์ระบุ
ผู้แทน บริษัท ทีโอที ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563
ต่อมาเวลา 12.59 น. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC นำโดยนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC เข้ามายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ พร้อมหลักประกันเป็นรายที่ 3
นายชารัด ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการบริษัท DTAC มีมติให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต เข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าประมูลคลื่นใดบ้าง ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า DTAC จะทำทุกอย่างที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับลูกค้า โดยเราจะไม่หยุดพัฒนาโครงข่ายและคุณภาพการให้บริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
ผู้แทน บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563
จากนั้นในเวลา 15.15 น. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นำโดยพ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ พร้อมหลักประกัน เป็นรายที่ 4
ผู้แทน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563
และในเวลาต่อมา คือ 15.35 น. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS นำโดยนายสุเทพ เตมานุวัตน์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นซองเป็นรายสุดท้าย เนื่องจากสำนักงานกสทช.ประสานไปยัง AIS ให้แยกเอกสารการประมูลเป็นรายคลื่น จากเดิมที่ AIS ทำเอกสารเป็นซองเดียวกัน จึงต้องทำมีการแยกซองเอกสารใหม่
ผู้แทน บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากพ้นเวลา 16.30 น. จะเข้าสู่ช่วง Silent period ไปจนกว่าการประมูลคลื่นจะแล้วเสร็จ และประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูล ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเย็นของวันที่ 16 ก.พ.นี้ และเมื่อสำนักงาน กสทช.รับเอกสารประมูลในวันนี้ (4 ก.พ) แล้ว จะยังไม่มีการประกาศว่าเอกชนแต่ละรายยื่นประมูลคลื่นใดบ้าง แต่จะประกาศในวันที่ 12 ก.พ. หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.รับรองคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลแล้ว
“ในวันที่ 12 ก.พ. จะมีการประกาศพร้อมกันทีเดียวว่า เอกชนแต่ละรายจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ใดบ้าง และวันที่ 16 ก.พ. จะเป็นวันเคาะราคา โดยจะเคาะไล่เรียงไปเริ่มจากคลื่น 700 MHz คลื่น 1800 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz “นายฐากรกล่าว
นายฐากร ประเมินว่า การประมูลคลื่น 700 MHz คาดว่าผู้ประกอบการฯน่าจะประมูลคลื่นไปทั้งหมด ส่วนคลื่น 1800 MHz ยังไม่แน่ใจว่าจะหมดหรือไม่ ส่วนคลื่น 2600 MHz น่าจะประมูลหมด ส่วนคลื่น 26 GHz เดิมประเมินว่าผู้ประกอบการฯจะประมูลไป 4-5 ใบ แต่ตอนนี้อาจจะมากกว่านั้น และจะทำให้รัฐได้เงินค่าประมูลรอบนี้อย่างน้อย 7 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะได้เงินค่าประมูล 5 หมื่นล้านบาท
“เดิมเราประเมินว่าการประมูลรอบนี้จะได้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท เพราะขายได้มากกว่าที่คาดไว้ เช่น คลื่น 700 MHz เดิมคาดว่าจะขายได้ 10 MHz แต่ตอนนี้คาดว่าจะขายได้ทั้งหมด 15 MHz คลื่น 2600 MHz 19 ใบ ก็คาดว่าจะขายได้หมด ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าเงินค่าประมูลคงจะถึง 7 หมื่นล้านบาท แต่อย่าให้มากกว่านั้นเลย เพราะไม่เช่นนั้นเอกชนจะไม่มีเงินลงทุน 5G” นายฐากรกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.คาดว่าในปี 2563 เอกชนจะมีการลงทุนโครงข่าย 5G เป็นเงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท และปี 2564 จะมีการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท
นายฐากร กล่าวว่า คลื่น 2600 MHz จะเป็นคลื่นที่ใช้เวลาเคาะราคานานที่สุด เพราะปริมาณคลื่นที่จะทำ 5G ได้ต้องมีอย่างน้อย 60 MHz แต่คลื่นที่นำมาประมูลมีทั้งหมด 190 MHz ดังนั้น หากมีผู้เข้าประมูล 4 ราย ก็ต้องเคาะราคาเพื่อให้รายหนึ่งออกจากการประมูลไป เพื่อให้ที่เหลือ 2 ราย ได้คลื่นรายละ 60 MHz และอีก 1 รายได้คลื่นไป 70 MHz หรือหากแข่งขันรุนแรงกว่านั้น ก็จะเหลือผู้ชนะประมูล 2 ราย คือ รายหนึ่งได้คลื่น 90 MHz และอีกรายได้ไป 100 MHz
“ผมคิดว่าคลื่น 2600 MHz จะใช้เวลาเคาะราคานานที่สุด เพื่อให้บางรายยอมแพ้ไปก่อน แต่ถ้าเข้า 4 ราย แล้วแบ่งไปรายละ 30 MHz ก็จะทำได้แค่ 4G เท่านั้น และถ้าจะทำ 5G ให้เต็มประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการฯจะต้องได้คลื่นไปอย่างน้อย 90 MHz” นายฐากรกล่าว
ส่วนในกรณีที่ไม่มีผู้ประกอบการฯ ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz นั้น นายฐากร กล่าวว่า การประมูลจะเป็นไปตามกระบวนการเดิม และเมื่อไม่มีผู้เข้าประมูลคลื่นนี้ สำนักงาน กสทช.จะนำคลื่นไปประเมินราคาใหม่ จากนั้นจะกำหนดราคาเริ่มต้นเพื่อเปิดประมูลใหม่ในครั้งต่อไป โดยจะเปิดประมูลพร้อมกับใบอนุญาตคลื่น 26 GHz ที่เหลืออยู่ รวมถึงคลื่น 3400-3700 MHz ที่จะนำเปิดประมูลในอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังไม่กำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะเปิดประมูลเมื่อใด
ผู้แทนเอกชน 5 ราย ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563
นายฐากร ยังระบุว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ขอให้ผู้ประกอบการฯเริ่มลงทุน 5G ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป ทำให้ผู้ประกอบการฯประสานเข้ามาว่า หลังจากชนะประมูลแล้วจะขอรับใบอนุญาตโดยเร็วที่สุด จากเดิมที่กำหนดเงื่อนไขให้รับใบอนุญาตภายใน 90 วัน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ในวันที่ 19 ก.พ. สำนักงาน กสทช.จะเสนอที่ประชุมว่า หลังจากรับรองผลประมูลและผู้ประกอบการฯนำเงินมาจ่ายค่าประมูลแล้ว ก็จะออกใบอนุญาตให้ได้ไม่เกิน 3-4 วัน
“เราจะดำเนินการให้ใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนก.พ.ทั้งหมด เพื่อให้เขานำเข้าอุปกรณ์และติดตั้งอุปกรณ์ที่สถานีฐาน หรือเซลไซด์ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. โดยปัจจุบันมีเซลไซด์ของ 5 ค่ายประมาณ 1.3 แสนเซลไซด์ ซึ่งให้บริการ 3G และ 4G อยู่แล้ว ดังนั้น หากผู้ประกอบการฯจะติดตั้งอุปกรณ์ 5G บนเสาเดิม ก็ไม่ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่ถ้าเป็นเสาใหม่และในพื้นที่ใหม่ ยังต้องรับฟังความเห็นเหมือนเดิม เพื่อให้ 5G เกิดเร็วที่สุด” นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยืนยันว่า หากทุกอย่างเดินตามแผนคาดว่าประเทศไทยจะเปิดให้บริการ 5G ได้ก่อนเดือนก.ค.2563 แน่นอน หรือก่อนมหกรรมโอลิมปิก และสำนักงานกสทช.ต้องการเห็นผู้ประกอบการฯเปิดให้บริการ 5G ในบางพื้นที่ตามแนวเขตเศรษฐกิจก่อน
สำหรับคลื่นความถี่ 4 ย่านที่นำมาประมูล ได้แก่
1.คลื่นย่านความถี่ 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MH2 ราคาเริ่มตัน 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 บาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
2.คลื่นย่านความถี่ 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มตัน 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากร ภายใน 8 ปี
3.คลื่นย่านความถี่ 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มตัน 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 20 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี
4.คลื่นย่านความถี่ 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มตัน 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
อ่านประกอบ :
'ฐากร' วิเคราะห์ประมูล 5G มั่นใจ 'AIS-TRUE-DTAC' มาครบ 'หากไม่มา...ลูกค้าย้ายค่าย'
สุพจน์ เธียรวุฒิ : ‘5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/