‘ฐากร’ เผย 'กสทช.' เตรียมเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอประมูลใบอนุญาตดาวเทียมใบแรก ‘ล่วงหน้า’ ก่อนสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุในปี 64 แจงต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าสัมปทานไทยคมเดิม ‘มิว สเปซ’ บริษัทของลูกชาย 'อดีตหน.สำนักงานผบ.ทบ.' ยื่นความประสงค์เข้าประมูลรายแรก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า หลังจากมีร่างประกาศเกี่ยวกับการเปิดเสรีกิจการดาวเทียม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ก.พ.นี้ ผู้ประกอบการฯที่ต้องการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม สามารถเข้ามายื่นขอใบอนุญาตกับกสทช. ไม่ใช่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) อีกต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น กสทช.จะเปิดให้ผู้ประกอบการฯยื่นข้อเสนอขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมล่วงหน้า 3 วงโคจร ได้แก่ วงโคจรดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) หรือ วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานเดือน ก.ย.2564 วงโคจรดาวเทียมไทยคม 5 หรือ วงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2564 และวงโคจรดาวเทียมไทยคม 6 หรือ วงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2564 เช่นกัน
ขณะที่การจัดสรรใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะใช้วิธีการเปิดประมูลแบบเดียวกับการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เช่น ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเสนอว่าจะใช้วงโคจรที่เท่าไหร่ และจ่ายผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐเท่าใด หากผู้ประกอบการรายใดเสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุดก็จะได้ใบอนุญาตไป อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการายใหม่เสนอ จะต้องไม่น้อยกว่าที่บริษัท ไทยคม เคยจ่ายให้กับรัฐ คือ จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ 25-30% เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการฯใช้ดาวเทียมของต่างชาติ เพื่อให้บริการในธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทย ก็ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 25-30%เหมือนกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะไม่กระทบต่อบริษัท ไทยคมฯ ซึ่งได้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคม 7 ไทยคม 8 และไทยคม 9 อยู่ในขณะนี้ และยังทำให้รัฐยังมีรายได้เหมือนเดิม
“ผู้ประกอบการฯจะต้องจองสิทธิวงโคจรก่อน พอจองเสร็จเรียบแล้ว จึงจะได้สิทธิในการยื่นขอใบอนุญาตกับ กสทช. จากนั้นกสทช.จะจัดให้มีการประมูลคล้ายๆกับการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ เอกชนจะทำอะไรและอย่างไรบ้าง จากนั้นจะพิจารณาว่าใครที่เสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐมากที่สุด ก็จะได้ใบอนุญาตไป แต่ทั้งนี้ การข้อเสนอการจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ จะต้องไม่น้อยกว่าที่ไทยคมฯ คือ 25-30% ของรายได้” นายฐากรกล่าว
นายฐากร ยังกล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนไทย 1 ราย ได้ยื่นขอจองสิทธิในวงโคจรแล้ว คือ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (MU SPACE AND ADVANCED TECHNOLOGY COMPANY LIMITED) และแสดงความจำนงที่จะยื่นขอรับใบอนุญาตแล้ว ขณะเดียวกัน กสทช.ได้เชิญชวนเอกชนรายอื่นๆให้เข้ามาประมูลด้วย เช่น บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) ส่วนบริษัทต่างชาติที่สนใจก็สามารถเข้าประมูลได้ แต่ต้องถือหุ้นในสัดส่วน 49% ต่อ 51%
“ตอนนี้บริษัท มิว สเปซ เข้ามาแล้ว และน่าจะมีรายอื่นด้วย เช่น บริษัท ซิมโฟนี่ฯ ซึ่งผมเชิญชวนให้เขาเข้ามาทำ และร่วมการแข่งขัน ส่วนต่างชาติก็เข้ามาได้ แต่ต้องถือหุ้น 49 ต่อ 51” นายฐากรกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดกสทช. มีมติเห็นชอบร่างประกาศเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 2.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และ3.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2560 มีนายวรายุทธ เย็นบำรุง เป็นผู้ก่อตั้ง และดำรงตำแหน่งกรรมการ ควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยข้อมูล ณ วันที่ 28 ต.ค.2562 บริษัท มิว สเปซฯ มีทุนจดทะเบียน 109,050,000 บาท หรือคิดเป็นจำนวนหุ้น 10,905,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ได้แก่
1.นายวรายุทธ เย็นบำรุง (ไทย) ถือหุ้น 57.7717% หรือ 6,300,000 หุ้น มูลค่า 63,000,000 บาท
2.นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ (ไทย) ถือหุ้น 38.5144% หรือ 4,200,000 หุ้น มูลค่า 42,000,000 บาท
3.นางนฤมล ปุณณกิติเกษม (ไทย) ถือหุ้น 0.8253% หรือ 90,000 หุ้น มูลค่า 900,000 บาท
4.บีเจเค แอดโซซิเอทส์ พีทีวาย แอลทีดี (ออสเตรเลียน) ถือหุ้น 0.8253% หรือ 90,000 หุ้น มูลค่า 900,000 บาท
5.มาจูเว่น ฟันด์ 2 แอล.พี. (หมู่เกาะเคย์แมน) ถือหุ้น 0.8253% หรือ 90,000 หุ้น มูลค่า 900,000 บาท
6.นายจักรพันธ์ ชรินรัตนา (ไทย) ถือหุ้น 0.4127% หรือ 45,000 หุ้น มูลค่า 450,000 บาท
7.นายซามูเอล เตวิค เคลย์เคน เบตต์ (ออสเตรเลียน) ถือหุ้น 0.4127% หรือ 45,000 หุ้น มูลค่า 450,000 บาท
8.นางซาร่า เจน ไวท์ฟอร์ด (ออสเตรเลียน) ถือหุ้น 0.4127% หรือ 45,000 หุ้น มูลค่า 450,000 บาท
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทฯพบว่า ในปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้ 19,767 บาท ขาดทุน 4,574,562 บาท และปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้ 348,083 บาท ขาดทุน 46,366,672 บาท
วรายุทธ เย็นบำรุง 20 ก.พ.2560
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นายวรายุทธ หรือ เจมส์ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เมื่อเดือนก.พ.2561 ว่า “เปิดบริษัท mu Space ในเดือน ก.ย.60 ด้วยทุนของตนเองและครอบครัว โดยคุณพ่อ คือ พล.อ.วิลาศ เย็นบำรุง ซึ่งท่านเป็นอดีตหัวหน้าสำนักงาน ผบ.ทบ. ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็น ผบ.ทบ.ร่วมสนับสนุนด้วย”
อ่านประกอบ : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1204465
ก่อนหน้านี้ นายวรายุทธ เคยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด ซึ่งได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สาม เลขที่ 3ก/60/001 เพื่อดำเนินการประกอบธุรกิจและให้บริการดาวเทียมสื่อสาร จากสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2560
ต่อมาบริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยแซท โกลบอล ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2560 และมีนายชาติชาย เย็นบำรุง อดีตผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ปัจจุบัน คือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์) เป็นกรรมการ
ส่วน พล.อ.วิลาศ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ เช่น รองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ,ผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 1 ,รองแม่ทัพภาค 1 ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก (อัตราพลโท) และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก (อัตราพลเอก)
นอกจากนี้ ข้อมูลการประกาศสถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ 3/2561 เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรม หลักสูตร “นักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน” (วธอ.) รุ่นที่ 5 ประจำปี 2561 พล.อ.วิลาศ แจ้งว่า ดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด อีกทั้ง พล.อ.วิลาศ ยังเคยเป็นที่ปรึกษาบริษัท นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ปิโตรเลียม (สาขาประเทศไทย)
ขอบคุณภาพ https://www.muspacecorp.com/
อ่านประกอบ : บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
เปิด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มอบอำนาจ กสทช. บริหารวงโคจรดาวเทียม
'ฐากร' วิเคราะห์ประมูล 5G มั่นใจ 'AIS-TRUE-DTAC' มาครบ 'หากไม่มา...ลูกค้าย้ายค่าย'
สุพจน์ เธียรวุฒิ : ‘5G ที่จะได้ใช้ในปีนี้ แม้จะเร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ 5G ที่แท้จริง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/