ศาล รธน.มีคำสั่งให้ ปธ.สภาฯ ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ปมร้อง พ.ร.ก.ชะลอ พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯขัด รธน. ม.172 วรรคหนึ่ง ด้าน ‘วิษณุ’ ยัน รบ.ออก พ.ร.ก.นี้ได้ เหตุจำเป็นเร่งด่วน-เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของฝ่ายค้านว่า การออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง เมื่อตรวจสอบจากคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องนี้แล้ว มีเพียงสำเนา พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 และสำเนา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏหนังสือจากนายกรัฐมนตรี ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้นำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา หนังสือเชิญประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับนี้ และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่การพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องจัดส่งเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสองหรือไม่
@‘วิษณุ’ยัน รบ.ออก พ.ร.ก.นี้ได้ เหตุจำเป็นเร่งด่วน-เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ
วันเดียวกัน คมชัดลึกออนไลน์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ถึงการออก พ.ร.ก. ชะลอ พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ ว่า รัฐบาลเชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ โดยรัฐบาลทราบดีว่าการออก พ.ร.ก.นั้นมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง และกรณีนี้ก็เข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนที่ฝ่ายค้านท้วงติงว่าไม่สามารถทำได้นั้น อาจเพราะไม่เข้าใจว่าหลักเกณฑ์ของรัฐบาลมีอย่างไรบ้าง
นายวิษณุ กล่าวว่า จะขออธิบายเบื้องต้น แม้จะอธิบายยากก็ตาม ว่าเริ่มจากรัฐบาลได้ออกกฏหมายใหม่ปี 2562 เพื่อทดแทนฉบับเดิมของปี 2550 โดยกฎหมายใหม่นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 สิงหาคม 2562 แต่เมื่อถึงวันใกล้บังคับใช้ กลับพบว่า เกิดความไม่เข้าใจกัน รวมถึงคัดค้านกฎหมายฉบับใหม่นี้ ทั้งยังมีเรื่องของความไม่พร้อมในการปฏิบัติ เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายเดิมให้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่กฎหมายใหม่ จะเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ยังมีกรณี เช่น การมีเรื่อง ในกฎหมายเดิมตำรวจจะส่งอัยการฟ้องศาลเยาวชน แต่กฎหมายใหม่อัยการจะไม่ฟ้อง แต่ส่งให้กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากต้องการลดภาระของอัยการ อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายใหม่ระบุให้ความรุนแรงในครอบครัวนั้น ไม่สามารถยอมความกันได้ จึงจะทำให้มีคดีความเกิดขึ้นจำนวนมาก และปรากฏว่ากรมครอบครัวฯ ซึ่งมีบุคลากรอยู่จำนวนน้อยมาก ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานนี้ได้รับการฝึกมาให้รับผิดชอบในด้านการไกล่เกลี่ยโดยตรง โดยใน 76 จังหวัดนั้น มีเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าว อยู่เพียงจังหวัดละ 1 คนเท่านั้น
“เชิญมาถามได้รับข้อมูลว่ากรมนี้ ต้องการบุคลากรมาดำเนินการเรื่องดังกล่าวจังหวัดละอย่างน้อย 4 คน นอกจากนี้ยังต้องมีบุคลากรลงไปในระดับอำเภออีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่พร้อม ก็ต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป เพราะกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว จึงไม่สามารถออกพระราชบัญญัติได้ทัน และเมื่อดูจากสถิติการทำร้ายกันในครอบครัวจากปี 2550-2562 ซึ่งมีอยู่ 10,000 กว่าเรื่อง เราก็คิดว่าบางทีอาจแยกมาตั้งเป็นกรมใหม่ในการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล แทนกรมครอบครัวฯ โดยได้ให้ ก.พร. ไปคิดหาวิธีตั้งกรมแล้ว โดยเบื้องต้นเราคิดว่าจะยืดเวลาการบังคับใช้ไปเป็นหนึ่งปี แต่คิดไปคิดมาก็เปลี่ยนใหม่เผื่อว่ายังทำไม่เสร็จหรือเสร็จเร็ว ให้เป็นจนกว่าจะออกพระราชกำหนดมาบังคับใช้ได้” นายวิษณุ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
รมว.พม.เผย 3 เหตุต้องออก พ.ร.ก.ชะลอ กม.สถาบันครอบครัวฯ-‘ชวน’ส่งศาล รธน. แล้ว
ฝ่ายค้านชง ปธ.สภาส่งศาล รธน.ตีความ พ.ร.ก.ชะลอ พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ-รบ.แจงต้องรีบใช้
สภาคว่ำพร้อมรับผิดชอบ!'จุติ'แจง พ.ร.ก.เบรก กม.สถาบันครอบครัวฯ ดันทุรังใช้ จนท.เสี่ยงผิด
'ปิยบุตร'ลุยอภิปราย พ.ร.ก.ชะลอ กม. สถาบันครอบครัวฯขัด รธน.-ถ้าสภาตีตก รบ.รับผิดชอบยังไง
ฝ่ายค้านจ้องขย่มในสภา!แพร่ พ.ร.ก.ชะลอ กม. ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ พม.อ้างคนไม่พร้อม