ราชกิจจานุเบกษาแพร่ พ.ร.ก.ชะลอบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัวปี’62 หลังมีผลเมื่อ 20 ส.ค. 62 โดยจะบังคับใช้ได้ต้องตราเป็น พ.ร.ฎ. อ้างเหตุผล ยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร อาจก่อให้เกิดผลร้ายแก่สังคม เลขาฯรมว.พม.แจงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน รบ. ขอเบรกไว้ก่อน 1 ปีเพื่อปรับปรุงแก้ปัญหา วิจารณ์แซ่ด! ทำไม่ได้ เหตุไม่ใช่กรณีฉุกเฉินตาม รธน. ม.172 ฝ่ายค้านเตรียมขย่มในสภา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองและสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 โดยมีสาระสำคัญคือให้ชะลอการใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2562 เป็นจะบังคับใช้เมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 3)
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯให้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 (ที่ถูกยกเลิกไปโดยพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ )ยังคงมีผลใช้บังคับ (มาตรา 4)
นอกจากนั้นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งเตรียมการรองรับและดำเนินการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการ และกลไกที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว (มาตรา 6)
(อ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองและสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/092/T_0001.PDF)
ขณะที่หมายเหตุในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้คือ โดยปัจจุบันได้มีการตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวฯ มีการกำหนดมาตรการในการลดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งปรับปรุงกลไก บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระดับหน่วยปฏิบัติ และปรับปรุงการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนไปจนถึงกระบวนการในชั้นศาล การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นอย่ายิ่งที่ต้องอาศัยความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความพร้อมในด้านบุคลากร
แต่โดยที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวฯ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา และปรากฎข้อเท็จจริงว่าหน่วยงานที่จะเป็นผู้ปฏิบัติการหรือบังคับการตามกฎหมายยังมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับความพร้อมด้านบุคลากรและขั้นตอนการปฏิบัติ จึงมีความจำเป็นที่ต้องขยายกำหนดระยะเวลาในการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.นี้ออกไปก่อน เนื่องจากหากมีการใช้บังคับตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง และสมควรให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพในครอบครัวฉบับเดิมมาใช้บังคับต่อไปก่อนเป็นการชั่วคราว กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางสังคม อันจะส่งผลถึงความปลอดภัยสาธารณะและความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
วันเดียวกัน น.ต.สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงเหตุผลในการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ไปนั้น ปรากฏว่ามีประเด็นในเรื่องของความไม่พร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับช่วงนี้ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้การดำเนินการตามกฎหมายต่าง ๆ ที่มีความใหม่ของหน่วยงานต่าง ๆ นั้นอาจจะมีความไม่พร้อมตามมาด้วย จึงเป็นสาเหตุทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงต้องออก พ.ร.ก.ดังกล่าวออกมา โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่อต้องการที่จะมีการชะลอ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวฯออกไปก่อนเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยช่วง 1 ปีหลังจากนี้ ทางกระทรวงก็จะมีการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีความพร้อมกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวฯฉบับใหม่ให้มากกว่านี้
น.ต.สุธรรม กล่าวอีกว่า นายจุติเข้าใจในประเด็นเรื่องปัญหาเหล่านี้ว่าจะถูกทางด้านของฝ่ายค้านนำมาเป็นประเด็นซักถามในรัฐสภา ขณะนี้จึงเตรียมข้อชี้แจงต่าง ๆ โดยละเอียดเกี่ยวกับการออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวฯแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีกรณีนี้ถูกนักกฎหมายที่ศึกษา พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวฯ วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า การออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฯ ครั้งนี้ อาจไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ไว้ว่า ต้องเป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่กรณีนี้ไม่ได้มีความเร่งด่วนแต่อย่างใด เป็นการบริหารงานผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาลเอง ขณะเดียวกันได้รับการติดต่อขอข้อมูลจากฝ่ายค้านเพื่อเตรียมนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภาแล้ว
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 บัญญัติว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะพระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่งให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกําหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา โดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรี ต้องดําเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกําหนดโดยเร็ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติหรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกําหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกําหนดนั้น
หากพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดและพระราชกําหนดนั้นต้องตกไปตามวรรคสาม ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกําหนดนั้นมีผล
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกําหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกําหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกําหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การพิจารณาพระราชกําหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา และการยืนยันการอนุมัติพระราชกําหนด จะต้องกระทําในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/